การอวยพรในวันปีใหม่อิสลามและปีใหม่สากล
แปลเรียบเรียง อ.ยะห์ยา หัสการบัญชา
ฟัตวาการตอบปัญหาเรื่องการอวยพรในวันปีใหม่อิสลามและปีใหม่สากล โดยชัยคฺอุษัยมีน(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านด้วยเถิด)
คำถาม
ข้อตัดสิน(หุก่ม)ของการอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ อย่างที่ผู้คนได้ทำกัน เช่นการอวยพรว่า ขอให้ท่านได้รับความดีงามในทุกๆปี (กุลลุอาม วะอันตุม บิค็อยรฺ) คืออะไร?
คำตอบ
การอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่นั้น ไม่มีแบบอย่างและแนวทางมาจากชาวสลัฟผู้ทรงธรรม ดังนั้นการละทิ้งการอวยพรในวันขึ้นปีใหม่นั้นดีกว่า แต่หากว่าคนๆหนึ่งต้องการอวยพร(มุสลิม)สักคนที่เขาใช้ชีวิตในปีที่ผ่านมาหมดไปกับการเคารพเชื่อฟังอัลลอฮฺ เขาจึงอวยพรให้คนๆนี้ได้มีอายุที่ยืนยาวเพื่อทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺในปีใหม่ที่มาถึงนี้ ก็ถือว่าการอวยพรในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นไร เพราะคนที่ดีที่สุดคือคนที่มีอายุยืนยาวโดยใช้ชีวิตที่ยืนยาวหมดไปกับการทำความดี แต่ต้องเน้นย้ำให้เข้าใจชัดเจนว่า "นี่คือการอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของฮิจเราะฮฺศักราช(ศักราชอิสลาม)เท่านั้น"
ส่วนการอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของคริสต์ศักราช ไม่ถือว่าเป็นที่อนุญาต เนื่องจากมันมิใช่วันปีใหม่ตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม แต่มันเป็นวันที่ต่างศาสนิกอวยพรกันและกันในวันนั้น ดังนั้น(มุสลิม)ผู้ที่อวยพรกันในวันปีใหม่ที่ไม่ใช่ของอิสลาม จึงตกอยู่ในมหันตภัยที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะพวกเขากำลังอวยพรกันในวันเฉลิมฉลองที่มิใช่ของอิสลาม และเพราะว่าการอวยพรกันในวันขึ้นปีใหม่ที่ไม่ใช่ของอิสลามจะยิ่งเพิ่มความพอใจ ภูมิใจในวันรื่นเริงเฉลิมฉลองของต่างศาสนิก และความรักและพอใจกับวันเฉลิมฉลองของต่างศาสนิกอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มุสลิมคนนั้นหลุดออกนอกกรอบของศาสนาอิสลามด้วย ดังที่ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้เขียนไว้ในตำราของท่านที่ชื่อว่า"อะหฺกาม อะฮฺลิซซิมมะฮฺ"
"โดยสรุปคือ การอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของอิสลามนั้น การละทิ้งมันถือว่าเป็นทางที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องสงสัย เพราะมันไม่มีแบบอย่างและแนวทางมาจากยุคสลัฟ แต่หากว่ามุสลิมคนใดอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ของอิสลาม ก็ถือว่าเขาไม่มีความผิดบาป ส่วนการอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่สากล(คริสต์ศักราช)นั้น ไม่อนุญาตให้กระทำ"
หมายเหตุ ปีใหม่อิสลามคือ วันที่ 1 เดือนมุหัรร็อม ในทุกๆปี
ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=y6S1ZEx0Dto