ญามาอะห์ 5 ทัศนะ
แปลโดย อิสมาอีล กอเซ็ม
ความหมายของคำว่า ญามาอะห์ มี 5 ทัศนะ
ทัศนะที่หนึ่ง : ญามาอะห์ คือ กลุ่มคนส่วนมากที่อยู่ในศาสนาอิสลามภายใต้การเชื่อฟังผู้นำมุสลิม
ผู้ที่ให้ทัศนะนี้คือ อาบู มัสอูด อัลอันซอรีย์ และท่านอิบนู ซีรีน ได้รายงานจาก อาบู มัสอูด แท้จริงเขา (อาบู มัสอูด) ได้สั่งเสียแก่ผู้ที่มาถามท่านถึงสาเหตุที่อุสมานได้ถูกสังหาร เขาได้กล่าวว่า
"จำเป็นแก่ท่านจะต้องยึดมั่นอยู่รวมกับญามาอะห์
เพราะว่าอัลลอฮ์ มิได้ให้ประชาชาติของ มุฮัมมัด ที่ยึดมั่นกับญามาอะห์นั้นอยู่บนความหลงผิด"
(ฟัตอุลบารีย์ 13 / 37)
อัชชาตีบีย์ได้กล่าวว่า
ในความเห็นของฉัน ญามาอะห์ คือบรรดาปวงปราชญ์และนักวิชาการที่มีความรู้ในระดับที่สามารถวินิจฉัยในเรื่องของศาสนาได้ และบรรดาปวงปราชญ์ ที่มีความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติและได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งอิสลาม และจำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของพวกเขาด้วย และผู้ใดได้ออกจากแนวทางนั้น เขาคือผู้ที่ผิดเพี้ยน จะตกเป็นเหยื่อของชัยฏอนมารร้าย และจะเป็นผู้ที่อุตริในเรื่องของศาสนา
ทัศนะที่สอง : ญามาอะห์ คือ บรรดานักปราชญ์ ที่ทุ่มเทความรู้ความพยายามในการรับใช้ศาสนา
ดังนั้นผู้ใดได้ออกจากแนวทางการปฏิบัติของพวกเขา เขาก็ตายไปในสภาพของผู้ที่งมงายอยู่กับความหลงผิด เนื่องจากอัลลอฮ์ ได้ให้บรรดาปวงปราชญ์เป็นดั่งแสงสว่าง เป็นหลักฐานที่มาชี้นำมนุษย์ และผู้คนทั้งหลาย ซึ่งพวกเขามีความต้องการในเรื่องศาสนา และบรรดาผู้รู้ได้มาสนับสนุนคำพูดของ เราะซูล ที่ว่า
( لم يكن الله ليجمع أمة محمد على ضلا لة )
"อัลลอฮ์ จะไม่ให้ความหลงผิดเกิดขึ้น กับการรวมตัว(มติของปวงปราชญ์)ของประชาชาติมุฮัมมัด"
ความหมายของหะดีษนี้ เป็นไปไม่ได้ที่บรรดาผู้รู้จะรวมตัวกันอยู่บนความหลงผิด นี่คือทัศนะของอับดุลลอฮ์ บินมูบารอก อิสหากอิบนู รอห่าวัย บรรดาปวงปราชญ์สลัฟ และนักวิชาการในวิชาอูซูล และท่านอิหม่ามบุคคอรีย์ เห็นด้วยกับทัศนะนี้ โดยที่ท่านได้นำดำรัสของอัลลอฮ์ มากล่าวนำหน้าหัวข้อเรื่องในหะดีษของท่าน
( وكذلك جعلنا كم أمة وسطا ) "และเราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง"
(อัลบากอเราะห์ อายะห์ที่ 143 )
ท่านนะบี สั่งให้ยึดมั่นใน(อยู่ร่วม) ญามาอะห์มุสลิม คือ บรรดากลุ่มของผู้ที่มีความรู้
(บุคคอรีย์ 13 / 316 )
นักวิชาได้อธิบายความหมายของญามาอะห์ คือ กลุ่มนักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องศาสนบัญญัติอิสลาม และนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องของหะดีษ
ท่านกัรมานีย์ได้กล่าวว่า คำสั่งที่ได้ใช้ให้ยึดมั่นกับญามาอะห์ คือการยึดมั่นในข้อปฏิบัติต่างๆ ของศาสนา และจะต้องยึดมั่นปฏิบัติตามสิ่งที่นักวิชาการ (ผู้ที่ค้นคว้า วินิจฉัย) ได้มีมติในเรื่องนั้นๆ ( คำพูดของอิบนู ฮาญัร ฟัตอุลบารีย์ 3 / 316 )
ทัศนะที่สาม : ญามาอะห์ คือ บรรดาซอฮาบะห์
ซอฮาบะห์ คือผู้ที่ทำให้รากฐานของศาสนามีความมั่นคง และเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่พวกเขาได้รวมตัวอยู่บนความหลงผิด
ทัศนะที่สี่ : ญามาฮะห์ คือ กลุ่มมุสลิมที่รวมตัวอยู่ภายใต้การเชื่อฟังผู้นำผู้ปกครองของพวกเขา
โดยที่ท่านนะบี ได้ใช้ให้ยึดมั่นกับญามาอะห์ และห้ามแยกตัวออกจากประชาชาติอิสลาม คือ ยอมรับและเชื่อฟังผู้นำ ดังนั้นผู้ใดได้ออกจากการเชื่อฟังผู้นำ ก็เท่ากับว่าเขาได้ออกจากกลุ่มมุสลิม ซึ่งเป็นทัศนะที่ ท่านอิหม่าม อัตตอบรีย์ได้เลือก
ทัศนะที่ห้า : ญามาอะห์ คือ การรวมตัวของมุสลิม เมื่อพวกเขาได้มีมติในเรื่องใดๆ จำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องปฏิบัติตามด้วย
ท่านชาตีบีย์ได้กล่าวว่า ทัศนะนี้มีความใกล้เคียงกับทัศนะที่สอง และเช่นกันจุดประสงค์ของทัศนะนี้ได้คล้ายคลึงกับทัศนะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นทัศนะที่ค่อนข้างมีความชัดเจน
นี่คือทัศนะต่างๆที่บรรดานักวิชาการได้ให้ความหมายเกี่ยวกับญามาอะห์ จากความหมายเหล่านั้นพอจะสรุปเกี่ยวกับญามาฮะห์ ได้สองด้านด้วยกัน
ด้านที่หนึ่ง คือ ญามาฮะห์ ใช้เรียก เกี่ยวกับองค์กร
แท้จริงเมื่อบรรดามุสลิมได้มีมติในการเชื่อฟังผู้นำที่ถูกต้องตามบัญญัติอิสลาม พวกเขา คือญามาอะห์จำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกัน จะปลีกตัวออกไปไม่ได้
ญามาฮะห์คือการที่มีมติให้สัตยาบันยอมรับใครคนหนึ่งเป็นผู้นำ ดังนั้นการออกจาการเชื่อฟังต่อผู้นำจึงเป็นผู้ที่ประพฤติชั่ว
ท่านเราะซูล ได้กล่าวแก่อุซัยฟะห์ บินยามาน ที่ว่า
تلزم جماعة المسلمين و إمامهم "ท่านจงอยู่รวมกับกลุ่มของบรรดามุสลิม และผู้นำของพวกเขา"
ท่านอิหม่าม อัตตอบรีย์ได้กล่าวว่า ที่ถูกต้อง แท้จริงจุดประสงค์ของการยึดมั่นในญามาฮะห์ คือการเชื่อฟังผู้ที่ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้นำ ดังนั้นผู้ใดได้ออกจากการเชื่อฟังเท่ากับว่าเขาได้ออกจากญามาฮะห์
มีหะดีษที่รายงานโดยอิบนู อับบาส แท้จริงท่านเราะซูล กล่าวว่า
من رأى من أميره شيئا يكرهه فليصبر فإنه من فارق الجماعة شبرا فمات ميتة جاهلية
"ผู้ใดที่ได้เห็นสิ่งที่เขาไม่ชอบที่ตัวผู้นำของเขา ดังนั้นเขาจงอดทน
เพราะว่าแท้จริงผู้ที่ออกจากกลุ่ม ( ญามาฮะห์ ) เพียงคืบเดียว ดังนั้นเขาได้เสียชีวิตในสภาพของผู้ที่งมงาย"
ญามาฮะห์จะหายไปยุคหนึ่ง ในยุคที่เกิดความวุ่นวาย ด้วยหลักฐานหะดีษ อุซัยฟะห์ที่ท่านได้ถามท่านนะบี ที่ว่า
فإن لم يكن لهم جماعة ولا إما "ถ้าหากไม่มีญามาอะห์ และผู้นำแก่พวกเขา"
ถ้าหากไม่มีญามาอะห์เป็นหน้าที่ของบรรดามุสลิมที่จะต้องพยายามที่จะให้มันมีขึ้นมา และเมื่อสามารถที่จะหาผู้นำได้เขาก็จะเป็นแกนนำในการปกครองและปฏิบัติหน้าที่ ด้วยเหตุดังกล่าวหลังจากที่ท่านนะบีได้เสียชีวิต บรรดาซอฮาบะฮ์ จึงใช้ความพยายาม ที่จะทำการให้สัตยาบันแก่ท่านอาบูบักร เป็นผู้นำมุสลิม ( คอลิฟะห์ )
ท่านวาอีด บินเซดรอฎิยัลลอฮุอันอู ได้ถูกถามว่า ท่านได้อยู่ร่วมหรือไม่ในขณะที่ท่านเราะซูลได้เสียชีวิต ?
ท่านสาอีด ได้กล่าวว่า ฉันร่วมอยู่ด้วย
แล้วมีคนกล่าวว่าแล้วท่านอาบูบักร ได้ถูกให้สัตยาบันเมื่อใด
ท่านสาอีดได้ตอบว่า วันที่ท่านเราะซูล ได้เสียชีวิต โดยที่พวกเขาไม่ต้องการที่จะให้วันหนึ่งผ่านไปโดยขาดผู้นำ
ด้านที่สอง คือ ญามาฮะห์ถูกเรียกเกี่ยวกับแนวทางที่ยึดมั่น
มีตัวบทมากมายได้มีคำสั่งให้ยึดมั่นกับญามาฮะห์ และมีตัวบทมากมายที่ได้กล่าวถึงกลุ่มที่จะได้รับความสำเร็จและความปลอดภัย และจากตัวบทเหล่านั้น เราจะพบความชัดเจนที่ใช้ให้เราต้องอยู่ร่วมกับญามาอะห์ ซึ่งมีหะดีษที่ได้กล่าวถึงกลุ่มที่จะได้รับความสำเร็จ
รายงานจากท่านอาบีฮุรอยเราะห์ ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
"พวกยะฮูดได้แตกออกเป็น เจ็ดสิบเอ็ด หรือเจ็ดสิบสองจำพวก
และพวกนาซอรอฮ์ได้แตกออกเป็นเจ็ดสิบเอ็ด หรือเจ็ดสิบสองจำพวก
แต่ประชาชาติของฉันจะแตกออกเป็น เจ็ดสิบสามจำพวก"
และบางรายงาน "เจ็ดสิบสองจำพวกอยู่ในนรก จำพวกเดียวที่จะได้เข้าสวรรค์"
ลักษณะของกลุ่มที่จะได้รับความสำเร็จมีสายรายงานดังต่อไปนี้
1. ( وواحد في الجنة هي الجماعة ) กลุ่มที่จะได้เข้าสวรรค์ คือ ญามาอะห์
2. ( كلها في النار إلا السواد الأعظم ) กลุ่มทั้งหมดนั้นจะอยู่ในนรก นอกจากกลุ่มมุสลิมที่อยู่ภายใต้การเชื่อฟังผู้นำ
3. ท่านนะบี ได้ถูกถามถึงกลุ่มที่จะได้รับความสำเร็จและความปลอดภัย ท่านกล่าวว่า ( ما أنا عليه وأصحابي ) "แนวทางที่ฉันและสาวกของฉันได้ยึดถือปฎิบัติ"
ท่านอายีรีย์ได้กล่าวว่า ความหมายของกลุ่มที่จะได้รับความสำเร็จมีหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยคำพูดของท่านนะบี ที่ว่า
( ما أنا عليه وأصحابي ) "แนวทางที่ฉันและสาวกของฉันได้ยึดปฏิบัติ"
จากตัวบทนี้ แท้จริงกลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือและได้รับความปลอดภัย คือกลุ่มที่มีคุณลักษณะการปฏิบัติเหมือนท่านเราะซูล และบรรดาสาวกของท่าน (จากคำพูดของ อัชชาตีบีย์ ในหนังสืออัลเอียะติซอม)
ตามหลักฐานหะดีษที่กล่าวถึงญามาฮะห์ จึงสรุปว่า กลุ่มที่ได้รับความสำเร็จก็คือญามาฮะห์
จากความเข้าใจของสลัฟซอและห์ ญามาฮะห์ คือกลุ่มที่มีคุณลักษณะที่ท่านนะบี ได้บอกไว้ ไม่ใช่เฉพาะการรวมกลุ่มเท่านั้น เพราะบางครั้งคนเรามีการรวมกลุ่ม แต่คุณลักษณะที่ท่านนะบี บอกไว้มีเพียงคุณลักษณะเดียวและยังขาดคุณลักษณะอื่นๆ ท่านอิบนู มัสอูดได้กล่าวว่า
( إنما الجماعة ما وافق طاعة الله وإن كنت وحدك )
"แท้จริงญามาฮะห์ คือสิ่งที่ตรงกับการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ ถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติจะเป็นท่านคนเดียว"
การยึดมั่นกับญามาฮะห์ คือการยึดมั่นอยู่กับความจริง และปฏิบัติตามสัจจะธรรม ถึงแม้ว่าผู้ที่ยึดมั่นต่อความจริงจะมีน้อยก็ตาม และผู้ที่อยู่ในความเท็จจะมีมากมาย เนื่องจากญามาฮะห์ในยุคของท่านนะบี ไม่ได้อยู่ด้วยกับความมากของบรรดาผู้ที่อยู่กับความเท็จ นี่คือความเข้าใจของสลัฟ
ท่านอิหม่าม อาญีรีย์ ได้นำเรื่องของการยึดมั่นกับญามาฮะห์ บรรดาโองการอัลกุรอาน และหะดีษ ต่างๆ ที่ใช้ให้ยึ่ดมั่นต่อแนวทางที่เที่ยงตรง โดยที่ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านในตอนท้ายของเรื่องนี้ว่า
"เครื่องหมายของผู้ที่อัลลอฮ์ ประสงค์ให้เขาได้รับความดี คือการปฏิบัติตานแนวทาง การยึดมั่นต่อกีตาบุลลอฮ์ และแนวทางของท่านเราะซูล และแนวทางของบรรดาซอฮาบะห์ และอยู่ในแนวทางของบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขาที่ได้ปฏิบัติตามในเรื่องของความดี ขอความเมตตาต่ออัลลอฮ์ จงประสบแด่พวกเขาทั้งหมด และแนวทางที่บรรดาผู้มีความรู้ในหัวเมืองต่างๆได้ยึดถือปฏิบัติ เช่น ท่านอัลเอาซาอีย์ ซุฟยาน อัซเซารีย์ อิหม่าม ชาฟีอีย์ ฮะหมัด บิน อัมบัล และอัลกอซิม บิน สลาม และผู้ที่อยู่ในแนวทางของพวกเขา"
จากคำพูดของท่านอายีรีย์ข้างต้นความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับญามาฮะห์ คือการที่ปฏิบัติตามแนวทางของท่านนะบี และแนวทางของบรรดาซอฮาบะห์ และแนวทางของบรรดาสะลัฟ ซอแหละห์ ที่พวกเขาได้ดำเนินตามแนวทางของท่านนะบี ทั้งหมดนั้นรวมอยู่คำว่าญามาฮะห์ และจะยังคงมีอยู่จนถึงวันกิยามะห์ ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
( لا تزال طائفة من أمتي قائمة بأمرالله وهم ظاهرون على الناس )
"มีคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉัน ที่ยังปฏิบัติและยืนหยัดต่อคำสั่งของอัลลอฮ์ และพวกเขาจะมีชัยชนะเหลือผู้คนทั้งหลาย"
หมายถึงพวกเขาสามารถที่จะยืนหยัดบนหลักการได้ ถึงแม้ผู้ที่ปฏิบัติมีจำนวนน้อย หรือมีผู้ที่คอยขัดขวางและจ้องทำลาย
จากหนัง อัลฆูลู ฟิดดีน