พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในมุมมองของการดะอฺวะฮฺอิสลาม
ดร. อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข เรียบเรียง
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักกรีนฤบดินทร์สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา สังคมมุสลิมต่างได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์อันมากมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและมุสลิมไทยในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น
♦- ด้านศาสนบัญญัติ ดังตัวอย่างของการทรงดำริให้มีการแปลความหมายคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นภาษาไทย โดยมอบหมายให้ท่านจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์เป็นผู้แปล และทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการตีพิมพ์ เพื่อแจกจ่ายแก่องค์กรมุสลิมในประเทศไทย จึงถือได้ว่างานแปลอัลกุรอ่านเป็นภาษาไทยชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ของมุสลิมไทยเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์
♦- ด้านศาสนบุคคล ดังตัวอย่างของการโปรดเกล้าแต่งตั้งท่านจุฬาราชมนตรี ผู้นำสูงสุดของมุสลิม โปรดเกล้าแต่งตั้งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และโปรดเกล้าแต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความของพี่น้องมุสลิมให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และในช่วงการครองราชย์ของพระองค์นั้น พระองค์ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีถึง 4 ท่านคือ ต่วน สุวรรณศาสน์, ประเสริฐ มะหะหมัด, สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และอาซีซ พิทักษ์คุมพล นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ทรงพระราชทานรางวัลประจำปีแก่ผู้นำศาสนาในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด ไปจนถึงกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
♦- ด้านศาสนสถาน ดังตัวอย่างของการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์เพื่อเยี่ยมเยือนมัสยิดหลายแห่ง เช่น มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์หลายครั้ง เพื่อสร้างและบูรณะมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนา
♦- ด้านศาสนสมบัติ ดังตัวอย่างของการที่พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินให้มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี และมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ยังความปลาบปลื้มยินดีมาสู่พสกนิกรมุสลิมในพื้นที่และพสกนิกรมุสลิมทั่วประเทศ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยศาสนาอิสลามและเข้าพระทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง ทรงรู้ถึงว่าสิ่งใดที่มุสลิมปฏิบัติได้และปฏิบัติไม่ได้ในราชพิธีต่าง ๆ
พระองค์เคยตรัสกับนายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ในขณะเข้าเฝ้าว่า “ให้ทำตัวตามสบายอย่างกังวล ศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ อะไรที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือถ้ามีพิธีการใดของทางราชการที่ขัดต่อหลักการอิสลามก็ละเว้นได้ โดยให้รองประธานไปปฏิบัติแทน” ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ตัวอย่างอันน้อยนิดของพระราชกรณียกิจที่พระองค์มีต่อพสกนิกรมุสลิม
หากจะมองพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในแง่ของการดะอ์วะฮ์อิสลามแล้วก็ต้องถือว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของอิสลามและมุสลิมในประเทศไทย ปัจจัยดังกล่าว เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “ซุลเฎาะฮ์” หมายถึงอำนาจและบารมี ซึ่งในสมัยของท่านนบีมูฮำหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็มีตัวอย่างให้ศึกษา ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างเพียงสองกรณีคือ
กรณีที่หนึ่ง เป็นกรณีของท่านอะบูฏอลิบ มีศักดิ์เป็นลุงของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แม้ว่าท่านจะไม่ได้รับอิสลาม แต่ก็ต้องถือว่าท่านเป็นบุคคลที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของอิสลามในยุคต้น ๆ ของมักกะฮ์ เนื่องจากท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีบารมีในนครมักกะฮ์ ชาวเมืองมักกะฮ์ทุกระดับต่างให้ความเกรงใจ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครกล้าคุกคามละทำร้ายท่านนบีในขณะที่ท่านอะบูฏอเล็บยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านเสียชีวิตชาวมักกะฮ์ที่ต่อต้านอิสลามจึงเริ่มคุกคามและทำร้ายท่านนบีอย่างหนัก ปีที่ท่านอะบูฏอลิบเสียชีวิต (ปีที่สิบจากการแต่งตั้งนบี) จึงเป็นปีแห่งความโทมนัสเรียกปีดังกล่าวว่า “อะมุลฮุซน์” ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเสียชีวิตของท่านผู้หญิงเคาะดีญะฮ์ บินติ คุวัยลิด ภรรยาคนแรกของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)
กรณีที่สอง กรณีของกษัตริย์แห่งอะบิสสิเนีย (ฮะบะซะฮ์) ซึ่งมีพระนามว่านัจญาซีย์หรือเนกุส เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญของสุลเฎาะฮ์ต่อการดะอ์วะฮ์อิสลาม กล่าวคือเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รู้ว่ากษัตริย์เนกุสแห่งอะบิสสิเนียซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ (นัศรอนีย์) เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ท่านจึงสั่งสาวก (เศาะฮาบะฮ์) ให้อพยพจากมักกะฮ์ไปยังอะบิสสิเนียถึง 2 ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงจากการคุกคามและการปทุษร้ายของชาวกุเรซ
การอพยพครั้งแรกมีผู้อพยพเป็นชายจำนวน 12 คน หญิงจำนวน 4 คน ส่วนการอพยพครั้งที่ 2 มีชาย 83 คน หญิง 11 คน การอพยพนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวกุเรซเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงได้จัดส่งผู้แทน 2 คนไปเข้าเฝ้ากษัตริย์เนกุส ผู้แทนทั้ง 2 คนได้ขอร้องให้กษัตริย์เนกุสส่งตัวผู้อพยพกลับไปโดยอ้างว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกทรชน
เนกุสได้ตรัสถามบรรดามุสลิมผู้อพยพว่า “ท่านทั้งหลายมีสิ่งใดจะพูดหรือเปล่า”
ท่านญะอ์ฟัร อิบน์ อะบูฏอลิบ รอดิยัลลอฮุอันฮุ จึงได้ยืนขึ้นและกล่าวว่า “พวกเราเคยบูชาเจว็ด กระทำในสิ่งที่งมงายไร้สาระ อัลลอฮฺได้ทรงส่งศาสนทูตคนสุดท้ายมายังเรา ท่านได้ใช้ให้เราเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์องค์เดียว และยังได้สอนให้เรามีความปรองดองรักใคร่ซึ่งกันและกัน พวกเราจึงได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้พวกพ้องของเราจึงได้ปฏิปักษ์ต่อเรา พวกเขาพยายามขู่บังคับให้พวกเรากลับไปใช้ชีวิตในแบบเดิม ซึ่งเป็นชีวิตที่เลวร้ายยิ่ง พวกเราขอพึ่งบารมีของท่าน ขออย่าได้ทรงให้เขาเหล่านั้นทำร้ายพวกเราอีกเลย ”
เนกุสได้ตรัสถามว่า “มูฮัมมัดนำอะไรมาเผยแพร่บ้าง?”
ท่านญะอ์ฟัรจึงได้อ่านซูเราะห์มัรยัมตั้งแต่อายะห์ที่ 1 จนถึงอายะห์ที่ 33 ที่มีความว่า “และความศานติจงมีแด่ฉัน (หมายถึงท่านนบีอีซา) ในวันที่ฉันจะตาย และวันที่ฉันจะถูกฟื้นขึ้นให้มีชีวิตใหม่”
เมื่อเนกุสได้ยินอายะห์แห่งพระคัมภีร์อัลกุรอาน ทำให้เนกุสมีความซาบซึ้งเป็นอย่างมาก จึงตรัสกับทูตทั้งสองของชาวกุเรซว่า “พวกเจ้าจงไปได้ ฉันไม่สามารถจะส่งมอบเขาเหล่านี้ให้กับเจ้าได้ พวกเขากระทำถูกแล้ว” (ดูหนังสืออัรเราะฮี่กุลมัคตูม อัลมุบาร์กะฟูรีย์ หน้า 94-96)
จากทั้งสองตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามในยุคต้น ๆ ทำให้เราได้ทราบว่า มีบุคคลหลายท่านที่มิได้เป็นมุสลิมแต่ได้ปกป้องและช่วยเหลือมุสลิมและมีส่วนทำให้อิสลามดำรงอยู่ เฉกเช่นในกรณีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชกรณียกิจของพระองค์มีส่วนสำคัญต่อการดะอ์วะฮ์อิสลามในประเทศไทย เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อศาสนาอิสลามและพสกนิกรมุสลิมตลอดระยะเวลา 70 ปีของการครองราชย์ พระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมย์อย่างแท้จริง
ขอถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้