อิสลาม กับ ความยุติธรรม
  จำนวนคนเข้าชม  10371


อิสลาม กับ ความยุติธรรม


 

อับดุลวาเอด สุคนธา เรียบเรียง

 

มวลการสรรเสริญ เป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล 

 

          ในสังคมปัจจุบัน การปกครองในแต่ละประเทศคนที่มียศ มีเกียรติ ยศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมมีสิทธิมากกว่าบุคคลทั่วไปในเกือบทุกๆด้านในการใช้ชีวิต แน่นอนคนจนย่อมเป็นเบี้ยล่างของบุคคลเหล่านี้โดยเฉพาะในเรื่องของกฏหมาย เวลาคนมียศถาบรรดาศักดิ์ ลูกหลานคนที่มีหน้าตาในสังคม ไปทำร้าย ฆ่าคน ลิดรอนสิทธิต่างๆ พวกที่มีเส้นสาย มีเงินทอง พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้มีชัยเหนือคนยากจนอยู่ตลอดเวลาๆ นี่คือสังคมปัจจุบันซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลียงจากอำนาจเหล่านี้ได้ เพราะความยุติธรรมในชีวิตจริงไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

          ความยุติธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกันเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง และความยุติธรรม เป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งความยุติธรรมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมหนึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การขโมยของเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถือว่ายุติธรรม 

          นักวิชาการแสดงความเห็นว่า สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับกฏหมายเลือกปฏิบัติ ทำให้คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ โดยภาครัฐควรควรขยายโอกาสให้ผู้ยากจนได้รับการบริการทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยสาเหตุเกิดจากโครงสร้างทางสังคม การกระทำของคนในสังคม และกลุ่มอำนาจทางสังคม เช่น ผู้เกี่ยวข้องกับกฏหมายมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดสองมาตรฐาน และผู้ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงการจัดการในกระบวนการยุติธรรม เช่น ไม่มีเงินประกันตัว และไม่มีโอกาสพบทนายความ เพื่อต่อสู้คดี  

          หากเรามองในศาสนาอิสลามแล้ว เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความเท่าเทียมกันในทุกๆด้าน การใช้ชีวิต การใช้กฎหมาย ด้านการค้า ความยุติธรรมที่อัลลอฮฺทรงกล่าวเอาไว้กรุอ่าน และ ซุนนะของท่านนบีได้ปฏิบัติเอาไว้มีมากมายด้วยกันหนึ่งตัวอย่างการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ซึ่งหาได้ยากหากมองการปกครองในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบีย ดำรงไว้ซึ่งหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น เฆี่ยนตีคนทำซีนา ตัดมือโจรลักขโมย ประหารชีวิตบุคคลที่ฆ่าชีวิตอื่นให้ตายตามไป  ซึ่งไม่นานมานี้เองเราได้ยินข่าวการประหารชีวิตของคนในราชวงค์กษัตริย์ ซึ่งได้แสดงให้โลกรับรู้ว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในกฎหมายของอัลอิสลาม ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้แต่คนในราชวงค์ก็ต้องถูกลงโทษตามกฏหมายอย่างเป็นธรรม  ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกชนชั้น วรรณะ การกระทำนี้กลับถูกมองว่าเป็นสังคมป่าเถื่อน ไร้สิทธิมนุษยธรรม แต่นี้คือความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับ 

          หันกลับมามองดูในโลกปัจจุบัน กฎหมายเหล่านี้ที่ถูกมองว่าโหดร้าย ป่าเถื่อนแต่กลับถูกยอมรับในหลายประเทศ แม้ว่าประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมก็ตาม นี้แหละคือความจริงที่โลกต้องยอมรับในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่มีมาตั้งแต่ 1400 ปี จงรับรู้ไว้ว่านี้คือศาสนาที่แท้จริง ไม่มีสิ่งใดสิ่งที่อัลลอฮ์  ทรงกำหนดไว้แล้วสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่อธรรมต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้ 

          อิสลามถือว่า ความยุติธรรม เป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้จริยธรรมอิสลามสมบูรณ์ เพราะความยุติธรรมจะนำมาซึ่งการดำรงมั่น ในความเป็นธรรม และรักในความสัตย์ ผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมจึงถือเป็นบุคคลที่มีจริยธรรมอันน่าสรรเสริญ 

     ดังนั้นอัลลอฮ์  จึงได้ส่งบรรดานบี  และบรรดารอซูลมาเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ความว่า

          " และโดยแน่นอนเราได้ส่งบรรดาร่อซูลของเราพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง  และเราได้ประทานคัมภีร์ ความยุติธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม" 

(สูเราะฮฺ หะดีด อายะห์ที่ 22)

          "ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง หรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม หากเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮฺก็สมควรยิ่งกว่าเขาทั้งสอง

           ดังนั้นจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำในการที่พวกเจ้าจะมีความยุติธรรม และหากพวกเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน"

(สูเราะฮฺ นิสาฮฺ /135)

       ตัวอย่างของความยุติธรรมในยุคของท่านนบี  ซึ่งท่านอูซามะห์ บินเซด ได้พยายามที่จะมาขอร้องท่านนบี  ให้ละเว้นการลงโทษคนจากตระกูล มัคซูม ซึงเป็นตระกูลที่มีเกียรติ ซึ่งนางได้ขโมยของและโทษของนางคือ การตัดมือ แต่ด้วยกับการที่ผู้หญิงคนนี้เป็นหญิงที่อยู่ในตระกูลที่สูงส่งมีฐานะทางสังคม เป็นเหตุให้ท่านอูซามะห์ พยายามที่จะช่วยนางให้รอดพ้นจากการลงโทษตัดมือ จนกระทั่งทำให้ท่านนบี  โกรธ และท่านได้เทศนาต่อหน้าผู้คนได้แสดงออกถึงแนวทางของอิสลามในการสร้างความยุติธรรม โดยเนื้อหาบางส่วนของการเทศนาของท่านนบี   มีดังต่อไปนี้


          "แท้จริงบรรดากลุ่มคนที่มาก่อนหน้าพวกเจ้า ได้ประสบความหายนะแล้ว ก็เนื่องจากได้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขาเมื่อคนที่มีเกียรติ(ตระกูลดี)ได้ขโมย พวกเขาก็ละเลยแก่เขา(ในการลงโทษ) และหากว่าคนอ่อนแอ(ยากจน) ได้ขโมยพวกเขาก็ได้ลงโทษแก่เขา ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากฟาติมะห์ ลูกสาวของมูฮัมหมัดได้ลักขโมย แน่นอนฉันจะตัดมือของนาง" 

(บันทึกโดย บุคอรีย์  มุสลิม)

       ความยุติธรรมที่ท่านนบี   ได้แสดงแบบอย่างให้แก่มวลมนุษยชาติ หลักการของอิสลามได้มาเพื่อเป็นความเมตตาแก่มวลมนุษยชาติ มาเพื่อยกระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ สร้างโอกาสความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม มาขจัดการเห็นแก่ตัวเองและพวกพ้อง และมาขจัดความอธรรมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นความไม่เท่าเทียม การอธรรมที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล ระดับองค์กร หรือ ระดับโลกที่เกิดขึ้นนั้น ถ้านำคำสอนของอิสลามไปใช้แบบจริงจัง แน่นอนความสงบสุข ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน  จากประวัติของท่านศาสนามูฮัมหมัด ได้บอกความสำคัญของการเป็นผู้พิพากษาในการตัดสินผู้อื่น และ จงระวังโทษของคที่ตัดสิบผู้อื่นโดยมิชอบธรรม ดั่งในตัวบทท่านนบี  กล่าวว่า  

ผู้พิพากษามี สามประเภทด้วยกัน  สองประเภทตกนรก หนึ่งประเภทเข้าสวรรค์ 

บุคคลที่ตัดสินไม่ถูกต้องตามความจริง ทั้งที่เขาเองรู้ในสิ่งนั้น นี้แหละเขาลงนรก

บุคคลที่ไม่รู้แล้วไปตัดสินจนทำให้ผู้อื่นเสียหาย แบบนี้ตกนรก

บุคคลที่รู้ความจริงและเขาตัดสินอย่างเป็นธรรม เขาเข้าสวรรค์

(บันทึกโดยติรมีซีย์)


          แน่นอนว่า ความยุติธรรมเป็นรากฐานทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น สร้างความสามัคคีในสังคม สร้างความสงบปลอดภัย และความเสมอภาคของทุกสังคมชนชั้น หากสังคมขาดความยุติธรรมเมื่อใด การละเมิดสิทธิบุคคลในสังคมจะเกิดขึ้นทันที ความสับสนวุ่นวายจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน