มารยาทนักวิชาการในประเด็นที่เห็นต่าง
เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
อิสลามคือคำสอนที่สูงส่งและล้ำค่าเนื่องจากคำสอนของอิสลามไม่ได้มาจากแนวคิดของมนุษย์ ท่านนบมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม เป็นเพียงผู้เผยแผ่คำสอนของอิสลามที่มาจากอัลลอฮฺ พระเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ดังนั้นคำสอนของอิสลามจึงได้บอกและอธิบายรายละเอียดไว้ในทุกๆเรื่อง แต่สิ่งที่จะนำเสนอตรงนี้ คือมารยาทต่างๆในอิสลาม
หากเราได้ศึกษาชีวประวัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม เราจะพบว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้แสดงมารยาทไว้ในทุก ๆ เรื่อง ตั้งตื่นนอนจนเข้านอน มารยาทในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ แน่นอนในสังคมมนุษย์เราในการอยู่ร่วมกับมนุษย์ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน ศาสนาความเชื่อที่แตกต่างกัน ในความแตกต่างนั้นอิสลามได้มีคำสอนในการอยู่ร่วมกับสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
และขณะเดียวกันในสังคมมุสลิมที่มีคำสอนศาสนาเดียวกัน ก็คือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ก็หนีไม่พ้นความเห็นต่างทางด้านความเข้าใจในศาสนา จนบางครั้งนำไปสู่การโต้แย้งที่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง มีการพูดจาดูถูกเหยียดหยาม หรือบางครั้งมีการนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาพัวพัน โต้กันไปโต้กันมาจนกระทั่งทำลายความเป็นพี่น้องในศาสนา โดยเป้าหมายของการโต้แย้งนั้นไม่ได้มีเจตนาให้ความจริงปรากฏ ยิ่งโต้แย้งกันยิ่งสร้างความเกลียดชังและการเป็นศัตรูเพราะต่างฝ่าย ต่างมั่นใจว่าตัวเองคือผู้ที่กุมความถูกต้องไว้ การโต้แย้งมีที่น่าสรรเสริญและมีที่น่าตำหนิ
การโต้แย้งที่น่าชมเชยและน่าตำหนิ
การโต้แย้งที่น่าชมเชยก็คือการโต้แย้งสิ่งที่เป็นเท็จเพื่อให้ความจริงปรากฎ และในรูปแบบของการโต้แย้งอยู่ภายใต้กรอบของบทบัญญัติ และเป้าหมายของการโต้แย้งเพื่อต้องการขจัดความเท็จ และให้ความจริงและสิ่งที่ถูกต้องปรากฏ
การโต้แย้งที่น่าตำหนิและเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็คือการโต้แย้งสิ่งที่ถูกต้องด้วยกับความเท็จเพื่อต้องการให้ความเท็จมีชัยชนะเหนือความจริง หรือการโต้แย้งเพื่อตัวเอง เพื่อชื่อเสียงให้ผู้คนได้ชมเชยว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการโต้แย้งหักล้าง ไม่ได้มีเป้าหมายในการช่วยเหลือศาสนา หรือต้องการให้ความจริงปรากฏ
มาดูสำนวนในอัลกุรอ่านที่อัลลอฮ์ ประทานลงมาให้ท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม เป็นการโต้แย้งกับบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ ให้พวกเขาได้ยอมรับต่ออัลลอฮฺ คือการนำเสนอสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีจุดร่วมกันยอมรับในจุดนั้น และถือว่าเป็นการโต้แย้งที่น่าชมเชย
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด “ใครเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกท่านจากชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ?”
จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า “อัลลอฮฺ"
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)
“ใครเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่มาจากฟากฟ้า และแผ่นดินแด่พวกท่าน
หรือใครเป็นเจ้าของการได้ยินและการมอง
และใครเป็นผู้ให้มีชีวิตหลังจากการตายและเป็นผู้ให้ตายหลังจากมีชีวิตมา
และใครเป็นผู้บริหารกิจการ”
แล้วพวกเขาจะกล่าวกันว่า “อัลลอฮฺ”
ดังนั้นจงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) “พวกท่านไม่ยำเกรงหรือ?”
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า
แท้จริงพระเจ้าของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง"
นี่คือการตอบโต้ที่น่าชมเชย ก็คือการเรียกร้องผู้คนมาสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ ด้วยฮิกมะห์ คือด้วยกับความรู้ความเข้าใจของผู้ที่ทำหน้าที่เรียกร้องผู้คนมาสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ และนำคำสอนที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของพวกเขา และรู้จักนำคำสอนมาโยงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม และสิ่งที่ขาดไม่ได้ของบรรดานักเผยแผ่ก็คือ การใช้ถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนโยน ไม่หยาบคายเสียดสี หรือพูดจาถากถางในการดูถูกคนอื่น และในการเชิญชวนผู้คนมาสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ ต้องไม่ใช่วิธีการที่สร้างความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงด้วยวิธีการใส่ร้ายโดยปราศจากข้อเท็จจริง
สำหรับการโต้แย้งด้วยวิธีการที่ดีๆ และอีกตัวอย่างของการโต้แย้งที่ดีโดยใช้หลักทางปัญญาในการหักล้างสิ่งที่เป็นเท็จ
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
"เจ้า (มุฮัมมัด) มิได้มองดูผู้ที่โต้แย้ง ¹ อิบรอฮีมในเรื่องพระเจ้าของเขาดอกหรือ ?
เนื่องจากอัลลอฮ์ได้ประทานอำนาจแก่เขา ²
ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่า พระเจ้าของฉันนั้น คือ ผู้ที่ทรงให้เป็นและทรงให้ตายได้
เขากล่าวว่า ข้าก็ให้เป็นและให้ตายได้ ³
อิบรอฮีมกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด
แล้วผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น ก็ได้รับความงงงวย 4
และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ประทานแนวทางอันถูกต้องแก่ผู้อธรรมทั้งหลาย
(1) หมายถึงกษัตริย์นัมรูดได้โต้แย้งท่านนะบีอิบรอฮีม
(2) อัลลอฮ์ได้ทรงให้เขาได้เป็นกษัตริย์แห่งอัด-ดานียีน
(3) โดยปล่อยนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตให้เป็นอิสระและประหารชีวิตผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินให้เป็นผู้บริสุทธิ์
(4) ทำให้กษัตริย์นัมรูดงงงวย ไม่สามารถจะกระทำได้
จากอายะห์นี้คือการโต้แย้งสิ่งที่เป็นเท็จด้วยวิธีการที่ดี ที่ใช้หลักการเหตุผลในการหักล้างจนผู้ปฏิเสธจนปัญญาที่จะโต้แย้ง ดังนั้นการใช้ปัญญากับวะห์ยูที่อัลลอฮฺ ได้ประทานลงมาให้ คืออาวุธในการโต้แย้งที่มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการโต้แย้งที่น่าตำหนิ
وَجَادَلُوا بِالْبَاطِلِ لِيُدْحِضُوا بِهِ الْحَقَّ قوله تعالى :
"และโต้เถียงด้วยความเท็จ เพื่อที่จะลบล้างความจริงให้สูญสิ้นไป"
นี่คือตัวอย่างของการโต้แย้งที่น่าตำหนิ นำความเท็จมาโต้แย้งเพื่อขจัดสิ่งที่ถูกต้อง โดยใช้ทุกวิถีทางไม่ว่าการใส่ร้ายโดยปราศจากหลักฐาน โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน การที่จะใส่ร้ายซึ่งกันและกันนั้นง่ายมาก สามารถตัดต่อคลิปเสียง คลิปวีดีโอ เพื่อต้องการแพร่ความเท็จและสร้างความเกลียดชังในสังคมมุสลิม
ดังนั้นการเห็นต่างของมุสลิมในประเด็นศาสนานั้นเป็นสิ่งต้องเกิดขึ้น แต่อัลหัมดูลิลลาฮฺ บรรดานักวิชาการอะลุซซุนนะห์นั้นไม่ได้มีความเห็นต่างหรือขัดแย้งในเรื่องหลักความเชื่อ(อากีดะห์) เพียงประเด็นที่เห็นต่างของพวกเขานั้นในประเด็นที่ปลีกย่อย และในการเห็นต่างนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ ความเกลียดชัง หรือต้องการให้ตัวเองชนะในประเด็นที่เห็นต่าง หรือต้องการมวลชน หรือนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาปะปนในศาสนา มีพรรคพวกแบ่งแยกแบ่งขั้ว จนนำไปสู่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคม
ดังนั้นการเห็นต่างที่บริสุทธิ์ในศาสนาจะต้องไม่ทำลายความเป็นพี่น้อง การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการช่วยเหลือกันในการเผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮฺ หลักศรัทธาของอะลุซซุนนะห์มีความรักกับมุมินผู้ศรัทธาด้วยกัน ช่วยเหลือกันมีความเมตตาซึ่งกันและกัน ถึงแม้เราจะขัดแย้งในประเด็นปลีกย่อยทางศาสนา ความขัดแย้งนั้นจะต้องไม่มาทำลายความเป็นพี่น้องของเรา โดยเฉพาะหากบรรดาผู้มีความรู้ไม่มีแบบอย่างของความเป็นพี่น้องระหว่างกัน ความสามัคคีกัน แน่นอนคนทั่วไปก็คงลำบากในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักการศาสนา
ขออัลลอฮ์ ได้โปรดให้บรรดาผู้ศรัทธา บรรดาผู้ที่มีความรู้ และผู้ที่เจริญรอยตามซุนนะห์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้ยืนหยัดในศาสนาและได้รักใคร่กลมเกลียวกัน อามีน