ความสำคัญของ อัลวะลาอ์ วัลบะรออ์
  จำนวนคนเข้าชม  7803


ความสำคัญของ อัลวะลาอ์ วัลบะรออ์ 

 

อัล อิศลาห์ สมาคม บางกอกน้อย

การรักและเป็นมิตรต่อบรรดาผู้ศรัทธา และการรังเกียจและเป็นศัตรูต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

 

           อัลวะลาอ์ คือการเป็นมิตรกัน การมอบความรักให้แก่กัน ส่วนอัลบะรออ์ คือการออกห่างกัน การเป็นศัตรูต่อกัน ซึ่งหลักศรัทธาหรือหลักเชื่อมั่นที่บรรดาอุละมาอ์ได้บอกไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมาย จะขอนำเสนอโดยสรุปดังต่อไปนี้

          บรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ ถือเป็นรุก่นหนึ่งจากรุก่นต่างๆ ของอะกีดะฮฺ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้อีมานของเราครบถ้วนสมบูรณ์ เราจะมาพิจารณากันว่า อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ ตามทัศนะที่ถูกต้องมีความหมายว่าอย่างไร ?

 

          ♦ อัลวะลาอ์  الولاء  คือ การที่เราต้องมอบความรักของเราให้แก่อัลลอฮฺ  ให้แก่ร่อซูลของพระองค์ ﷺ ให้แก่บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านร่อซูล  ให้แก่มุอ์มินที่มีหลักศรัทธาที่เชื่อว่าว่าอัลลอฮฺ  เป็นพระเจ้าองค์เดียว เฉกเช่นเดียวกับการศรัทธาของท่านร่อซูลและบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านร่อซูล พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นตามกำลังความสามารถของเรา

 

          ♦ อัลบะรออ์  البراء  คือ การที่เราจะต้องแสดงความไม่ชอบ แสดงความเกลียดชัง หรือต่อต้านบรรดามุชริกีน บรรดามุนาฟิกีน บรรดามุบตะดิอีน (บรรดาผู้ที่ทำบิดอะฮฺในเรื่องต่างๆ) บรรดาคนฟาซิก เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่ยืนตรงข้ามกับอัลลอฮฺ  สวนทางคำสอนของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺ หรือบรรดาเศาะฮาบะฮฺ และบรรดามุอ์มิน

 

          ดังนั้น ความหมายของอัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ ก็คือเราจะต้องเป็นมิตรกันในหนทางของอัลลอฮฺ  ในหนทางของศาสนา และจะต้องห่างเหินกัน จะต้องมีท่าทีที่ไม่ชอบต่อผู้ที่ปฏิบัติขัดกับหลักการศาสนาที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ นำมา ดังนั้นหากสังคมใดหรือกลุ่มชนใดนำหลักการนี้มายึดมั่น ยึดถือไว้ และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บรรดาอุละมาอ์ได้วางไว้ สังคมนั้นก็จะกลายเป็นสังคมที่รักใคร่กลมเกลียวกัน สามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และจะเป็นสังคมที่มีเกราะป้องกันสิ่งที่ค้านต่อหลักการ สิ่งที่เป็นอุตริกรรมต่างๆ ในศาสนาทั้งทางด้านความคิดและการปฏิบัติ ไม่ให้ย่างกรายเข้ามาสู่สังคมนั้นได้
 

เราจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องนี้ เพราะอุละมาอ์ได้บอกถึงความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ดังนี้

 ความสำคัญของอัลวะลาอ์และอัลบะรออ์

 ประการที่หนึ่ง

          อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ เป็นส่วนหนึ่งของความหมายของการกล่าวชะฮาดะฮฺที่เรากล่าวออกไปว่า “ลาอาฮะอิลลัลลอฮฺ” ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะที่แท้จริง นอกจากอัลลอฮฺ  เท่านั้น

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า 

           “ ใครที่มีหลักนี้แสดงว่าเขาได้ทำให้กะลิมะฮฺชะฮาดะฮฺที่เขากล่าวว่า “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ได้บรรลุเป้าหมาย บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง นั่นหมายความว่า คนหนึ่งจะต้องไม่รักกัน นอกเสียจากว่ารักกันเพื่ออัลลอฮฺ  และจะต้องไม่โกรธกัน ไม่หันห่างออกจากกัน นอกเสียจากว่าเพื่ออัลลอฮฺ  และต้องรักในสิ่งที่อัลลอฮฺ  ทรงรัก และต้องเกลียดในสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด”

          พระองค์ทรงรักแบบไหน ท่านร่อซูลรักแบบไหน เราก็ต้องรัก ต้องชอบและสมัครใจที่จะปฏิบัติตามด้วย และในขณะเดียวกันเราก็ต้องรังเกียจ หรือมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อัลลอฮฺ  และท่านร่อซูลของพระองค์  ไม่พอใจ เพราะฉะนั้นใครที่มีหลักอัลวะลาอ์ อัลบะรออ์นั้นเท่ากับว่าเขามีอีมานที่ถูกต้อง

 

 ประการที่สอง 

          อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการมีอีมานที่สมบูรณ์ อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 80 ว่า

( تَرَىٰ كَثِيرًا مِّنْهُمْ يَتَوَلَّوْنَ الَّذِينَ كَفَرُوا ۚ لَبِئْسَ مَا قَدَّمَتْ لَهُمْ أَنفُسُهُمْ أَن سَخِطَ اللَّهُ عَلَيْهِمْ وَفِي الْعَذَابِ هُمْ خَالِدُونَ )

“เจ้า(มุฮัมมัด) ก็จะเห็นมากมายในหมู่พวกเขา เป็นมิตรกับบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา

ช่างเลวร้ายจริงๆสิ่งที่ตัวของพวกเขาเองได้ประกอบล่วงหน้าไว้ สำหรับพวกเขา อันเป็นเหตุให้อัลลอฮฺทรงกริ้วพวกเขา

และพวกเขาจะคงอยู่ในการลงโทษตลอดกาล”

 

يَتَوَلَّوْنَ الَّذِينَ كَفَرُوا  “เป็นมิตรกับบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา”

          ท่านมุญาฮิดได้อธิบายว่า “หมายถึงบรรดามุนาฟิกที่มอบความรัก ความสนิทสนมให้แก่บรรดาผู้ที่ปฏิเสธอัลลอฮฺ  ปฏิเสธศาสนาของพระองค์”

 

لَبِئْسَ مَا قَدَّمَتْ لَهُمْ أَنفُسُهُمْ  “สิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้เช่นนี้ ช่างเป็นเรื่องที่เลวร้าย”

          หมายความว่า การที่บรรดามุนาฟิกีนให้ความรักแก่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม แล้วละทิ้งหรือไม่ให้ความรักต่อผู้ที่มีสิทธิจริงๆ นั่นคือการไม่ได้มอบความรักต่ออัลลอฮฺ  และร่อซูลของพระองค์ อันเป็นเหตุให้อัลลอฮฺ  ทรงกริ้วพวกเขา และทำให้พวกเขาต้องอยู่ในการลงโทษตลอดกาล

 

ประการที่สาม 

          อัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ ถือเป็นห่วงโซ่อันมั่นคงของการศรัทธา การยึดมั่นที่แท้จริง หะดีษในบันทึกของท่านอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวว่า

«أوثَقُ عُرَى الإِيمانِ الحُبُّ فِي اللهَ وَ البُغضُ فِي اللهِ»

“ห่วงโซ่อันมั่นคงของการศรัทธา คือ

การเป็นมิตรกันในหนทางของอัลลอฮฺ  และการเป็นศัตรูกันในหนทางของอัลลอฮฺ

การมอบความรักให้กันเพื่ออัลลอฮฺ  และการเกลียดชังกันเพื่ออัลลอฮฺ ”

     หลักอัลวะลาอ์ และอัลบะรออ์ คือ ส่วนที่จะมาเติมเต็มอีมานของคนๆ หนึ่ง หรือศาสนาของคนๆ หนึ่ง ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 

 เชคซัลมาน อิบนุอับดุลลอฮฺ ได้ตั้งคำถามว่า 

          “ศาสนาจะสมบูรณ์กระนั้นหรือ หรือธงแห่งการญิฮาดจะชูขึ้นกระนั้นหรือ หรือการสั่งใช้และสั่งห้ามในเรื่องศาสนาจะเกิดขึ้นกระนั้นหรือ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะครบถ้วนสมบูรณ์ได้ โดยท่านจะต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพื่ออัลลอฮฺ  ในการรักอัลลอฮฺ  และเกลียดชังเพื่ออัลลอฮฺ  ”

          ใครที่เขาไม่ร่วมขบวนกับเรา ไม่อยู่ในแนวทางของอะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ หรือแนวทางของสะละฟศศอลิหฺ ก็เป็นสิทธิที่เราจะต้องแสดงการต่อต้าน หรือแสดงท่าทีที่ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพวกเขา
 

อบู อัลวะฟาอ์ บิน อุกอยลฺ กล่าวว่า 

            “ถ้าหากว่าท่านต้องการที่จะทราบฐานะ ตำแหน่งของอิสลามของคนแต่ละยุคสมัย ท่านอย่าได้ไปมองที่ความหนาแน่นของคนที่มาละหมาดตามมัสยิดต่างๆ หรืออย่าได้ไปมองถึงความดังของการกล่าว ลับบัยกะ (กล่าวตัลบียะฮฺ) แต่ให้มองไปยังการวางตัวของพวกเขาต่อบรรดาศัตรูของศาสนา”

 

          อย่าไปมองว่ามีคนละหมาดเต็มมัสยิด หรืออย่าไปมองคนที่อยู่ที่มักกะฮฺ แล้วก็กล่าวคำว่า ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกฺ จำนวนคนหนาแน่นที่มัสยิด กับคนจำนวนมากที่ไปกล่าวคำตัลบียะฮฺ (ลับบัยกัลลอฮฺ ฯ) มิได้หมายความว่า คนในยุคนั้นถืออิสลามอย่างแท้จริง หรือทำให้อิสลามสูงส่งอย่างแท้จริง แต่ให้ดูว่าคนในยุคนั้นวางตัวอย่างไร ร่วมมืออย่างไรกับศัตรูของอิสลาม เราได้รับทราบแล้วว่าในปัจจุบัน มุสลิมที่แท้จริงกับมุสลิมที่เป็นมุนาฟิกให้ความร่วมมือกับศัตรูของอิสลาม แล้วก็กลับมาทำลายล้างอิสลามอย่างไร

 

 บางทีคนที่เป็นมุสลิมเองนั้น ได้เอาคนไม่ใช่มุสลิมมาเป็นเครื่องมือทำลายพี่น้องมุสลิมด้วยกัน