หนทางในการได้รับชะฟาอะฮฺจากท่านนบีมุหัมมัด
  จำนวนคนเข้าชม  4245


หนทางในการได้รับชะฟาอะฮฺจากท่านนบีมุหัมมัด


 

มิฟตาฮุล-ค็อยรฺ : เรียบเรียง

 

          หนทางในการได้รับชะฟาอะฮฺจากท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมประกอบด้วยสองประการ คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ แบ่งได้ดังนี้

 

1. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อหรืออะกีดะฮฺ

 

1.1 การกล่าวปฏิญาณตนด้วยหัวใจที่บริสุทธ์ (อิคลาศ)

 

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

( وَشَفَاعَتِي: لِمَنْ شَهِدَ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ مُخْلِصًا؛ يُصَدِّقُ قَلْبُهُ لِسَانَهُ وَ لِسَانُهُ قَلْبَهُ )

“และการให้การชะฟาอะฮฺของฉันนั้น สำหรับผู้ที่กล่าวปฏิญาณตนว่า

แท้จริงแล้วไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮฺ โดยกล่าวอย่างบริสุทธิ์ใจ

ซึ่งหัวใจของเขาจะพิสูจน์ลิ้นของเขา และลิ้นของเขาจะพิสูจน์หัวใจของเขา” 

(บันทึกในมุสนัดอิมามอะหฺมัด: 2/307 ท่านอิบนุ หิบบาน กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีห)

หะดีษข้างต้นสอดคล้องกับหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านเราะสูล กล่าวว่า

( أَسْعَدُ النَّاسِ بِشَفَاعَتِي يَوْمَ القِيَامَةِ ، مَنْ قَالَ لاَ إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ ، خَالِصًا مِنْ قَلْبِهِ أَوْ نَفْسِهِ )

“มนุษย์ที่มีความสุขที่สุดกับการได้รับชะฟาอะฮฺของฉันในวัน กิยามะฮฺ คือ

ผู้ที่กล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรสักการะนอกจากอัลลอฮฺ จากหัวใจของเขาอย่างบริสุทธิ์ใจ” 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ :99)

1.2 ไม่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด (ไม่ชิริก)

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

( اُعْطِيْتُ خَمْساً…وَاُعْطِيْتُ الشَّفاعَةَ فَادّخَرْتُها لاُمَّتِي إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ، وَهِيَ فهي لمن لَا يُشْرِكُ بِاللَّهِ شَيْئًا )

“ฉันได้รับการถูกการประทานมา 5 ประการ … (และหนึ่งในห้าประการนั้น) คือ

ฉันมีสิทธิให้การชะฟาอะฮฺ ซึ่งฉันเก็บมันไว้แก่ประชาชาติของฉันในวันกิยามะฮฺ

นั่นคือ สำหรับผู้ที่ไม่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด” 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์: 1/92,119 และท่านอื่นๆ)

อีกรายงานหนึ่ง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

( لِكُلِّ نَبِيٍّ دَعْوَةٌ مُسْتَجَابَةٌ فَتَعَجَّلَ كُلُّ نَبِيٍّ دَعْوَتَهُ ، وَإِنِّي اخْتَبَأْتُ دَعْوَتِي شَفَاعَةً لِأُمَّتِي إِلَى يَوْمِ الْقَامَةِ فَهِيَ نَائِلَةٌ إِنْ شَاءَ اللَّهُ مَنْ مَاتَ مِنْ أُمَّتِي لَا يُشْرِكُ بِاللَّهِ شَيْئًا )

          “ทุกๆ นบีจะมีดุอาอ์หนึ่งที่ถูกตอบรับอย่างแน่นอน ซึ่งทุกๆ นบีได้รีบใช้สิทธิข้อนี้กันไปแล้ว และแท้จริงฉันได้เก็บสิทธิ์ดุอาอ์นี้ของฉันไว้

          นั่นคือ การให้ชะฟาอะฮฺแก่ประชาชาติของฉันในวันกิยามะฮฺ ซึ่งประชาชาติของฉันที่เสียชีวิตลงโดยไม่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะได้รับสิ่งนี้ อินชาอัลลอฮฺ ” 

(บันทึกโดยมุสลิม)


2. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ 

2.1 อ่านดุอาอ์ภายหลังจากอะซาน การอ่านดุอาอ์ภายหลังอะซาน

         จะต้องกระทำไปพร้อมกับการกล่าวตามเสียงอาซาน กล่าวเศาะลาวาตต่อนบี ในเรื่องนี้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า


( إِذَا سَمِعْتُمُ الْمُؤَذِّنَ، فَقُولُوا مِثْلَ مَا يَقُولُ ثُمَّ صَلُّوا عَلَيَّ، فَإِنَّهُ مَنْ صَلَّى عَلَيَّ صَلَاةً صَلَّى الله عَلَيْهِ بِهَا عَشْرًا، ثُمَّ سَلُوا اللهَ لِيَ الْوَسِيلَةَ، فَإِنَّهَا مَنْزِلَةٌ فِي الْجَنَّةِ، لَا تَنْبَغِي إِلَّا لِعَبْدٍ مِنْ عِبَادِ اللهِ، وَأَرْجُو أَنْ أَكُونَ أَنَا هُوَ، فَمَنْ سَأَلَ لِي الْوَسِيلَةَ حَلَّتْ لَهُ الشَّفَاعَةُ )

          “เมื่อพวกท่านได้ยินผู้อะซาน ก็จงกล่าวตามเขา จากนั้นก็จงกล่าวเศาะละวาตแก่ฉัน เพราะผู้ใดที่กล่าวเศาะละวาตแก่ฉันหนึ่งครั้งอัลลอฮฺ จะทรงเศาะละวาตแก่เขาสิบเท่า จากนั้นก็จงขอต่ออัลลอฮฺให้ประทานอัลวะสีละฮฺแก่ฉัน

         แท้จริงมัน (อัลวะสีละฮฺ) เป็นตำแหน่งหนึ่งในสวรรค์ ซึ่งมันไม่เหมาะควรเว้นแต่สำหรับบ่าวหนึ่งคนเท่านั้นจากบรรดาบ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ และฉันหวังว่าผู้เหมาะสมคนนั้นจะเป็นฉัน ดังนั้นผู้ใดที่ขออัลวะสีละฮฺให้แก่ฉัน การช่วยเหลือของฉัน (ชะฟาอะฮฺ) ก็ย่อมได้รับอนุมัติสำหรับเขา”

(บันทึกโดยมุสลิม: 384)

อีกรายงานหนึ่ง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

( من قَالَ حِينَ يَسْمَعُ النِّدَاءَ: اللَّهُمَّ رَبَّ هَذِهِ الدَّعْوَةِ التَّامَّةِ، وَالصَّلاَةِ القَائِمَةِ آتِ مُحَمَّدًا الوَسِيلَةَ وَالفَضِيلَةَ، وَابْعَثْهُ مَقَامًا مَحْمُودًا الَّذِي وَعَدْتَهُ، حَلَّتْ لَهُ شَفَاعَتِي يَوْمَ القِيَامَةِ )

“ผู้ใดที่กล่าวเมื่อได้ยินเสียงอะซาน (คือ กล่าวเมื่อสิ้นเสียง อาซาน) ว่า ‘อัลลอฮุมมะ ร็อบบะ ฮาซิฮิตต๊ามมะฮฺ จนจบ…

          (โอ้อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งเสียงการเรียกร้องอันสมบูรณ์นี้ และพระผู้อภิบาลแห่งการละหมาดที่ดำเนินขึ้น ขอทรงโปรดประทานอัลวะสีละฮฺและ อัลฟะฎีละฮฺ แก่ท่านนบีมุหัมมัดด้วยเถิด และขอทรงโปรดให้เขาฟื้นขึ้นในวันกิยามะฮฺในสภาพที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้แก่เขาด้วยเถิด)’

การช่วยเหลือของฉัน (ชะฟาอะฮฺ) ก็จะได้รับอนุมัติสำหรับเขาในวันกิยามะฮฺ”

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์: 614)

2.2 กล่าวเศาะลาวาตนบี เช้าเย็น 10 ครั้ง

เล่าจากท่านอะบู อัดดัรดาอฺ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

( من صلَّى عليَّ حين يُصبِحُ عشرًا وحين يُمسي عَشرًاأدركَتْهُ شَفاعَتي يومَ القِيامةِ )

“ผู้ใดที่เศาะลาวาตแก่ฉันในยามเช้า 10 ครั้ง และยามเย็น 10 ครั้ง เขาจะได้รับการช่วยเหลือจากฉันในวันกิยามะฮฺ” 

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบารอนีย์)

          สำหรับสถานะของหะดีษนี้ นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยท่านอัสสูยูตีย์มีความเห็นว่าหะดีษนี้มีสถานะหะสัน ขณะที่ชัยค์อัล-อัลบานีย์มีความเห็นว่าเฏาะอีฟ สำหรับอุลามาอ์ร่วมสมัย เช่น ชัยค์บินบาซ กล่าวว่า ฉันไม่ทราบสถานของหะดีษนี้ว่าเศาะฮีหฺหรือไม่ เพียงแต่ศาสนาส่งเสริมให้กล่าวเศาะละวาตมากๆ ไม่ว่ายามเช้าหรือยามเย็นและทุกๆ เวลา 

(ฟะตาวา นุร อะลา อัดดัรบี ลำดับที่ 9691)