การอ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ ในวันศุกร์ เป็นซุนนะฮฺ หรือ ไม่?
เรียบเรียง ยะห์ยา หัสการบัญชา
บรรดาปราชญ์ส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นบรรดาปราชญ์จากสำนักฟิกฮฺหะนะฟีย์ ชาฟิอีย์ และฮัมบะลีย์ ตลอดจนปราชญ์ร่วมสมัยหลายท่าน เช่น ชัยคฺอับดุลอะซีซ บินบาซ ชัยคฺมุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานีย์ ชัยคฺมุฮัมมัด ศอลิหฺ อัลอุษัยมีน ชัยคฺศอลิหฺ เฟาซาน รวมทั้งกรรมมาธิการเพื่อการวินิจฉัยและตอบปัญหาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียต่างลงความเห็นว่าการอ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์ เป็นสุนนะฮฺ ที่สมควรกระทำ
ซึ่งบทบัญญัติในการอ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์มีหลักฐานจากหะดีษที่รายงานจากท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
“ผู้ใดก็ตามที่อ่านซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์ เขาจะได้รับแสงรัศมีส่องสว่าง
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันศุกร์ในสัปดาห์นี้ไปจนวันศุกร์ในสัปดาห์ถัดไป”
(บันทึกโดยอิมามอันนะสาอีย์ และอิมามอัลฮากิม)
วิเคราะห์หะดีษที่นักวิชาการหะดีษมีความเห็นต่างกัน
حديث أبي سعيد قال قال رسول الله صلى عليه وسلم: (من قرأ سورة الكهف يوم الجمعة أضاء له من النور ما بين الجمعتين). رواه النسائي والحاكم.
บรรดานักวิชาการหะดีษได้มีความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับสถานะของหะดีษบทนี้ โดยมีทั้งผู้ที่ลงความเห็นว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษมัรฟัวะอฺ(คือหะดีษที่สายสืบอ้างอิงไปถึงท่านเราะสูลฯ) เช่นชัยคฺอัลบานีย์ ฯลฯ และมีผู้ที่ลงความเห็นว่าเป็นหะดีษเมากูฟ(คือหะดีษที่สายสืบสิ้นสุดลงที่เศาะหาบะฮฺ หมายถึง ตัวของเศาะหาบะฮฺคือผู้กล่าวถ้อยคำในหะดีษนั้นๆ โดยท่านเราะสูลไม่ได้เป็นผู้กล่าว)
จากการประมวลสายรายงานและวินิจฉัยสถานะภาพของหะดีษแล้ว ทัศนะที่มีน้ำหนักและใกล้เคียงความถูกต้องที่สุดคือ หะดีษบทนี้เป็นหะดีษมัรฟัวะอฺ หุกมีย์/หุกมัน(คือ หะดีษที่เศาะหาบะฮฺเป็นผู้กล่าวหรือกระทำ โดยไม่ได้พาดพิงไปหาท่านเราะสูล โดยตรง แต่ทว่าเรื่องที่เศาะหาบะฮฺกล่าวหรือกระทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อนุญาตหรือไม่สามารถวินิจฉัยและคิดเอาเองได้ เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อ)
เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบแล้วจะพบว่าหะดีษบทนี้เป็นหนึ่งในหะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่สามารถคิดเอาเองหรือวินิจฉัยเองได้ ซึ่งคนๆหนึ่งไม่สามารถจะมาบอกกล่าวว่า ใครที่อ่านซูเราะฮฺนี้แล้วจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือใครทำละหมาดแบบนั้นแล้วจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ฯลฯ เพราะเรื่องผลบุญหรือรางวัลตอบแทนจากการทำความดีต่างๆนั้นต้องยึดถือเอาจากบทบัญญัติศาสนาที่มาจากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด
ซึ่งเศาะหาบะฮฺผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่ประเสริฐสุดในประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด และเป็นบรรดาผู้ที่ยำเกรงและปฎิบัติตามแนวทางของศาสนาอย่างเคร่งครัดแล้ว ท่านจะไม่มีทางกล่าวหรือคิดเอาเองในเรื่องนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเศาะหาบะฮฺชั้นแนวหน้าได้เป็นผู้ที่กระทำเรื่องนี้(อ่านซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี่)อย่างเป็นประจำด้วยแล้ว จึงทำให้การอ่านซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี่ในวันศุกร์มีรากฐานว่ามาจากแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัม เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺจะไม่ทำอะไรเป็นประจำ หรือยึดเอาการงานหนึ่งการงานใดมากระทำเป็นการเฉพาะ นอกจากว่าการกระทำนั้นมีแบบอย่างและแนวทางที่มาจากท่านนบี นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หะดีษนี้จึงเป็นหะดีษที่ถูกต้องและมีสายรายงานที่สืบไปถึงท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อลัยฮิ วะสัลลัมในทางอ้อม(หะดีษมัรฟัวะฮฺ หุกมัน)
วัลลอฮุ อะอฺลัม
อ้างอิงการฟัตวาจากเว็บไซต์ของสภานักวิชาการอาวุโสแห่งประเทศซาอุฯ กับเว็บสะฮาบอัสสะละฟียะฮฺ