การเยี่ยมกุโบรในวันอีด การประดับดาด้วยไฟ และอ่านอัลกุรอานในค่ำคืนเข้าวันอีด
แปลเรียบเรียง วาเฮด สุคนธา
ฟัตวา เชคอับดุลอาซีซบินบาซ และ เชคอิบนุอุษัยมีน
คำถาม
* หากฉันอ่านอัลกุรอานตั้งแต่ต้นจนจบที่บ้านหรือมัสยิด โดยอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ผลบุญจะถึงเขาหรือไม่ ?
* อนุญาตให้อ่านอัลกุรอาน เช่นซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ หรืออายะฮฺอื่น ๆ ที่กุโบรได้หรือไม่ ?
* อนุญาตให้เยี่ยมกุโบรในวันศุกร์หรือไม่ เหมือนที่ผู้คนบางส่วนได้ปฏิบัติกันมา โดยไปให้สลาม อ่านอัลกุรอาน หรืออ่านซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ แล้วจริงหรือไม่ที่ วิญญาณจะกลับมาในวันอีดและวันศุกร์ เพื่อมาตอบรับสลามแก่ผู้ที่ให้สลาม ?
คำตอบ
1. การอ่านอัลกุรอานและอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น ไม่ถึงผู้ตายแต่อย่างใด อีกทั้งถือเป็นการกระทำที่ไม่อนุญาตอีกด้วย และการอ่านอัลกุรอานที่กุโบรนั้นก็ไม่เป็นที่อนุญาตเช่นเดียวกัน
2. ไม่มีแบบอย่างการปฏิบัติจากท่านนบี ในการไปเยี่ยมกุโบรด้วยรูปแบบเฉพาะ เช่นเจาะจงค่ำคืนของวันศุกร์ หรือวันรื่นเริงของอิสลามคือวันอีด ส่วนการไปเยี่ยมกุโบรที่ไม่มีการกำหนดหรือเจาะจงนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกๆวันสามารถไปเยี่ยมได้หมด ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักฐานใด ๆยืนยันว่าวิญญาณจะกลับมาในค่ำคืนของวันศุกร์หรือวันอีดเพื่อมาตอบรับสลามของคนที่มาให้สลามที่กุโบร จากศูนย์ฟัตวาชี้ขาดปัญหาศาสนาประเทศซาอุดิอาระเบีย
คำถาม
* มีหลักฐาน เกี่ยวกับการเฉพาะเจาะจงการเยี่ยมกุโบรในวันอีดหรือไม่ ?
คำตอบ
ไม่มีหลักฐานใดๆ แท้จริงแล้วซุนนะฮฺของการเยี่ยมกุโบรนั้น คือกระทำเมื่อใดก็ได้ตามต้องการโดยไม่เจาะจง
(หนังสือมัจมัวะอฺอัลฟะตาวา เชคบินบาซ)
คำถาม
* ฮุกุ่ม เกี่ยวกับการเจาะจงเยี่ยมกุโบรในวันอีดทั้งสองและวันศุกร์ ดังกล่าวนั้น ทำเพื่อคนเป็นหรือคนตาย ?
คำตอบ
ไม่มีหลักฐานจากซุนนะฮฺของท่านนบี ถึงการเจาะจงเยี่ยมกุโบรในวันอีดทั้งสองและวันศุกร์ และการเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบิดอะฮฺ และข้าพเจ้าไม่รู้ว่านักวิชาการคนใดกล่าวถึงการปฏิบัติแบบนี้เลย
(หนังสือมัจมัวะอัรรอซาอิล เชคอิบนุอุษัยมีน)
คำถาม
* ในหมู่บ้านของฉัน เมื่อค่ำคืนของวันอีดิ้ลฟิตริหรือวันอีดิ้ลอัฎฮามาถึง ผู้คนส่วนมากที่รู้กันว่าพรุ่งนี้คือเช้าวันอีด พวกเขาจะพากันออกไปเยี่ยมกุโบร จุดเทียน และขอให้ผู้อาวุโสอ่านอัลกุรอานในนั้น การกระทำดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ ?
คำตอบ
การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่หลงผิดอย่างชัดเจน และเป็นเหตุให้ได้รับการสาปแช่ง ดังท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لعن زائرات القبور، والمتخذين عليها المساجد والسرج
“ท่านนบีได้สาปแช่ง(ให้พ้นจากความเมตตาของอัลลอฮฺ)บรรดาสตรีที่ใจไม่หนักแน่นแล้วไปกุโบร
และบรรดาคนที่ยึดเอากุโบรเป็นมัสยิดและจุดตะเกียงบนกุโบร”
(บันทึกโดยอบูดาวูดและอัตติรมิซีย์)
การออกไปเยี่ยมไปกุโบรในค่ำคืนของวันอีดนั้น เป็นอุตริกรรมในศาสนา แท้จริงท่านนบี มิได้เจาะจงการเยี่ยมในค่ำคืนของวันอีด ท่านนบี กล่าวอีกว่า
إياكم ومحدثات الأمور؛ فإن كل محدثة بدعة، وكل بدعة ضلالة، وكل ضلالة في النار
“และพวกท่านจงพึงระวังต่ออุตริกรรมทั้งหลายในศาสนา
เพราะทุก ๆ อุตริกรรม(บิดอะฮฺ)นั้นคือความหลงผิด และทุก ๆ ของความหลงผิดนั้นอยู่ในไฟนรก”
(บันทึกโดยอบูดาวูด และอัตติรมิซีย์ และหะดีษอยู่ในระดับฮะซันศอเฮี้ยะฮฺ)
ฉะนั้น อิบาดะฮ์ จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามสิ่งท่านนบี ปฏิบัติเอาไว้ ตามบทบัญญัติที่ถูกต้อง เพราะในเรื่องของอิบาดะฮ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกสิ่งเป็นที่ต้องห้ามนอกจากสิ่งที่มีหลักฐานมาสั่งใช้ให้กระทำ และที่สำคัญจากที่ผู้ถามได้ถามถึงการจุดไฟที่กุโบรในค่ำคืนของวันอีด ได้มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนถึงการห้ามกระทำดังที่ระบุในฮะดีษข้างต้นอีกด้วย
(จากหนังสือ มัจมัวะอฺอัลฟะตาวาอัรร่อซาอิลเชคอิบนุอุษัยมีน)