Palestine...ปาเลสไตน์ อดีตและปัจจุบัน
  จำนวนคนเข้าชม  99833

 

ปาเลสไตน์ อดีตและปัจจุบัน


          แผ่นดินปาเลสไตน์ มีหลายชนชาติเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านเมืองของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ชาวกันอานซึ่งเป็นชนชาติอาหรับ และเป็นบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์ ชาวกิบบิโอน ชาวฟิลิสติน ปาเลสไตน์เป็นชื่อเรียกดินแดนที่อยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำจอร์แดน ชื่อ "ปาเลสไตน์" มาจากคำว่า "Philistine" ซึ่งหมายถึงชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทางใต้ของดินแดนนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 27,009 ตร.กม.


         ดินแดนแถบนี้ก็ถูกปกครองโดยกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นบาบิโลน     อัสสิเรียน เปอร์เซีย กรีก โรมัน ในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน ชาวยิวกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นแข็งข้อต่ออำนาจของจักรพรรดิติตัสของโรมัน จักรพรรดิติตัสจึงสั่งทำลายกรุงเยรูซาเล็มซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเสียจนราบคาบ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 4 ปาเลสไตน์ก็ตกเป็นของชาวคริสต์ จักรพรรดิคอนสแตนติน ซึ่งเข้ารีตคริสต์ได้สร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม กลายเป็นสถานที่ดึงดูดให้คริสต์ศาสนิกชนเข้ามาจาริกแสวงบุญกันมากขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางระบบสงฆ์และนักบวชในศาสนาคริสต์ จนเกิดการสร้างโบสถ์และวิหารต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ดินแดนแถบนี้จึงกลายเป็นดินแดนแห่งสงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนต่างๆ


         จนกระทั่งสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินค็อฏฏอบได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของ อัมร์ บินอาศ มาเปิดดินแดนแถบนี้ ในปี ค.ศ. 636 (ฮศ.16) ประชากรที่เคยนับถือคริสต์ก็เริ่มแปรเปลี่ยนมานับถืออิสลามมากขึ้น จนประชากรส่วนใหญ่กลายเป็นชาวมุสลิมไปจนเกือบทั้งหมด ดินแดนนี้จึงมีความสันติสุขเรื่อยมาตลอดระยะเวลา 13 ศตวรรษ ยกเว้นช่วงเกิดสงครามครูเสดระหว่าง คศ.1099-1187 ซึ่งได้ถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันครอบครองจากสองชนชาติคือ อาหรับมุสลิมและอาหรับคริสต์ มานานกว่า 800 ปี มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาณาจักรอุษมานียะฮฺได้ครอบครองนานถึง 400 ปี


 

        ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ดร.คาอิม  ไวช์มันน์ นักเคมีชาวยิวสมาชิกกลุ่มไซออนนิสต์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด และได้เปลี่ยนสัญชาติจากลัตเวียมาเป็นอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1910 ได้ทำการคิดค้นดินระเบิดประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถผลิตเองได้โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย เนื่องจากก่อนหน้านั้นกองทัพอังกฤษใช้ดินระเบิดคอร์ไดท์ ซึ่งอังกฤษผลิตเองได้แต่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบสำคัญคือ อาซีโทน (Acetone) โดยอาซีโทนนี้จำเป็นต้องสั่งเข้าจากเยอรมันซึ่งเป็นคู่สงคราม เมื่อไม่มีวัตถุดิบ อังกฤษจึงประสบปัญหาใหญ่ในการทำสงคราม จนกระทั่งได้ ดร.คาอิม มาช่วย อังกฤษจึงยังคงสามารถเข้าร่วมรบในสงครามโลกต่อไปได้


          จากการช่วยเหลือของ ดร.คาอิม (ต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ กระทรวงทหารเรือของอังกฤษ ในช่วงปี 1916-1919) ทำให้อังกฤษซึ่งมีอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลางในช่วงนั้น ตอบแทนโดยการมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว โดย ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Lord. Arthur James Balfour) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามใน "สนธิสัญญาบัลฟอร์"  เมื่อปีค.ศ.1917 ซึ่งถือเป็นการมอบที่แปลกพิศดารและอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผู้มอบไม่ใช่เป็นเจ้าของที่แท้จริง ในขณะที่ผู้รับมอบเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรับ ส่วนเจ้าของที่แท้จริงไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งเรียกร้องโดยวาจา ได้แต่มองด้วยสายตาอันน่าเวทนา


          ขณะเดียวกันก็เกิดสนธิสัญญาขึ้นซ้อนอีกหนึ่งฉบับที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน  (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษในอียิปต์ ซึ่งไปตกลงกับชาวอาหรับว่า หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามกับเยอรมันแล้ว อังกฤษจะยกดินแดนบางส่วน รวมถึงปาเลสไตน์คืนให้แก่ชาวอาหรับ แต่เมื่อสิ้นสงคราม อังกฤษก็ยังคงยึดครองปาเลสไตน์โดยมิได้มอบให้แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เนื่องด้วยฝ่ายยิวและอาหรับต่างก็อ้างสนธิสัญญาที่ตนเองถือเป็นข้ออ้างในการครอบครองดินแดน

 

         ปี ค.ศ. 1923 องค์การสันนิบาตชาติ มอบหมายให้อังกฤษเป็นผู้ดำเนินการส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ชาวยิว แต่อังกฤษก็ยังคงครอบครองดินแดนไว้เพื่อใช้ต่อรองกับกลุ่มชาติอาหรับ ในการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าภายหลังสงคราม ดินแดนเจ้าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้ถูกส่งมอบให้แก่ฝ่ายไหนอยู่ดี อีกทั้งปัญหาการอพยพเข้ามาของชาวยิวจำนวนมากก็ยังทวีความวุ่นวายเข้าไปทุกขณะ โดยมีกลุ่มชาติอาหรับแสดงท่าทีไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด
 

         ปี ค.ศ. 1947 สมัชชาสหประชาชาติ ลงมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยแบ่งเอาดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ไปด้วย โดยมติดังกล่าวไม่ได้ขอความเห็นชอบจากชาวปาเลสไตน์เลยแม้แต่น้อย
 

         การแบ่งดินแดนในครั้งนั้น ทำให้ปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวยิว และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวมุสลิมอาหรับ


           ปี ค.ศ. 1948 มีการจัดตั้งรัฐยิวขึ้นอย่างเป็นทางการบนแผ่นดินปาเลสไตน์โดยมี เดวิด เบนกูเรียน (David Bengurion) เป็นผู้นำคนแรก โดยตั้งชื่อว่า รัฐอิสราเอล นับแต่นั้นมา อิสราเอลก็เริ่มปรากฏในแผนที่โลกในฐานะประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีแผ่นดินครอบครองเลย 

รัฐอิสราเอลถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นยามเฝ้าน้ำมันในตะวันออกกลางของอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา อิสราเอลมีหน้าที่หลักในการเป็นพันธมิตรของตะวันตกเพื่อสกัดกั้นและไล่กัดกระแสชาตินิยมอาหรับที่ต้องการควบคุมน้ำมันเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ แทนประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติตะวันตก

รัฐอิสราเอลเป็นรัฐเหยียดเชื้อชาติเพราะเป็นรัฐที่กีดกันคนที่ไม่ใช่ชาวยิว และที่สำคัญคือถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิดด้วยความรุนแรงโหดร้ายทารุณ บ่อยครั้งมีการเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อฆ่าชายหญิงและเด็ก ซึ่งเป็นวิธีสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวปาเลสไตน์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์หมดกำลังใจในการต่อสู้ และหลบหนีออกจากพื้นที่จนกลายเป็นผู้ลี้ภัยถาวรในค่ายรอบๆ อิสราเอล

 


         การสร้างรัฐอิสราเอลไม่ได้สร้างสันติภาพแต่อย่างใด เพราะอิสราเอลพยายามขยายพื้นที่และพรมแดนผ่านการทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์ รวมถึงมีการสร้างหมู่บ้านใหม่ให้ชาวยิวที่อพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อิสราเอลพยายามคุมชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ด้วยการสร้างภาพลวงตาว่าให้อำนาจในการปกครองตนเอง แต่ที่จริงมีการสร้างกำแพงล้อมรอบชุมชนชาวปาเลสไตน์ จนกลายเป็นคุกใหญ่เพื่อกักกันชาวปาเลสไตน์ การกำเนิดรัฐอิสราเอล ซึ่งถือเป็นลูกนอกสมรสของสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ พอเติบใหญ่ก็กลายเป็นเด็กเกเร เที่ยวระรานราวีสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนโดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์ แต่ก็มีพ่อแม่ใจทรามคอยให้ท้ายอยู่ตลอดเวลา สร้างความไม่พอใจให้ชนชาติอาหรับ จนกลุ่มชาติอาหรับจัดตั้งกองกำลังบุกเข้าอิสราเอล


           แต่ทุกครั้งที่เกิดสงคราม ก็ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของชาติอาหรับ และปาเลสไตน์ก็ต้องเสียดินแดนไปทุกครั้ง โดยเฉพาะ "สงคราม 6 วัน" ในปี ค.ศ. 1967  ประธานาธิบดีนัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ส่งกองกำลังทหารกว่า 7 แสนนาย จากความร่วมมือของ 7 ชาติอาหรับ เข้าถล่มอิสราเอลที่มีกองกำลังเพียง 2 แสนนายเท่านั้น เหตุการณ์กลับตาลปัตรกลายเป็นว่ายิวเป็นฝ่ายมีชัยในสงคราม อีกทั้งยังยึดดินแดนของฝ่ายชาติอาหรับมาเป็นของตน ไม่ว่าจะเป็นเขตกาซ่าตะวันออก แหลมซีนายของอียิปต์ ชายฝั่งตะวันตกบางส่วนของแม่น้ำจอร์แดน (เขตเวสต์แบงก์) ที่ราบสูงโกรันของซีเรีย นครเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก ซึ่งดินแดนที่ว่านี้ก็ยังถูกอิสราเอลครอบครองมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากชัยชนะครั้งนี้แล้ว อิสราเอลยังฉวยโอกาสนี้ทำการขับไล่ชาวอาหรับออกจากจากดินแดนของตนเป็นจำนวนมาก


          จากความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มชาติอาหรับลดความนับถือต่อประธานาธิบดี นัสเซอร์ เป็นอย่างมาก และยังทำให้ "องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์" (PLO : Palestine Liberation Organization) ที่เขาก่อตั้งขึ้น ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ มีการเลือกประธานคนใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้น นั่นคือนายยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat)

 

 

 

จากหนังสือ"ปาเลสไตน์ แผ่นดินที่ไร้ประชาชน เพื่อทรชนผู้ไม่มีแผ่นดิน"

ผู้เขียน : มัสลัน มาหะมะ

 

 อ่านต่อตอน 2>>>>Click