สิ่งกีดขวางจากสัจธรรม
  จำนวนคนเข้าชม  2846


สิ่งกีดขวางจากสัจธรรม
 

อาบีดีณ โยธาสมุทร เรียบเรียง 
 

         พวกเราหลายๆคนอาจจะเคยรู้สึกสงสัยและแปลกใจกับพฤติกรรมของผู้คนจำนวนไม่น้อยบนโลกนี้ ซึ่งบางครั้งและบางกรณีคำว่า คนจำนวนไม่น้อยในที่นี้ก็อาจจะหมายถึงตัวของพวกเรา ตัวของคนเขียนและตัวของท่านผู้อ่านทั้งหลายเองด้วยก็เป็นได้

         เราคงแปลกใจกันไม่น้อยที่เมื่อเรื่องราวใดๆก็แล้วแต่เรื่องราวหนึ่ง ได้รับการพิสูจน์ยืนยันอย่างหนาแน่นแล้วว่าเป็นเรื่องที่เป็นความถูกต้อง เป็นเรื่องจริง เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องให้การยอมรับและเชื่อถือ แต่แล้วก็กลับมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยืนกรานที่จะปฏิเสธ ยืนกรานที่จะไม่เชื่อ ไม่ยอมรับ อีกทั้งพวกเขายังจมปลักอยู่กับสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อกันมาหรือเคยทำๆกันมา ทั้งๆที่ตัวของพวกเขาเองก็รู้ดีว่า มันผิด มันไม่ใช่ ท่าทีเหล่านี้มันเป็นอะไรที่น่าแปลกใจ !
 

          อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้พวกเขายังคงเลือกที่จะไม่ลืมหูลืมตาอยู่อีก? อะไรคือ สิ่งกีดขวางที่เข้ามาหักห้ามพวกเขาไม่ให้ตอบรับต่อสัจธรรมอย่างสมควร? อินชาอัลลอฮฺวันนี้ ในบทความนี้ เราจะเข้ามาทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ผ่านทางข้อมูลที่ท่านเชค อับดุ้รร้อฮฺมาน บิน นาศิ้ร อั้ซซะอฺดี้ ได้ประมวลไว้ ซึ่งบรรดาเรื่องราวที่ถือเป็นอุปสรรคกีดกันผู้คนไม่ให้หันมายอมรับต่อสัจธรรมอย่างจริงจังตามที่ท่านเชคประมวลไว้ที่พอจะสรุปได้มีดังนี้

 

          1. ความเขลา และการไม่รู้จักว่า สัจธรรม คือ สัจธรรม ไม่รู้ว่า ความจริง คือ ความจริง ซึ่งเจ้าความเขลาที่กำลังพูดถึงอยู่นี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทด้วยกัน ได้แก่

     ก. ความเขลาพื้นๆ ขั้นปกติ อย่างที่เกิดกับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ตัดสินใจอะไรเองไม่ค่อยได้ หาความรู้เองไม่ค่อยเก่งนัก หัวหน้าว่ายังไงก็ว่าตามกัน บรรพบุรุษเชื่อมายังไงก็เชื่อๆตามกันไป สังคมเคยมีธรรมเนียมมายังไงก็ทำๆตามเขาไปจะได้ไม่ผ่าเหล่า ไม่กลายเป็นแกะดำ กลุ่มนี้มีลักษณะประมาณนี้ พอถึงช่วงที่จะถูกลงโทษ ตอบแทนในสิ่งที่พวกตนทำมา พวกเขาก็จะอ้างขึ้นมาว่า

          "พระเจ้าของข้าพระองค์ พวกเราเคยสวามิภักดิ์ต่อพวกหัวหน้าของเราและพวกผู้มีอำนาจของพวกเรามาก่อน แล้วพวกเขาก็ทำให้พวกเราหลงออกจากทางไป"

(อั้ลอะฮฺซ้าบ/67)

     ข. ความเขลาซ้อนเขลา เป็นความเขลาระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มีความเขลาชนิดนี้มักจะไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังเขลา ตัวอย่างเช่น คนที่ยึดติดกับพื้นเพเดิมของตนแบบไม่ลืมหูลืมตา โดยที่ตัวเองก็รู้หมดว่าอะไรเป็นยังไง แต่สุดท้ายก็คิดว่า ตัวฉัน พวกฉัน อาจารย์ฉัน และธรรมเนียมของพวกฉันนี่แหละที่ถูกต้องที่สุด วั้ลลอฮุ้ลมุซตะอาน คนพวกนี้เป็นพวกที่ออกมาปฏิเสธความจริงอย่างเต็มใจ ปิดหูปิดตาตัวเองอย่างภาคภูมิ รู้สึกดีกับความเขลาของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่เมื่อมีคนเอาความถูกต้องมาบอกมาสอนและมาตักเตือน พวกเขาก็มักจะไม่ตอบรับข้อมูลความถูกต้องเหล่านั้นเท่าไหร่นัก

          "และเช่นนี้นี่เอง ที่เราไม่ได้ส่งผู้ตักเตือนไม่ว่าจะเป็นคนใดก็ตามแต่ที่มาก่อนเจ้าไปหาหมู่บ้านใดซักหมู่บ้านหนึ่งนอกจากพวกที่ติดสบาย(คนชั้นสูง)ของหมู่บ้านนั้นๆจะพูดกันออกมาว่า พวกเราเคยพบว่า บรรพบุรุษของพวกเราเขาอยู่กันบนวิถีๆหนึ่ง และพวกเราก็เป็นพวกที่เดินตามรอยของพวกเขาอยู่"

 (อั้ซซุครุฟ/23)

          หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น คนที่หลงกับวิทยาการสมัยใหม่จนเกินเหตุ กลายเป็นคนสายตาสั้นตีกรอบความรู้ไว้แค่เพียงสิ่งที่มันสามารถสัมผัสรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและสิ่งที่สามารถพิสูจน์ตรวจสอบกันได้ในเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น เสร็จแล้วก็ปิดปัดช่องทางการเข้าถึงความรู้ช่องทางอื่นๆทิ้งไป และยัดเยียดข้อหา “งมงาย” ให้กับช่องทางการเรียนรู้เหล่านั้น กลายเป็นว่าอะไรที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ จะกลายเป็นเรื่องโง่เง่าเต่าตุ่นกันไปทั้งหมด ความเชื่อเรื่องพระเจ้ากลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เรื่องมะลาอิกะฮฺ เรื่องบรรดาร่อซู้ล และเรื่องราวต่างๆที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสปกติของมนุษย์ กลายเป็นเรื่องเหลวไหลคร่ำครึในสายตาของพวกเขาไปเสียหมด 

         "ครั้นเมื่อ บรรดาร่อซู้ลของพวกเขาได้นำหลักฐานอันชัดแจ้งมาให้พวกเขา พวกเขากลับรู้สึกภูมิอกภูมิใจกับวิชาการที่พวกตนมีอยู่ และแล้วสิ่งที่พวกเขาเคยดูถูกกันไว้ก็เกิดขึ้นจริงกับพวกเขา"

(ฆอฟิร/83)

         สิ่งที่ต้องเตือนสังคมมุสลิมปัจจุบันเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ พวกเราต้องตระหนักไว้ให้มากว่า ชุดความคิดนี้เป็นชุดความคิดที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตามโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ลูกๆหลานๆ ของพวกเราหลายๆคนกำลังเรียนอยู่ ซึ่งโรงเรียนได้ใช้หลักสูตรที่สอดแทรกชุดความคิดแบบนี้เอาไว้ ถ้าหากเราปล่อยให้พวกเด็กๆของเราเข้าไปเรียนรู้ ไปทำความรู้จักโดยที่พื้นฐานเรื่องศาสนาโดยเฉพาะเรื่องอะกีดะฮฺของพวกเขายังไม่แน่นพอ โอกาสที่เด็กๆจะซึมซับเอาความคิดนั้นมาใส่ตัวของพวกเขาไว้ก็มีมากและเป็นไปได้ง่าย ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ความคิดได้รับการบ่มเพาะจนสุกงอมเมื่อนั้นก็จะส่งผล ทำให้พวกเขามองว่าพวกเขานี่แหละที่กำความรู้และกำความจริงและความถูกต้องไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว มองว่าพวกตัวเองเหนือกว่าคนอื่นเขา ฉลาดกว่าใครๆเขา รู้เรื่องและรู้จักความจริงแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจะส่งผลนำพาไปสู่การดูแคลนศาสนาและดูถูกคนที่ยึดมั่นในศาสนาไปได้ในที่สุดนั่นเอง วั้ลลอฮุ้ลมุ้สตะอาน

          ดังนั้น ก่อนป้อนลูกเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือแม้แต่ขณะที่ป้อนลูกให้กับระบบการศึกษาดูแลแทนเราแล้ว คนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นฉีดวัคซีนเตาฮีดให้แก่ลูกๆของตัวเองให้แน่นอยู่เสมอๆ อย่าปล่อยให้พวกเขาไปเสี่ยงโดยลำพังเด็ดขาด อย่าวางใจกับหลักสูตรการศึกษามากนัก การป้อนลูกเข้าระบบการศึกษาไม่ได้แปลว่า อะมานะฮฺของพ่อแม่ผู้ปกครองจบสิ้นแล้วนะ มีอะไรก็ปล่อยให้ครูสอนหมด ความจริงลูกคือลูกคุณ คุณต้องรับผิดชอบให้เต็มที่ครับ

          ฉะนั้นอย่าลืมว่า เด็กๆเป็นสิ่งถูกสร้างที่อ่อนแอมาก ไวต่อสิ่งเร้ารอบตัว ขนาดกับเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและการเจริญเติบโตของพวกเขาเรายังเป็นห่วงเป็นใย แล้วถ้าเป็นเรื่องศาสนาเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา จะให้เราปล่อยปะละเลยแล้วว่ากันไปตามกระแส ไม่ต้องเข้มงวดกวดขัน ไม่ต้องห่วงไม่ต้องใยเลยได้ยังไง วั้ลลอฮุ้ลมุวั้ฟฟิก

 

          2. ความอิจฉาตาร้อน ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดีและมีเกียรติกว่าพวกตนเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เคยเป็นสาเหตุของการปฏิเสธความจริงที่เกิดกับพวกยะฮู้ดและพวกคนที่เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นพวกหัวโจกชาวกุร้อช มาแล้ว ดังนั้น พวกเราต้องระมัดระวังเรื่องนี้เอาไว้ให้มาก ซึ่งความรู้สึกนี้มีที่มาที่ไปจากความหยิ่งและความยะโส 

          "และพวกเขาก็พากันปฏิเสธมัน(บรรดาสัญญานของพระเจ้าที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ทูตของพระเจ้านั้น พูดจริง) อย่างอธรรมและยะโส ทั้งๆที่จิตใจของพวกเขาเองก็ให้การเชื่อถือต่อมันอยู่ ดังนั้น เจ้าจงดูซิว่า บั้นปลายของพวกที่ก่อความเสื่อมเสียนั้นจะเป็นกันเช่นไร"

 (อันนั้มล์/ 14)

 

          3. การผินหลังให้กับหลักฐานที่ถูกต้องและหันไปยึดติดอยู่กับความเห็นและมุมมองที่มันผิดๆเพี้ยนๆ

          "และใครก็ตามที่ผินหลังออกจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงเมตตา เราก็จะให้มีไชตอนเข้าไปประกบอยู่กับเขาซึ่งมันก็จะมาเป็นคู่หูของเขา. และพวกมันก็จะคอยขัดขวางพวกเขาให้พ้นออกไปจากทาง ในขณะที่ตัวของพวกเขาเองก็คิดไปว่า พวกตนกำลังได้รับการชี้นำให้อยู่บนทางที่ถูกต้องอยู่"

 (อั้ซซุครุฟ/ 36-37)

 

          4. ความดื้อ ซึ่งหมายถึงการยืนกรานปฏิเสธความจริงทั้งๆที่รู้ว่ามันคือความจริง ความดื้อนี้ส่งผลทำให้พวกที่มีอาการดื้อดึงถูกลงโทษด้วยการพลิกหัวใจให้กลับตาลปัตรลง ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจและมองอะไรๆ มั่วไปหมด เห็นผิดเป็นชอบ 

          "และเราก็ได้ทำให้หัวใจและสายตาของพวกเขาพลิกกลับลง เยี่ยงเดียวกับที่พวกเขาไม่ยอมศรัทธากันมาก่อนตั้งแต่ตอนแรก และเราก็ได้ทิ้งพวกเขาให้สับสนอยู่กับการละเมิดของพวกเขาเอง"

 (อั้ลอันอาม/110)

 

         5. ความฟุ้มเฟ้อ ติดหรู ติดสบาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนที่ติดอยู่กับเรื่องพวกนี้รู้สึกกังวลกับการที่จะต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากจะต้องมาก้มหัวให้กับความถูกต้องและสัจธรรม พวกเขาเลยเลือกที่จะเดินตามอารมณ์และความอยากของตัวเองเพื่อรักษาความฟุ้งเฟ้อไว้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการที่จะต้องหลงทางออกจากสิ่งที่ถูกต้องก็ตาม 

  

          6. ความรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนบรรดาบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นทูตของอัลลอฮฺ (บรรดาร่อซู้ล อลัยฮิมุ้สสลาม) และผู้ที่ตอบรับคำเรียกร้องของพวกท่าน 

          "แล้วพวกคนที่มีอิทธิพลของพวกที่ปฏิเสธซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากหมู่ชนของเขาก็ได้พูดขึ้นมาว่า พวกเราเห็นว่าเจ้าเองก็เป็นคนเหมือนๆกับพวกเราเท่านั้นเอง และยังเห็นอีกด้วยว่า พวกบุคคลที่ดำเนินตามเจ้านั้น ก็มีแต่พวกคนชั้นต่ำๆของพวกเราที่เป็นพวกที่มีความคิดทึ่มๆเท่านั้นเอง และเราก็ไม่เห็นว่าพวกเจ้าจะมีอะไรดีไปกว่าพวกเราซักนิด ยิ่งไปกว่านั้นพวกเรายังเชื่อว่าพวกเจ้ามันเป็นพวกโกหกอีกด้วย"

(ฮู้ด/ 27)

 

          7. การมองว่า ความฉลาดหลักแหลม ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และพัฒนาการของสติปัญญาของคนมีเฉพาะในยุคสมัยของพวกตนเท่านั้น ส่วนคนยุคอื่นๆที่มาก่อนหน้าพวกตนเป็นพวกล้าหลังกันไปหมด

 

          8. การถูกลวงด้วยวาทะกรรมบางอย่างที่เข้ามาทำให้ตนมองสิ่งต่างๆ ผิดไปจากข้อเท็จจริงที่มันเป็น เช่น การอ้างว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องงมงาย  และมองว่า ความรู้สมัยใหม่เท่านั้นที่เป็น ความฉลาดหลักแหลม ทันสมัย และมีอารยะ....ฯลฯ

 

 

وصلى الله على محمد وآله وصحبه أجمعين

 

 (สรุปจากตอนท้ายของหนังสือ سؤال وجواب في أهم المهمات ของ เชคอับดุ้รร่อฮฺมาน บิน นาศิ้ร อั้ซซะอฺดี้ย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ)