การเอี๊ยะอฺติกาฟสำหรับมุสลิมะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  8313


การเอี๊ยะอฺติกาฟสำหรับมุสลิมะฮฺ

 แปลและเรียบเรียงโดย อับดุลวาเอด สุคนธา

 

คำถาม :  

          มีบทบัญญัติเรื่องการเอี๊ยะอฺติกาฟสำหรับบรรดาสตรีมุสลิมะฮฺหรือไม่อย่างไร ? หากเป็นที่อนุญาตให้เอี๊ยะอฺติกาฟ สถานที่ใดเหมาะสมแก่นาง ? มัสยิดที่มีผู้ชายละหมาดญะมาอะฮฺกันหรือที่ไม่มีญะมาอะฮฺ หรือบ้านพักของพวกนาง ?

 

คำตอบ :

         ฮุก่มของการเอี๊ยะอฺติก๊าฟนั้นไม่มีข้อขัดแย้งใด จากปวงปราชญ์ทั้งสี่มัสฮับว่า การเอี๊ยะอฺติก๊าฟนั้นมีบัญญัติให้กระทำทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอน ทว่านักวิชาการได้ขัดแย้งดังต่อไปนี้ 

     * ท่านอิมาม المرغيناني กล่าวว่า สำหรับการเอี๊ยะอฺติก๊าฟของบรรดาสตรีนั้น คือที่บ้านของนาง (หมายถึงสถานที่ที่พวกทำการละหมาด) 

     * ท่านอิมาม ابن جلاب กล่าวว่า สำหรับบรรดาสตรีนั้น ไม่ให้เอี๊ยะอฺติก๊าฟที่บ้านของนาง ทว่าให้เอี๊ยะอฺติก๊าฟที่มัสยิด เหมือนผู้ชายกระทำ

     * ท่านอิมามชาฟีอีย์ กล่าวว่า บรรดาสตรี ทาส และคนเดินทางนั้นจะเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่ใดก็ได้(จากสถานที่ละหมาด)ตามที่ต้องการ

     * ท่านอิมาม อิบนุกุดามะฮฺ กล่าวว่า สำหรับบรรดาสตรีนั้นสามารถเอี๊ยะอฺติก๊าฟได้ทุกมัสยิด โดยไม่มีเงื่อนไขด้วยว่ามัสยิดนั้นต้องเป็นมัสยิดที่ทำการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

          นักวิชาการได้ขัดแย้งในเรื่องของการเอี๊ยะอฺติก๊าฟของบรรดาสตรีในมัสยิดที่ผู้ชายละหมาดญะมาอะฮฺ เป็น 2 ทัศนะ ด้วยกัน

* ทัศนะที่ 1

          มีบัญญัติให้มุสลิมะฮฺทำการเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิดที่มีการทำละหมาดญะมาอะฮฺของผู้ชาย แต่ไม่อนุญาตให้นางเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่บ้านของนาง (ทัศนะของอิมามมาลีกีย์ ชาฟีอีย์ และฮัมบาลีย์)

* ทัศนะที่ 2

          มักรูฮฺ คือ น่ารังเกียจ ที่มุสลิมะฮฺจะเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิดที่มีการทำละหมาดญะมาอะฮฺของผู้ชาย ทว่าให้นางเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่บ้านของนางเอง (ทัศนะอิมามฮานาฟีย์)

 

หลักฐานของ ทัศนะที่ 1 หลักฐานจากอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และคำวินิจฉัย

1. อัลกุรอาน อัลลอฮ์  ตรัสความว่า

وَأَنتُمْ عَاكِفُونَ فِي الْمَسَاجِدِ

“ขณะที่พวกเจ้าเป็นผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟอยู่ในมัสยิด”

 (อัลบะกอเราะฮฺ:187)

          จุดประสงค์ของอายะฮฺนี้หมายถึงการเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิดที่มีการทำการละหมาด โดยตัวอายะฮฺนั้นครอบคลุม ไม่ว่าจะชายหรือหญิง คนสูงอายุหรือคนทั่วไปก็ตาม

 

2. ซุนนะฮ์

          มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮาว่าแท้จริงท่านนบีนั้นได้อนุญาตนางกับท่านหญิงฮัฟเซาะฮฺเอี๊ยะอฺติก๊าฟกับท่านนบี  ด้วย ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮาได้กล่าวว่า

“ท่านนะบีได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในสิบคืนหลังของรอมฎอนจนกระทั่งท่านได้ถึงอะญัลของอัลลอฮฺ

ต่อมาบรรดาภรรยาของท่านได้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟหลังจากท่าน” 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์) 

          จากตัวบทข้างต้น ที่ท่านนบี  ได้อนุญาตให้บรรดาภรรยาทำการเอี๊ยะอฺติก๊าฟร่วมกับท่านนบี  ด้วยนั้น โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าท่านนบีทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิด ฉะนั้นจึงเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิดนั้นมีทั้งชายและหญิง

 

3. มติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์

         การที่เอี๊ยะอฺติก๊าฟที่มัสยิดนั้นเป็นเงื่อนไขสำหรับผู้ชาย ก็ถือเป็นเงื่อนไขสำหรับผู้หญิงเช่นเดียวกัน เหมือนกับกรณีของการตอวาฟที่บัยตุ้ลลอฮฺ

 

หลักฐานของ ทัศนะ ที่ 2 หลักฐานจากอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และคำวินิจฉัย

1. อัลกุรอาน 

وَأَنتُمْ عَاكِفُونَ فِي الْمَسَاجِدِ

“ขณะที่พวกเจ้าเป็นผู้ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟอยู่ในมัสยิด”

 (อัลบะกอเราะฮฺ:187)

          จุดประสงค์ของอายะฮฺนี้มัสยิดคือที่ที่นางทำละหมาด หมายถึงบ้านของนางเอง

 

2. ซุนนะฮ์

          มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่าแท้จริงท่านนบี  นั้นได้อนุญาตนางกับท่านหญิงฮัฟเซาะฮฺเอี๊ยะอฺติก๊าฟกับท่านนบี  ด้วย พวกนางก็ได้ให้มีที่กำบังขึ้นมาปกปิดนาง เมื่อท่านหญิงซัยนับเห็น จึงทำที่กำบังบ้างเช่นกัน แต่เมื่อท่านนบี  ทราบการกระทำเหล่านั้นก็ถามขี้นว่า ทำอะไรกัน ดีแล้วหรือแบบนี้ ? แล้วสั่งให้ขจัดออกไป 

           จากตัวบทดังกล่าวที่ท่านนบี  ให้ขจัดที่กำบังที่นางตระเตรียมเอาไว้สำหรับการเอี๊ยะอฺติก๊าฟ บ่งชี้ว่ามักรูฮฺสำหรับบรรดาสตรีที่จะเอี๊ยะอฺติก๊าฟมัสยิด (ทว่า ที่จริงแล้วนั้น การที่ท่านนบี  สั่งใช้ดังกล่าว ไม่ได้บ่งบอกว่า มักรูฮฺ การเอี๊ยะติก๊าฟของผู้หญิงที่มัสยิด แต่เป็นไปได้ว่าท่านนบีเกรงว่าจะเกิดฟิตนะฮ์ ระหว่างบรรดาภรรยา จนออกจากเป้าหมายของการทำการเอี๊ยะติก๊าฟที่แท้จริง และอีกเหตุผลที่ท่านนบี  ไม่ได้สั่งใช้ภรรยาทุกคนทั้งหมดดังกล่าวอาจสร้างความคับแคบ เดือดร้อนแก่ผู้อื่นที่จะมาละหมาดที่มัสยิด)

 

3. มติเอกฉันท์ของปวงปราช์

          มัสยิดสำหรับผู้หญิงนั้นคือที่บ้าน ฉะนั้น สำหรับนางก็ให้เอี๊ยะอฺติก๊าฟที่บ้านของพวกนาง

 

          รอเญียะฮฺ (ทัศนะที่มีน้ำหนัก) : ทัศนะที่ถูกต้องกว่า จากความแข็งแรงในแง่ตัวบทหลักฐาน คือ ทัศนะที่หนึ่ง(วัลลอฮุอะลัม) และคำกล่าวอ้างของทัศนะที่สองนั้นอ่อนกว่า ฉะนั้น ไม่เป็นเรื่องมักรูฮฺสำหรับมุสลิมะฮฺในการเอี๊ยะติกาฟที่มัสยิด แต่การเอี๊ยะติก๊าฟที่บ้านของพวกนางเองถือว่าไม่ถูกต้อง

 

เงื่อนไขสำหรับสตรีทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิด ดังต่อไปนี้

     1. สถานที่ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟจะต้องเป็นที่เฉพาะสำหรับมุสลิมะฮ์เท่านั้น ไม่มีการปะปนระหว่างชายกับหญิง

     2. จะต้องไม่ก่อให้เกิดฟิตนะฮ์ในช่วงที่ทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ

     3. นางจะต้องดูแลสิทธิของสามีและครอบครัวอย่างครบถ้วน หากว่าการเอี๊ยะอฺติก๊าฟ ของนางนั้นไปลิดรอนสิทธิของสามี กรณีนี้ไม่ควรทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟ เพราะหน้าที่ของนางในการรักษาสิทธิของครอบครัวถือเป็นวายิบ (หากว่านางนั้นจะทำการเอี๊ยะอฺติก๊าฟจะต้องขออนุญาติสามีของนางก่อน)

 

สรุป  

          มีบัญญัติให้สตรีมุสลิมะฮฺเอี๊ยะอฺติก๊าฟในมัสยิดที่มีการทำละหมาดญะมาอะฮฺของผู้ชายได้ แต่ไม่อนุญาตให้นางเอี๊ยะอฺติก๊าฟที่บ้านของนาง และที่สำคัญนางจะต้องระวังสิ่งที่จะทำให้เกิดฟิตนะฮ์ หากการเอี๊ยะอฺติก๊าฟของนางไปสู่ฟิตนะฮ์นั้นให้ละทิ้งเสีย เพราะการทำเอี๊ยะอฺติก๊าฟถือว่าเป็นซุนนะฮ์ที่ส่งเสริมให้กระทำ แต่ถ้าซุนนะฮ์ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องห้าม การเลือกที่จะออกห่างสิ่งดังกล่าวถือเป็นการสมควรกว่าการเลือกทำซุนนะฮ์แต่ก่อให้เกิดฟิตนะฮ์