ความเป็นหลักฐานของอัสสุนนะฮฺในทางศาสนามัซฮับชาฟีอีย์
ดร.อาหมัด อัลฟารีตีย์
บรรดาอุละมาอฺทั้งหลายได้มีมติเป็นเอกฉันท์และเห็นพ้องต้องกันว่า “อัสสุนนะฮฺ” ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าเป็นหลักฐานในลักษณะที่มาเพื่ออธิบายในสิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอาน หรือในลักษณะเอกเทศที่มีอยู่เฉพาะในอัสสุนนะฮฺ เท่านั้น ท่านอิหม่ามอัช-เชากานีย์ กล่าวว่า
( إن ثبوت حجية السنة المطهرة واستقلالها بتشريع الأحكام ضرورة دينية ولا يخالف في ذلك إلا من لا حظ له في الإسلام )
“การยอมรับต่อความเป็นหลักฐานของอัสสุนนะฮฺ ที่บริสุทธิ์ และความเป็นหลักฐานได้โดยเอกเทศของมันในการบัญญัติหุกมต่างๆนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นทางศาสนา ที่ไม่มีผู้ใดเห็นขัดแย้งไปจากนี้ นอกจากผู้ที่ปราศจากโชคผลใดๆในอิสลามเท่านั้น”
คำกล่าวข้างต้นย่อมเป็นจริงแล้ว เพราะจะพบว่าไม่มีผู้ใดที่แสดงการขัดแย้งกับหลักฐานจากอัสสุนนะฮฺ อย่างชัดเจน นอกจากพวกเคาะวาริจญ์ และ เราะวาฟิฎ (ชีอะฮฺ) เท่านั้น เนื่องจากพวกเขาจะอาศัยเพียงหลักฐานที่ปรากฏเปิดเผย(ศอฮิร)จากอัล-กุรอานเท่านั้น แต่จะมองข้ามสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ ต่างๆไป จึงทำให้พวกเขาหลงผิดและเบี่ยงเบนออกไปจากหนทางที่เที่ยงตรง
มีอายะฮฺ หะดีษ คำกล่าวของเศาะหาบะฮฺและของนักปราชญ์อีกมากมาย แสดงถึงความจำเป็นที่มุสลิมจะต้องเอาแบบอย่างจากนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อเป็นการตะอฺซีมและยึดอัสสุนนะฮฺเป็นวิถีชีวิตด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติ เช่นคำตรัสของอัลลอฮ์
{ لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِى رَسُوْلِ اللهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ }
" โดยแน่นอน ในเราะซูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้า"
( อัลอัหฺซาบ:21)
« فَمَنْ رَغِبَ عن سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي»( رواه البخارى ومسلم )
"ดังนั้นใครก็ตามที่ปฏิเสธแบบฉบับของฉัน เขาไม่ใช่พวกของฉัน”
(รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูดกล่าวว่า
( اِتَّبِعُوْا وَلاَ تَبْتَدِعُوْا فَقَدْ كُفِيتُم)
" จงปฏิบัติตามและอย่าสร้างอุตริ แท้จริงมันถูกทำให้พอเพียง(ครบถ้วนสมบูรณ์)สำหรับพวกคุณแล้ว"
(อัดดาริมีย์, สุนัน อัดดาริมีย์, หน้า 65)
ท่านอัซซุฮรีย์กล่าวว่าฉันได้รับคำกล่าวจากนักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า
( الإعتصام بالسنة نجاة ) "การยึดมั่นในสุนนะฮฺเป็นทางรอดของชีวิต"
(อัดดาริมีย์, สุนัน อัดดาริมีย์, หน้า 96)
อุละมาอฺมัซฮับชาฟิอีย์
มัซฮับอิมามชาฟิอีย์เป็นมัซฮับหนึ่งที่รวยด้วยบุคลากรอุละมาอฺ ในบรรดาพวกเขามีอุละมาอฺที่อยู่ในระดับแนวหน้าและเป็นคลังแห่งวิชาความรู้ที่เป็นแหล่งอ้างอิงในหลายๆด้าน มีทั้งด้านวิชาตัฟสีรเป็นที่รู้จักกัน อย่างเช่น ตัฟสีรอิบนุ กะษีร ตัฟสีรอัลบะเฆาะวีย์ ตัฟสีรอัลญะลาไลยน์ ด้านฟิกฮฺ เช่น กิตาบ อัลอุมมฺของอิมามชาฟิอีย์ กิตาบ อัลหาวีย์อัลกะบีรของอัลมาวัรดีย์ กิตาบอัลบะสีฏ อัลวะสีฏและ อัลวะญีซของอัลเฆาะซาลีย์ กิตาบฟัตหฺอัลอะซีซของ อัรรอฟิอีย์ กิตาบมัจญ์มูอฺของอิหม่ามนะวะวีย์ กิตาบตุหฺฟะฮฺอัลมุหฺตาจญ์ของอลฮัยตะมีย์ เป็นต้น
ในด้านหะดีษ ก็มีหลายตำรา เช่น กิตาบสุนันอันนะสาอีย์ของอันนะสาอีย์ กิตาบอัสสุนันอัลกุบรอของอัลบัยหะกีย์ กิตาบชัรหฺอัสสุนนะฮฺของอัลบะเฆาะวีย์ กิตาบชัรหฺเศาะหี๊หฺ มุสลิม ริยาฎูศสอลิหีนและอัลอัรบะอูนอันนะวะวียะฮฺของอันนะวะวีย์ กิตาบฟัตหฺอัลบารีย์ของอิบนุ หะญัรอัสเกาะลานีย์ เป็นต้น
อุละมาอฺหลายท่านโดยเฉพาะอุละมาอฺร่วมสมัยที่มีระดับผู้นำในด้านวิชาหะดีษ เช่น ชัยค์อะหมัด ชากิร ¹ ชัยค์อัลอัลบานีย์และอื่นๆ ก็ยอมรับว่า มัซฮับชาฟิอีย์เป็นมัซฮับที่ใกล้ชิดกับสุนนะฮฺและอุละมาอฺมัซฮับนี้มีบทบาทมากที่สุดในการให้บริการวิชาการด้านสุนนะฮฺ ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่แปลก เพราะผู้ก่อตั้งมัซฮับนี้ คืออิมามชาฟิอีย์เป็นผู้ที่นำสุนนะฮฺกลับมามีบทบาทในด้านกฎหมายอิสลามและในด้านการปฏิบัติจนเขาได้รับสมญาว่าเป็น นาศิรุสสุนนะฮฺ หมายถึงผู้ค้ำจุนสุนนะฮฺ และท่านเป็นมุญัดดิดผู้ฟื้นฟูศาสนาของอัลลอฮฺในรอบร้อยปีที่สองด้วย
1 ดู อัชชาฟิอีย์, อัรริสาละฮฺ, หน้า5-8 ตัหฺกีกโดยอะหมัด ชากิร