การปลีกตัวออกห่างพี่น้องมุสลิม
โดย ชัยค์ อับดุลอะซีซ บิน บ๊าซ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์
คำถาม :
เรื่องมีอยู่ว่า ฉันกับพี่น้องของฉัน มีการตอบโต้กัน และเตือนกัน หลังจากนั้น เราก็ปลีกตัวออกห่างกัน ด้วยกับสาเหตุว่าฉันไปห้ามเขาไม่ให้ทำสิ่งไม่ดีไม่งาม การกระทำเช่นนี้นับว่า เป็นการปลีกตัวตามบทบัญญัติหรือไม่ ?
เพราะฉันเคยได้ยินหะดิษบทหนึ่งว่า “ไม่อนุญาตให้มุสลิมปลีกตัวออกจากกันเกินสามวัน” ขอท่านโปรดชี้แจงแก่ฉันด้วย ขออัลลอฮ์ประทานความจำเริญแก่ท่านด้วย
คำตอบ :
ฮะดิษที่ว่า ไม่อนุญาตให้มุสลิมปลีกตัวออกจากพี่น้องมุสลิมเกินสามวัน ในจำนวนสามวันนั้น คือ ข้อผ่อนผัน และการปลีกตัว(ไม่เกินสามวัน)นั้น คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดุนยา เมื่อเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับพี่น้องของท่าน โกรธเคืองกัน ให้เขาปลีกตัวออกห่างได้ไม่เกินสามวัน และผู้ที่ประเสริฐที่สุดคือ "ผู้ให้สลามก่อน"
ส่วนการปลีกตัวออกห่างเพื่ออัลลอฮ์ กับคนที่ฝ่าฝืน ไม่ถูกจำกัดด้วยกับจำนวน สามวัน สี่วัน หรือมากกว่านั้น ทว่าอนุญาต และเป็นบทบัญญัติให้ปลีกตัว สำหรับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนอย่างโจ่งแจ้ง ถึงแม้จะเกินนสามวันก็ตาม หรือจะหนึ่งปี หรือสองปี หรือมากกว่านั้นก็ตาม จนกว่าเขาจะกลับเนื้อกลับตัว หรือจนกว่าเขาจะเลิกพฤติกรรมที่หลงผิด และฝ่าฝืนนั้นไป
แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปลีกตัว (บอยคอต) ซอฮาบะห์กลุ่มหนึ่ง จำนวนสามคน เป็นเวลา ห้าสิบคืนด้วยกัน ครั้นเมื่อพวกเขาไม่เข้าร่วมสงครามตะบู๊ก โดยไม่มีข้ออนุโลมทางด้านบทบัญญัติ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการปลีกตัวห่างจากพวกเขา (คือไม่ปฏิสัมพันธ์ใดๆกับพวกเขา) และยังสั่งให้ผู้คนทำเช่นนั้นกับพวกเขา จนกระทั่งผ่านไป ห้าสิบคืน จากนั้นพวกเขาจึงกลับเนื้อกลับตัว และอัลลอฮ์ ก็ทรงตอบรับการกลับตัวของพวกเขา และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ประกาศถึงการกลับตัวของพวกเขา
เป้าหมายของการปลีกตัวออกจากคนทำความผิด และคนทำบิดอะห์ ไม่ถูกจำกัดระยะเวลาสามวัน ทว่าถูกจำกัดด้วยกับพฤติกรรมของคนทำบิดอะห์ หรือคนที่ฝ่าฝืนอัลลอฮ์ ที่กระทำอย่างโจ้งแจ้ง ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เขากลับตัว ลดเลิกจากการกระทำบิดอะห์และการฝ่าฝืน พี่น้องของเขาควรให้สลามแก่เขา(ยอมรับเขา) และเมื่อใดที่เขาดื้อดึงบนการฝ่าฝืน หรืออุตริกรรมอย่างโจ้งแจ้ง เขาก็สมควรได้รับการปลีกตัวออกห่าง
การปลีกตัวออกห่างจากเขานั้นเป็นบทบัญญัติหนึ่ง จนกว่าเขาจะกลับเนื้อกลับตัวในสิ่งดังกล่าว เว้นแต่ว่า การปลีกตัวออกจากเขา จะเป็นการเพิ่มความเลวร้ายที่หนักกว่า และจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียที่มากกว่า ดังนั้นจึงไม่ให้ปลีกตัวออกจากเขาในขณะนั้น เพื่อป้องกันจากสิ่งที่เป็นผลเสียที่หนักกว่า และความเลวร้ายที่มากกว่า
ตามกฏเกณฑ์ของบัญญัติอิสลามที่ว่า
“การกระทำความเสียหายที่เบาที่สุด เพื่อป้องการความรุนแรงกว่าที่จะตามมา”
“ และการได้รับผลดีที่สุด จากผลดีทั้งสอง ถึงแม้ว่า จะเสียผลประโยชน์ทางดุนยา จากการเลือกอันหนึ่งอันใดจากมัน ”
สรุปคือ เรื่องนี้สำคัญมาก บรรดาผู้คนก็มีความแตกต่างกันในเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อการปลีกตัวออกห่างมีประโยชน์เกิดแก่คนที่ทำความผิด และคนทำบิดอะห์ การปลีกตัวในช่วงระยะเวลาที่เขาดื้อดึงบนความผิด และการกระทำบิดอะห์ และเมื่อเขากลับตัว และประกาศจะกลับตัว พี่น้องมุสลิมต้องให้สลามแก่เขา (ยอมรับเขา)
และเมื่อใดก็ตามที่การปลีกตัวออกจากเขา จะเป็นการเพิ่มความเลวร้าย และเพิ่มความวุ่นวาย และมีผลเสียเกิดแก่บรรดาพี่น้องมุสลิมมากกว่าการที่เขาฝ่าฝืน และทำบิดอะห์ของเขา(ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเท่านั้น) หรือ เพิ่มความชั่วร้ายและความเสียหาย ดังนั้นจึงไม่ต้องปลีกตัวออกจากเขา (ในลักษณะแบบนี้) แต่ทว่าต้องเตือนเขาอย่างต่อเนื่อง หวังว่าเขาจะกลับมาสู่ความถูกต้อง ชี้แจงความผิดพลาด
และบรรดาพี่น้องมุสลิมจะต้องแสดงจุดยืนถึงการรังเกียจพฤติกรรมที่เขาทำ และปรามการกระทำของเขาด้วย จนกว่าเขาจะกลับมาสู่สัจธรรม พร้อมกับเอาใจใส่ในสิ่งที่จะทำให้เขาละเลิกจากความชั่ว และสาเหตุที่จะทำให้ผู้คนปลอดภัยจากเขา
แปลเรียบเรียง…อบูชีส
http://binbaz.org.sa/mat/9415