อุละมาอฺมัซฮับชาฟีอีย์และคุณูปการในการเชิดชูอัสสุนนะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  2034


อุละมาอฺมัซฮับชาฟีอีย์และคุณูปการในการเชิดชูอัสสุนนะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ

 

ดร.อาหมัด อัลฟารีตีย์ 

 

         อัสสุนนะฮฺเป็นวัหฺย์ของอัลลอฮฺที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อนำไปประกาศและเผยแพร่แก่ประชาชาติของท่าน อัสสุนนะฮฺนับว่าเป็นหลักการสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์และเป็นแหล่งที่มาของคำสอนศาสนาอิสลาม ทั้งที่เป็นหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติ (ฟิกฮฺ) และเกี่ยวกับหลักคุณธรรมจริยธรรมหรือมารยาทต่างๆ (อัคลาก)ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต 

 

          ส่วนมัซฮับอิมามอัชชาฟิอีย์นั้น เป็นมัซฮับหนึ่งจากสี่มัซฮับที่เป็นที่รู้จักและถูกยอมรับโดยประชาชาติอิสลามทั่วโลก เป็นมัซฮับหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อสุนนะฮฺนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างมาก จะเห็นได้ว่าอิมามอัชชาฟิอีย์เองซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมัซฮับนี้ถูกตั้งฉายานามโดยชาวมักกะฮฺว่า นาศิรุลหะดีษ หมายถึงผู้ช่วยเหลือ หรือ ผู้พิทักษ์รักษาหะดีษ หรือ สุนนะฮฺ ¹ ของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และอัสสุนนะฮฺเป็นรากฐานแห่งมัซฮับที่อิมามอัชชาฟิอีย์เองใช้เป็นที่ยึดมั่น และใช้ในการอ้างอิงในการพิจารณาวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาหลังจากคัมภีร์อัลกุรอาน จึงไม่แปลกหากจะมีสาวก ลูกศิษย์และผู้ศรัทธาในมัซฮับนี้จะสืบถอดและรับเป็นมรดกที่เป็นแนวทางด้านการยึดมั่นและหลักการเหมือนกับผู้นำของมัซฮับนี้ เพราะแนวทางนี้เป็นแนวทางของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ โดยเฉพาะบรรดาคุละฟาอฺ อัรรอชิดีน

 
ทำไมต้องตะอฺซีมอัสสุนนะฮฺ ?

         อัสสุนนะฮฺ คือแนวทางการดำเนินชีวิตของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือเป็นแหล่งอ้างอิงทางศาสนาที่สำคัญอันดับที่สอง รองจากคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งบรรดามุสลิมทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการเชื่อฟังและปฏิบัติตามท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยึดถือสุนนะฮฺของท่านนั้นเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)  ส่วนหลักฐานที่ระบุถึงความจำเป็นต้องปฏิบัติตามสุนนะฮฺนั้น มีมากมาย ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอาน และหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช่น

 

คำสั่งใช้ให้ปฏิบัติตามท่านเราะสูลศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในคำตรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า

{ قُلْ أَطِيْعُوْا اللهَ وَالرَّسُوْلَ فَإِنْ تَوَلَّوْا فَإِنَّ اللهَ لاَ يُحِبُّ الْكَافِرِيْنَ }

 จงกล่าวเถิด (โอ้มุหัมมัด) ว่า พวกท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามอัลลอฮฺและเราะซูล

 แต่ถ้าหากพวกท่านผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงรักผู้ที่ปฏิเสธทั้งหลาย” 

 ( อาลิอิมรอน /32)

    1. กำหนดโทษแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในคำตรัสของอัลลอฮฺตะอาลา ที่ว่า 

{ فَلْيَحْذَرِ الَّذِيْنَ يُخَالِفُوْنَ عَنْ أَمْرِهِ أَنْ تُصِيْبَهُمْ فِتْنَةٌ أَوْ يُصِيْبَهُمْ عّذَابٌ أَلِيْمٌ }

 “...ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา(มุฮัมมัดจงระวังตัวเถิดว่า

 เคราะห์กรรม(ฟิตนะฮฺ) จะประสบแก่เขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน

 (ซูเราะฮฺอันนูร/63 )

      2. ระบุว่าการกลับไปตัดสินด้วยสุนนะฮฺของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในคราวที่เกิดข้อขัดแย้งต่อกันนั้น เป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีศรัทธา(อีม่าน)ที่แท้จริง ดั่งช่วงท้ายจากคำตรัสของอัลลอฮฺตะอาลาก่อนหน้านี้ที่ว่า

{ فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِى شَيْءٍ فَرُدُّوْهُ إِلَى اللهِ وَالرَّسُوْلِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ }

“...ดังนั้นถ้าหากพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ดังนั้น ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและเราะซูลเถิด

หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก(อย่างแท้จริง)...” 

 (อันนิสาอฺ/59)

 หลักฐานจากอัลหะดีษ 

1. คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

((...فَعَلَيْكُمْ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الْمَهْدِيِّينَ الرَّاشِدِينَ تَمَسَّكُوا بِهَا وَعَضُّوا عَلَيْهَا بِالنَّوَاجِذِ ))

          “ดังนั้นพวกท่านจงปฏิบัติตามสุนนะฮฺของฉัน และสุนนะฮฺของบรรดาคุละฟาอฺอัรรอชิดีนผู้ได้รับทางนำ และผู้ปราดเปรื่องด้วยเถิด ขอพวกท่านทั้งหลายจงยึดถือมันไว้(อย่างมั่นคง)และกัดเอาไว้ด้วยฟันกราม” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด / และอัต-ติรมิซีย์ โดยกล่าวรับรองว่าเป็นหะดีษหะซัน เศาะหี๊หฺ)

 2. และคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า 

( فَإِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَيْءٍ فَاجْتَنِبُوْهُ ، وَإِذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَيْءٍ فَأْتُوْا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ )

          “..ดังนั้นหากฉันได้ห้ามสิ่งใดแก่พวกท่านก็จงขอให้ปฏิบัติตาม (ด้วยดี)และหากฉันกำชับใช้สิ่งใดไว้ ก็จงปฏิบัติมันอย่างสุดกำลังที่พวกท่านสามารถเถิด” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 7288 )

3. ในอีกคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

(( أَلاَّ إِنِّي أُوْتِيْتُ الْكِتَابَ وَمِثْلَهُ مَعَهُ....))

 มิใช่หรือว่า แท้จริงฉันนี้ได้รับอัลกุรอานมาพร้อมๆกับอีกสิ่งหนึ่ง ที่เสมือนเช่นมัน(หมายถึงสุนนะฮฺ)” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด และอัต-ติรมิซีย์)

4. และอีกคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

((أَلاَ وَإِنَّ مَا حَرَّمَ رَسُوْلُ اللهِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيهِ وَسَلَّمَ كَمَا حَرَّمَ اللهُ ))

         “มิใช่หรือ ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ศาสนทูต(เราะซูล)ของอัลลอฮฺกำหนดให้เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม)นั้น ก็เสมือนกับสิ่งที่อัลลอฮฺเองทรงกำหนดว่าเป็นสิ่งต้องห้าม” 

(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ และอัต-ติรมิซีย์ โดยกล่าวรับรองว่าเป็นหะดีษหะซัน เฆาะรีบ)

 

 สถานภาพของอัสสุนนะฮฺในทางบทบัญญัติอิสลาม

         ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคัมภีร์อัลกุรอานถือเป็นแหล่งอ้างอิงอันดับแรกของที่มาแห่งบทบัญญัติต่างๆทางศาสนา ขณะที่อันดับที่สองรองลงมาก็คือ อัสสุนนะฮฺ ซึ่งมีมาเพื่อทำหน้าที่อธิบาย ขยายความ ให้ความกระจ่างชัดในส่วนที่คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวไว้โดยรวมๆ คลี่คลายกรณีเรื่องราวต่างๆที่อาจถูกมองเห็นว่ามีความแตกต่างกัน บางทีทำหน้าที่ยืดขยายในส่วนที่อาจเป็นปมปัญหา และบางทีก็เจาะลึกในประเด็นต่างๆที่อาจถูกกล่าวไว้โดยกว้างๆ และย่อยสลายให้สาระสำคัญต่างๆของบทบัญญัตินั้นถูกเข้าใจได้อย่างง่ายดายขึ้นตามเจตนารมณ์ของอัล-กุรอาน 

อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสความว่า

{ وَأَنْزَلْنَا إِلَيْكَ الذِّكْرَ لِتُبَيِّنَ لِلنَّاسِ مَا نُزِّلَ إِلَيْهِمْ وَلَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُوْنَ }

 "และเรา(อัลลอฮ)ได้ประทานอัซซิกร์(อัล-กุรอาน)ลงมาแก่เจ้า(มุฮัมมัด) เพื่อเจ้าจะได้ชี้ แจง(ให้กระจ่าง)แก่มนุษย์

ซึ่งสิ่งที่ได้ถูกประทานมาแก่พวกเขา และเพื่อพวกเขาจะได้ไตร่ตรอง” 

(อัล-นะหฺล์ / 44 )

           ซึ่งบางครั้งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ทำหน้าที่อธิบายเจตนารมณ์ของอัซ-ซิกร์(อัลกุรอานนั้น)แก่อุมมะฮฺของท่านโดยคำพูด และบางครั้งก็อธิบายโดยการกระทำ หรือบางครั้งก็โดยความเข้าใจ 

ท่านอัลเอาซาอีย์   الأوزاعي  ให้ทัศนะว่า

( القرآن أحوج إلى السنة من السنة إلى القرآن )

“อัลกุรอานจำเป็นต้องอาศัย(การอธิบาย)จากอัสสุนนะฮฺ ยิ่งกว่าอัสสุนนะฮฺที่ต้องอาศัย(การอธิบาย)จากอัลกุรอาน” ²

ท่านอิมามอะหมัด กล่าวว่า

(السنة عندنا آثار رسول الله صلى الله عليه وسلم والسنة تفسر القرآن وهى دلائل القرآن ).

          “อัสสุนนะฮฺในทัศนะของเราคือร่องรอยของท่านเราะซูลุลลอฮฺ และอัสสุนนะฮฺมาเพื่ออธิบายและให้ความกระจ่างชัดเจนแก่อัลกุรอาน และเป็นคู่มือต่างๆของอัลกุรอาน)” ³

 

 

 


 

 

1 อัลบัยฮะกีย์, มะนากิบ อัชชาฟิอีย์,เล่ม 1 หน้า 472 และอัลอัสกัลลานีย์, ตะวาลี อัตตะสีสม, หน้า40

2 อิบนุ อัลมุฟลิหฺ, อัลอาดาบ อัชชัรอียะฮฺ. เล่มที่ 2 หน้า 307

3 อัชชัยค์อับดุลกอดิร บิน อัลบัดราน อัดดิมัชกีย์, อัลมัดคัล อิลา มัซฮับ อัลอิหม่าม อะหมัด บิน หันบัล,หน้า 69