ดูอาอ์คืออิบาดะฮ์
อาจารย์ อัชร็อฟ ทับทิม
ท่านพี่น้องที่เคารพทุกท่านครับ ก่อนอื่นผมขอเตือนตัวของผมเองพร้อมกับบรรดาพี่น้อง ถึงคำว่า”ตักวา” การยำเกรงต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ให้เกิดขึ้นในจิตใจและเกิดขึ้นต่อร่างกายของเราทุกท่านครับ
ท่านพี่น้องครับ คุตบะห์วันนี้ จะมาพูดถึงสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ศรัทธานั้น จำเป็นต้องน้อมนำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นศาสตราวุธของผู้ศรัทธา นั่นคือเสาของศาสนา เป็นรัศมีของแผ่นฟ้าและแผ่นดิน ถ้าใครก็ตามไม่ถือปฏิบัติ ไม่กระทำ ละเลย บุคคลนั้นก็ถือว่า เป็นบุคคลที่ยโสโอหังต่ออัลลอฮ์ อีกด้วย
สิ่งดังกล่าวนั้น ก็คือการขอดุอาหรือการขอพร อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ใน พระมหาคัมภีร์ อัลกุรอ่านในซูเราะห์ อัลฆอฟิร โองการที่ 60 ความว่า
”และพระผู้อภิบาลของเจ้า มีบัญชาว่า พวกเจ้าจงวิงวอนต่อเราเถิด เราจะตอบสนองพวกเจ้า
แท้จริงพวกที่เย่อหยิ่ง จองหองในการจงรักภัคดีต่อเรานั้น พวกเขาจะต้องเข้าสู่นรก ญะฮันนัม ในสภาพที่ต่ำต้อย”
ความหมายของโองการดังกล่าวนั้น คือ อัลลอฮ์ ได้ทรงจัดบรรดาบุคคลที่ไม่วิงวอนไม่ขอพรต่อพระองค์ให้อยู่กับบรรดาบุคคลที่มีความยโส โอหัง ในการจงรักภัคดีต่อพระองค์ และสำหรับพวกเขาเหล่านั้นจะต้องได้รับโทษ ในนรก ญะฮันนัม ในสภาพที่มีความต่ำต้อยอย่างที่สุด
ท่านพี่น้อง คำว่า “ الدعاء ” ความหมายตามรากศัพท์ หมายถึง”การเรียกร้อง เชิญชวน” ส่วนความหมายเฉพาะศาสตร์หมายถึง”การวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะให้ได้มาในสิ่งที่ขอ” การขอดุอานั้น ถือเป็นอิบาดะห์ เป็นการประกอบศาสนกิจชนิดหนึ่ง
ท่านนั๊วะมาน บิน บะซีร ได้เล่าว่า ท่านนบีมูฮำหมัด ได้กล่าวว่า
“ الدعاء هو العبادة ” มีความหมายว่า “การขอพรนั้น ถือเป็นการทำ อิบาดะห์”
เพราะแท้จริงการขอพรต่ออัลลอฮ์ นั้น เป็นการฉายภาพลักษณ์อันสูงสุดและชัดเจน ที่แสดงให้เห็นถึงความนอบน้อมถ่อมตน และการเป็นข้าทาสบริวารต่ออัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว การขอดุอา นอกจากจะเป็นการทำอิบาดะห์ชนิดหนึ่งแล้วดุอา ยังเป็นการระลึกถึงอัลลอฮ์ อีกด้วย การระลึกถึงอัลลอฮ์ จะทำให้หัวใจสงบ ช่วยขจัดภัยพิบัติ และช่วยในการลบล้างความผิดพลาดและบาปกรรมต่างๆที่เราได้ปฏิบัติ
ท่านพี่น้องครับ ส่วนเรื่องการที่อัลลอฮ์ จะตอบรับดุอานั้น มีหลายระดับด้วยกัน ซึ่งแต่ละระดับนั้น เป็นไปตามพระปรีชาชาญของอัลลอฮ์ ในการยังประโยชน์และความเหมาะสมที่จะมีขึ้นกับบ่าวของพระองค์ ท่านอบีสะอีดอัล-คุดรีย์ได้กล่าวว่า
แท้จริงท่านนบีมูฮัมหมัด ได้กล่าวว่า
“ไม่มีมุสลิมคนหนึ่งคนใดที่เขาได้ทำการขอดุอาหนึ่ง ซึ่งในดุอานั้นไม่มีการขอในสิ่งที่เป็นบาป ไม่มีการขอในการตัดสัมพันธ์ต่อเครือญาติ แน่นอนอัลลอฮ์ จะประทานให้กับเขา ด้วยกับการขอดุอาของเขา หนึ่งในสามประการ บางทีพระองค์จะทรงรีบเร่งประทานให้กับเขาในสิ่งที่เขาขอ หรือบางทีพระองค์จะทรงเก็บสะสมในสิ่งที่เขาขอ เพื่อจะประทานให้กับเขาในวันอาคีเราะห์ และบางทีพระองค์จะทรงป้องกันเขาให้พ้นจากความชั่ว เสมือนกับที่เขาขอ”
ท่านพี่น้องครับ จากคำกล่าวของท่านนบี เราจะรับรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ทุกครั้งที่พวกเรายกมือขอต่อพระองค์อัลลอฮ์ ด้วยสภาพที่ตัวเราสะอาด ใจที่บริสุทธิ์ แน่วแน่ต่อสิ่งที่ขอ แน่นอนอัลลอฮ์ จะตอบรับคำขอของเรา ตามประการที่อัลลอฮ์ทรงรู้ ทรงเห็นสมควรที่จะให้เกิดขึ้นกับเรา ประดุจดังลูกน้อยๆที่ยังไม่รู้เดียงสา ขอต่อเราด้วยกับมีดที่คมกริบ เพื่อไปเป็นเครื่องเล่นตามภาษาเด็กๆ แน่นอนเราจะไม่มีทางหยิบยื่นให้ลูกน้อยของเรา เพราะเรารู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยของเรา อัลลอฮ์ ทรงรอบรู้ลึกซึ้งมากกว่าพวกเรา
มารยาทหรือระเบียบการขอดุอานั้นมีอยู่หลายประการ ท่านอิหม่ามฆอซาลี ท่านได้กล่าวถึงมารยาทการขอดุอาไว้ 10 ประการด้วยกัน
1. ต้องคอยเฝ้าดูช่วงเวลาที่ประเสริฐสำหรับการขอดุอา เช่นวันอารอฟะห์ ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปี และในช่วงของเดือนรอมดอน ซึ่งเป็นเดือนสำคัญที่สุดในบรรดาเดือนต่างๆ และในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญวันหนึ่งในรอบสัปดาห์
2. ต้องถือโอกาสหรือฉวยโอกาส ในสภาพที่เหมาะสม เช่นในขณะถือศีลอด ในขณะซูญูด หรือในขณะที่เสร็จสิ้นจากการละหมาดฟัรดูทั้งห้าเวลา ดังรายงานจากท่านอบีอุมามะห์ ได้เล่าว่า
มีคนหนึ่ง ถามรอซูลว่า “โอ้รอซูลลุลลอฮ์ ดุอาใดที่จะได้รับการตอบรับมากที่สุด”
ท่านรอซูล ตอบว่า “ดุอาที่ทำการขอในช่วงสุดท้ายของค่ำคืน และช่วงหลังจากละหมาด 5 เวลา”
(รายงานโดยท่านตีรมีซีย์)
3. การขอดุอาโดยการผินหน้าไปยังทิศกิบลัต และยกมือทั้งสองข้างขณะที่ทำการขอ
4. ขอในเสียงที่พอดี ไม่ค่อยหรือดังเกินไป
5. มีความนอบน้อมถ่อมตนในการขอ
6. มีการวิงวอน การถ่อมตน มีความปรารถนาและความหวาดกลัวในการขอ
7. ต้องมีความมั่นใจว่าดุอาจะถูกตอบรับอย่างแน่นอน
8. ควรขอดุอาซ้ำ สามครั้ง
9. เริ่มต้นดุอา คั่นระหว่างดุอา และลงท้ายของการขอดุอา ด้วยการสรรเสริญอัลลอฮ์ และซอลาวาตแด่ท่านร่อซู้ล
10. ต้องมีการสารภาพผิดและขออภัยแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ และส่งของที่ทุจริตคืนให้เจ้าของสิทธิ ในกรณีที่เราได้ประพฤติมิชอบต่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้
นอกจากนี้ยังมีบรรดาการขอพรที่จะถูกตอบรับอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย เช่น ดุอาที่บุพการีขอให้แก่บุตร ดุอาของบุตรที่ดี ดุอาของผู้เดินทาง ดุอาของผู้ที่ถูกทุจริต หรือการดุอาของคอเต็บในคุตบะห์ที่สองก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายต้องให้ความสนใจ เพราะการขอดุอาดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในวันศุกร์และยังเกิดขึ้นในขณะที่เรารวมตัวกันอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่ได้ยินดุอาดังกล่าว ก็ให้ยกมือขึ้นและกล่าวคำว่า อามีน พร้อมเพรียงกัน เพราะการรวมตัวที่มีจำนวน 40 คนนั้น จะมี.... บุคคลที่อัลลอฮ์ รักร่วมอยู่ด้วย อันจะส่งผลให้พระองค์ทรงตอบรับดุอาของเขา ซึ่งมันก็จะเป็นผลานิสงค์ให้กับผู้อื่นด้วย
คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ