พ่อ แบบอย่างและคำสอนของความพอเพียง
  จำนวนคนเข้าชม  9302

 

 

พ่อกับแบบอย่าง และคำสอนของความพอเพียง

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข*


           เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาย่อมมีพ่อ แต่มนุษย์ไม่ทุกคนที่มีโอกาสได้เป็นพ่อ ตำแหน่งความเป็นพ่อจึงเป็นตำแหน่งที่มีเกรียติอย่างยิ่ง และถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษจากอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะประทานให้กับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น คนที่เป็นพ่อทุกคนจึงถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่อัลลอฮฺ ได้โปรดปรานให้เขามีลูกสืบสกุลและสืบสันดาน ไม่ว่าลูกจะเป็นหญิงหรือชายและไม่ว่าจะเกิดจากภรรยาที่ถูกต้องคนที่เท่าใดก็ตาม

           อัลลอฮฺ ได้ทรงสร้างมนุษย์ให้มีธรรมชาติสำคัญอย่างหนึ่งนั่นก็คือธรรมชาติของการเลียนแบบ พัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดาจนเติบใหญ่เป็นพัฒนาการที่เกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับบทบาทของผู้เป็นพ่อและเป็นแม่ในการเลี้ยงดูบุตรของตน เพราะถือว่าทั้งสองคือต้นแบบที่ลูกจะซึมซับเพื่อเลียนแบบทั้งด้านอารมณ์ นิสัย ภาษาและกิริยาท่าทาง

           ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงความสำคัญของทั้งสองไว้ในฮะดีษบทหนึ่งที่รายงานโดยอบูฮุรอยเราะฮฺ (รอฏิยัลลอฮุอันฮุ) ว่า:

    "  ماَ مِنْ مَوْلُوْدٍ إلا يُوْلَدُ عَلَى الْفِطْرَةِ ، فَأَبَواَهُ يُهَوِّداَنِه، أَوْ يُنَصِّراَنِه، أَوْ يُمَجِّساَنِه "

"เด็กทุกคนเกิดมาด้วยธรรมชาติอันบริสุทธ์

แล้วต่อมาไม่นานพ่อและแม่ของเด็กก็ชักนำเด็กไปนับถือศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนามะยูซ"     

(มุสลิม)

 หะดีษบทนี้ต้องการบอกถึงหลักความจริงสองประการคือ:

 1.) เด็กทุกคนนั้นบริสุทธิ์ ไม่ว่าเขาจะเกิดมาในสถานะใดก็ตาม

 2.) พ่อและแม่คือบุคคลสำคัญที่ทำให้เด็กแปดเปื้อนและออกห่างไกลจากความบริสุทธิ์

           ดังกล่าวนี้อิสลามจึงได้กำหนดบทบาทและหน้าที่อันทรงเกรียติแก่ผู้เป็นพ่อและแม่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรของตนให้ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ของอิสลาม และในฐานะที่พ่อเป็นต้นแบบของผู้นำครอบครัวที่ต้องรับภาระในการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค พ่อจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกๆ ในเรื่องของความพอเพียงซึ่งเป็นหลักที่สำคัญในการดำเนินชีวิตตามระบอบของอิสลาม

 

         สิ่งที่พ่อจะต้องสอนลูกและเป็นแบบอย่างกับลูกในเรื่องของความพอเพียงตามคำสอนของอิสลามพอสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้:

      1.) สอนให้ลูกมีความพอใจในสิ่งที่ตนเองมี และพอใจในสถานะของตนเองที่เกิดมา สอนลูกให้กล่าวคำว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” อยู่เสมอ และบอกลูกว่าการกล่าว”อัลฮัมดุลิลลาฮฺ”จะทำให้ใจเรามีความสุข

      2.) สอนให้ลูกมองดูสถานะของคนที่ด้อยกว่าและอ่อนแอกว่าซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม อย่าสอนให้ลูกมองดูสถานะของคนที่สูงกว่าและร่ำรวยกว่า เพราะอาจทำให้หัวใจที่อ่อนแอเกิดความสลดหดหู่ได้

      3.) สอนให้ลูกเป็นคนอดออมและมัธยัสถ์โดยพ่อต้องทำเป็นแบบอย่าง เช่น พ่อจะต้องทำให้ลูกได้เห็นว่ากว่าพ่อจะซื้อโทรทัศน์มาให้ลูกดูหนึ่งเครื่องพ่อจะต้องอดออม เพื่อเก็บเงินเป็นเวลาหลายเดือน ดังนั้นเมื่อลูกต้องการอยากได้สิ่งใดก็ให้ลูกฝึกการอดออมเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา เป็นต้น

       4.) สอนให้ลูกไม่ฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อไปตามสมัยนิยม ให้รู้จักใช้จ่ายอย่างพอประมาณ รู้ว่าอะไรจำเป็นก่อนจำเป็นหลัง และทุกครั้งที่พ่อให้เงินลูกใช้  พ่อควรนะซีฮัต (แนะนำตักเตือน) ลูกทุกครั้งไป

      5.) สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าและมูลค่าของทรัพย์สินที่อัลลอฮฺ ประทานให้มา แม้ว่าทรัพย์สินบางอย่างจะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยและไร้ค่า พ่อควรสอนลูกและทำเป็นแบบอย่างให้กับลูกในสิ่งต่อไปนี้:

 5.1) รับประทานอาหารให้หมดจานและเก็บอาหารที่ตกหล่น หากรับประทานด้วยมือให้ดูดนิ้วหลังรับประทานเสร็จ

 5.2) พยายามซ่อมแซมของใช้ภายในบ้านด้วยตนเอง รวมทั้งเครื่องแต่งตัวเช่น เสื้อผ้าและรองเท้าเท่าที่สามารถทำได้ สิ่งใดที่ไม่ใช้แล้วควรรวบรวมไว้เพื่อบริจาคแก่ผู้ยากไร้

 5.3) เก็บรวบรวมและแยกขยะภายในบ้านที่สามารถนำไปรีไซเคิ้ลได้ เช่น ขวดน้ำ กล่องนม กระดาษและพลาสติกต่างๆ เพื่อนำไปขาย สอนให้ลูกได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีคุณค่าและประโยชน์สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ และยังช่วยลดปัญหามลภาวะและปัญหาโลกร้อนอีกด้วย ส่วนเงินที่ได้มาควรให้ลูกใส่กระปุกออมไว้เพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียน ของเล่น หรืออื่นๆที่ต้องการ

 

           ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนเกี่ยวกับความพอเพียงที่ได้ประมวลมาจากแบบฉบับของท่านนบีมูฮัมมัด  ทั้งสิ้น จึงขอฝากคำสอนเหล่านี้ให้กับคุณพ่อทุกคนได้นำไปสอนและทำเป็นแบบอย่างแก่ลูกๆ เพื่อชีวิตที่พอเพียง ซึ่งเป็นเสมือนคลังสมบัติที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักหมด ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:

 " اَلْقَناَعَةُ كَنْزٌ لاَ يَفْنَى   "
 
“ความพอเพียงคือคลังสมบัติที่ไม่รู้จักหมด”

( อัลบัยฮะกีย์ )

 

ขออัลลอฮฺ ได้ทรงชี้นำทางที่ถูกต้องแก่ผู้อ่านทุกคน    อามีน