มารู้จักคุณอนันต์ของความเจ็บป่วย
  จำนวนคนเข้าชม  3066


มารู้จักคุณอนันต์ของความเจ็บป่วย 


 

โดย…. อ.อับดุลฮามี๊ด บรอฮีมี

 

          หากมนุษย์ พยายามที่จะรู้ถึงคุณอันอนันต์ ของความเจ็บป่วยด้วยการพิจารณาอย่างละเอียด เขาก็พบว่า มันมีมากกว่าความรู้สึกเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วยมากมายนัก แต่เรื่องนี้ต้องมีความอดทนและความแน่วแน่ของจิตใจ โดยที่ผู้ศรัทธานั้น ไม่ควรที่จะหวั่นไหวหวาดหวั่นในเวลาที่เขาต้องเผชิญกับการทดสอบ 

 

          ในที่นี้ท่านเชคอับดุรเราะฮฺมาน บินยะฮฺยา กล่าวถึงคุณประโยชน์ของความเจ็บป่วยไว้ให้แก่เรา ซึ่งมีมากกว่า 100 คุณประโยชน์ ซึ่งท่านได้พยายามคัดเอาที่สำคัญมาดังนี้:-

 

การขัดเกลาจิตใจ

 

     1. ความเจ็บป่วยนั้น เป็นสิ่งขัดเกลาจิตใจและขจัดความชั่วร้ายในจิตใจให้หมดไป พระองค์อัลลอฮ์  ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัชชูรอ 42 อายะฮฺที่ 30 ว่า 

“สิ่งที่เป็นภัยพิบัติที่มาประสบกับสูเจ้าทั้งหลายนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากน้ำมือของสูเจ้าทั้งสิ้น

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงอภัยความผิดมากต่อมากแล้ว”

          ดังนั้น เมื่อบ่าวคนหนึ่ง ประสบกับเคราะห์กรรม ก็อย่าได้ตั้งคำถามเลยว่ามันมาจากไหน ? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เพราะที่เขาประสบนั้น ล้วนเกิดจากความผิดบาปทั้งสิ้น ในเรื่องนี้เป็นการแจ้งข่าวดี และเป็นการตระหนักว่า เมื่อเรารู้ดีว่าภัยพิบัติต่างๆ ในโลกดุนยานั้น ล้วนแต่เป็นการกชำระโทษบาปทั้งหลายของเรา 

ในรายงานของท่านบุคอรีย์ ซึ่งเป็นหะดีษที่ท่านอบีฮุรอยเราะฮฺรายงานว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนว่า 

“สิ่งใดก็ตามที่มาประสบกับผู้ศรัทธา ทั้งโรคเรื้อรัง ความวิตกกังวล ความเศร้าเสียใจ สิ่งที่มาทำร้ายทำอันตราย

แม้แต่หนามที่มาทิ่มแทงนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงลบล้างความผิดบาปทั้งหลายของเขาให้หมดไป”

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังสอนอีกว่า 

“การทดสอบนั้น จะยังคงอยู่คู่กับผู้ศรัทธา ในครอบครัวของเขา ทรัพย์สินของเขา และลูกหลานของเขา

จนกระทั่งเขากลับไปพบอัลลอฮ์ อย่างคนที่ไร้มลทิน”

          ดังนั้น หากบ่าวมีมลทินแล้ว ไม่มีสิ่งใดมาล้างมลทิน พระองค์อัลลอฮ์  จะทรงทดสอบเขา ด้วยความเสียใจ หรือความเจ็บป่วย ดังกล่าวนี้ คือ เรื่องที่น่ายินดี เพราะความขมขื่นเพียงไม่นาน ซึ่งอยู่ในโลกดุนยานี้ ย่อมดีกว่า ความขมขื่นที่อาจเป็นความขมขื่นชั่วนิรันดร ในโลกอาคีเราะฮฺ ชาวสะลัฟบางท่านกล่าวว่า 

“หากไม่มีเคราะห์กรรมในโลกนี้ ในโลกหน้าเราคงเป็นผู้ล้มละลายอย่างแน่นอน” 

 ความขมขื่นของโลกดุนยา คือ ความหวามชื่นในอาคีเราะฮฺ



     2. แท้จริง สิ่งที่เป็นความหวานชื่น และความสะดวกสบายในอาคีเราะฮฺนั้น มันมากมายเป็นเท่าทวีคูณ เมื่อเทียบกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ดังนั้น ความขมขื่นของดุนยา คือ ความหวานชื่นของอาคีเราะฮฺ และสิ่งที่ตรงข้ามกันนี้ ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี  จึงกล่าวว่า

“โลกดุนยาเป็นเสมือนคุกของผู้ศรัทธา และเป็นดั่งสวรรค์ของผู้ปฏิเสธศรัทธา” 

และยังได้กล่าวอีกว่า

“ความตายคือ ของขวัญของผู้ศรัทธา” 

รายงานโดยอิบนุ อะบิดดุนยา ด้วยสายรายงาน ที่หะซันว่า 

"إِذَا نَزَلَ بِالْعَبْدِ مَرَضٌ أَوْ مُصِيْبَةٌ فَحَمِدَ اللهَ بَنَى لَهُ بَيْتَ الْحَمْدِ فِي جَنَّةِ الْخُلْدِ فَوْقَ مَا يَنْتَظِرُهُ مِنَ الثَّوَابِ

“เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเคราะห์กรรมมาประสบกับบ่าว แล้วเขาสรรเสริญอัลลอฮฺ

บ้านแห่งการสรรเสริญได้ถูกสร้างไว้ในสวรรค์อันนิรันดรสำหรับเขาไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะรอผลบุญเขา”

หะดีษที่บันทึกโดยอัตติรมิซี๊ย์ ที่รายงานโดยท่านยาบิรว่า 

"يَوَدُّ النَّاسُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَنْ جُلُوْدَهُمْ كَانَتْ تُقْرَضُ بِالْمَقَاِريْضِ فِي الدُّنْيَا لِمَا يُرِيدْوْنَ مِنْ ثَوَابِ أَهْلِ الْبَلاَءِ".

“วันกิยามะฮฺนั้น มนุษย์ชอบที่ให้ผิวหนังของพวกเขานั้น เป็นผิวหนังที่ยืมเอามาจากผิวหนังในดุนยา

อันเนื่องมาจากพวกเขาเห็นถึงผลบุญของพวกเขาที่ถูกทดสอบ”



      3. พระองค์อัลลอฮ์  ทรงใกล้ชิดคนที่เจ็บป่วย ซึ่งความใกล้ชิดนี้เป็นความใกล้ชิดเฉพาะพระองค์


อัลลอฮ์  ตรัสความว่า 

“โอ้ มนุษย์เอ๋ย บ่าวของข้าคนหนึ่งป่วยแล้วเจ้าไม่ปเยี่ยมเขาเลย

ขอสาบานว่า หากเจ้าไปเยี่ยมเขาละก็ เจ้าก็จะพบว่า ข้าอยู่กับเขาแน่นอน”

(บันทึกโดยมุสลิม รายงานโดย อบูฮุรอยเราะฮ์)



     4. ความเจ็บป่วยนั้น ทำให้รู้สึกถึงความอดทนของบ่าว ดังคำกล่าวที่ว่า หากปราศจากการทดสอบ ความประเสริฐของความอดทนก็คงไม่ปรากฏ แล้วหากเขามีความอดทน เขาก็จะพบว่า ความดีทั้งหลายอยู่กับเขาแล้ว หากปราศจากความอดทน ความดีทั้งหลาย ก็ย่อมหมดไปด้วย อย่างแน่นอน 


           ดังนั้น พระองค์อัลลอฮ์  จึงทรงทดสอบความอดทนของบ่าว และความศรัทธาของเขา ด้วยความอดทน ซึ่งบางทีสิ่งที่ถูกเอาออกมาอาจเป็นทอง หรือขี้เหล็กก็ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า เราหลอมเงิน หล่อในเบ้าหลอม ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเงิน แล้วปรากฏว่า ต้องใช้เครื่องเป่าไป อันเนื่องมาจากขี้เหล็กปนอยู่ ความหมาย ภาคผลของเขาจากการเจ็บป่วย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งดีและร้าย 

ท่านอานัส รายงานว่า 

          “แท้จริงภาคผลอันยิ่งใหญ่นั้น เกิดจากการทดสอบอันยิ่งใหญ่ เพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้น หากพระองค์ทรงรักกลุ่มชนใด พระองค์ก็ทรงทดสอบพวกเขา ซึ่งผู้ใดที่พอใจการทดสอบ เขาก็ได้รับความพอพระทัย และผู้ใดไม่พอใจเขา ก็ได้รับความโกรธกริ้ว”

 และในรายงานสายอื่นระบุว่า 

“และผู้ใดเสียใจกับการทดสอบ เขาก็ได้รับความเสียใจ” 

( บันทึกโดยอัตติรมิซี๊ย์ )

          ดังนั้น หากพระองค์ ทรงรักบ่าวคนใด พระองค์ก็จะทรงให้เขาได้ทุกข์มากกว่าคนอื่น และหากพระองค์ทรงกริ้วผู้ใด พระองค์ก็จะทรงให้ดุนยาเป็นที่สะดวกกว้างขวางแก่เขา โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีหลักศาสนา ดังนั้น

♣ หากบ่าวอดทน ด้วยความศรัทธาและยืนหยัดเขาก็จะถูกบันทึกอยู่ในกลุ่มของผู้อดทน และ

♣ หากเขาเกิดความพอใจ เขาก็จะถูกบันทึกอยู่ในกลุ่มของผู้ที่พอใจต่อการทดสอบ แล้ว

♣ หากการทดสอบ ทำให้เขาสรรเสริญ และขอบคุณ สิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงกำหนดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา 

ดังหะดีษที่อยู่ในบันทึกของมุสลิม ที่รายงานโดยท่านซุฮัยบิน รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนว่า 

          “เรื่องของผู้ศรัทธานั้นเป็นที่น่าประทับใจเหลือเกิน เพราะเรื่องของเขานั้นทุกเรื่องล้วนเป็นความดีงามทั้งสิ้น ซึ่งดังกล่าวนี้ เฉพาะบรรดาปวงผู้ศรัทธาเท่านั้น โดยที่หากพวกเขาได้รับความดีใดๆ พวกเขาก็ขอบคุณพระองค์อัลลอฮ์  แล้วเขาก็ได้รับผลตอบแทน และหากได้รับความทุกข์ร้อนก็อดทน ซึ่งเขาก็ได้รับผลตอบแทน ทุกๆสิ่งที่เป็นข้อกำหนดของพระองค์อัลลอฮ์  ล้วนเป็นความดีงามแก่บรรดามุสลิมทั้งสิ้น” 

และในรายงานของท่านอะฮฺหมัด รายงานว่า 

“ดังนั้นผู้ศรัทธานั้นจะได้รับผลตอบแทนในทุกๆเรื่องของเขา”


          ดังนั้น ผู้ศรัทธาจำเป็นจะต้องยินดีกับกอฏอ กอดัร กำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮ์  ในเรื่องของเคราะห์กรรมต่างๆ โอ้ อัลลอฮ์  ขอพระองค์ทรงโปรดให้เราเป็นผู้ที่เมื่อได้รับก็เป็นผู้ที่รู้จักขอบคุณ และเมื่อทำความผิดบาปก็ให้รู้จักขออภัยโทษ เมื่อได้รับการทดสอบก็รู้จักอดทน และใครก็ตามที่พระองค์อัลลอฮ์  มิได้ทรงเมตตาเขาให้มีความอดทน และรู้จักสำนึกในบุญคุณเขาคือคนที่อยู่ในสภาพที่เลวร้าย ซึ่งทั้งความสุขและความทุกข์ล้วนนำพาเขาสู่ที่กลับอันชั่วช้า หากเขาได้รับ เขาก็ฝ่าฝืนและหากเขาถูกทดสอบเขาก็หวาดหวั่นไม่พอใจ



มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข