รูปแบบการแสวงหาความรู้ของชาวสลัฟ
  จำนวนคนเข้าชม  4121


รูปแบบการแสวงหาความรู้ของชาวสลัฟ


 

โดย..... อิสมาอีล กอเซ็ม 

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

          อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้บรรดามุสลิมศึกษาหาวิชาความรู้ เราจะเห็นว่าอายะห์แรกที่อัลลอฮฺ  ได้ประทานลงมาก็เรียกร้องให้บรรดามุสลิมศึกษาหาวิชาความรู้ แน่นอนทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะปฏิบัตินั้นต้องมีวิธีการของมัน สำหรับมุสลิมผู้ศรัทธานั้นเราก็ต้องกลับไปดูรูปแบบของการศึกษาของกลุ่มชนในยุคแรกๆ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้รับรองถึงความประเสริฐและความดีงามในการศึกษาหาวิชาความรู้

 

          สำหรับชนในยุคแรกๆ ที่เป็นชาวสลาฟุซซอแหละห์มีแนวทางการศึกษาอย่างไร เมื่อเรากลับไปดูแนวทางการศึกษาก็จะพบการปฏิบัติหลายๆข้อด้วยกัน จึงขอนำเสนอข้อที่สำคัญบางประการ


การมีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการแสวงหาวิชาความรู้ 

         เมื่อพูดถึงความบริสุทธิ์หรืออัลอิคลาสนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่จะทำให้การงานของเราถูกตอบรับ ณ ที่อัลลอฮฺ  และการศึกษาหาวิชาความรู้นั้น เป็นประเภทหนึ่งของการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  และเงื่อนไขที่จะทำให้การงานของเราถูกตอบรับนั้น ต้องประกอบด้วยกับสองเงื่อนไขด้วยกัน คือ 

 


     1.ปฏิบัติตามรูปแบบของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม 

 


     2. ต้องมีความบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว 

 

ดังคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

          "และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงและดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต และนั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม"

(ซูเราะฮฺ อัลบัยยินะฮฺ อายะห์ที่ 5)

          "ผู้ใดปรารถนาผลตอบแทนของปรโลกเราจะเพิ่มผลตอบแทนของเขาแก่เขา และผู้ใดปรารถนาผลตอบแทนของโลกดุนยา เราจะให้แก่เขาบางส่วนในสิ่งนั้น และสำหรับเขาจะไม่ได้ส่วนใดอีกในปรโลก"

(ซูเราะห์ อัชชูรอฮ อายะห์ที่ 20)

          และอีกมากมายในอัลกุรอ่านที่ได้กล่าวถึงการกระทำที่ต้องการความบริสุทธิ์ ดังนั้นการศึกษาหาวิชาความรู้นั้น ก่อนที่ผู้ทำการศึกษาหาวิชาความรู้นั้นเริ่มศึกษา เขาจะต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ใจในการศึกษาหาวิชาความรู้ เพื่อที่จะให้ความรู้นั้นได้เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคม

          ในอัลหะดีษ มีรายงานจากอบี ฮุรอยเราะห์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู เขาได้กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม กล่าวว่า 

          "แท้จริงบุคคลแรกที่พวกเขาถูกนำไปเข้านรก ในวันกิยามะห์นั้น สามจำพวก แล้วท่านนบีได้กล่าวถึง จากพวกเขานั้น มีชายคนหนึ่งได้ศึกษาหาวิชาความรู้ และได้สอนมัน และได้อ่านอัลกุรอ่าน แล้วเขาได้ถูกนำมา และได้ให้เขารับทราบถึงความโปรดปรานของเขา แล้วเขาก็ได้รับทราบยอมรับในความโปรดปรานนั้น 

แล้วอัลลอฮ์  ได้ถามเขาว่า ท่านได้ทำอะไรในความโปรดปรานนั้น ? 

เขาได้กล่าวว่า ฉันได้ศึกษาหาวิชาความรู้ และฉันได้สอนมัน และได้อ่านอัลกุรอ่านเพื่อท่าน(เพื่ออัลลอฮฺ) 

       อัลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า เจ้าโกหก ! เจ้าได้ศึกษาหาวิชาความรู้ เพื่อให้มีคนกล่าวเจ้าว่า เจ้าคือผู้ที่มีความรู้ และที่เจ้าอ่านอัลกุรอ่าน เพื่อให้มีกล่าวแก่เจ้าว่า เจ้าคือ นักอ่าน และก็มีคนกล่าวเช่นนั้น แล้วอัลลอฮ์  ได้มีคำสั่งให้นำเขาไปในสภาพที่คว่ำหน้า และเขาถูกโยนลงไปในไฟนรก .."

          จากหะดีษนี้ชี้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน สำหรับผู้ที่ศึกษาหาวิชาวามรู้ โดยขาดความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์  นั้นบั้นปลายของเขาในโลกหน้านั้น คือถูกลงโทษในนรก เพราะการศึกษาหาวิชาความรู้ในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ  ไม่ใช่เพื่อโอ้อวดในความรู้ที่เรามี เพราะความรู้ที่เราได้รับนั้นเป็นความรู้ของอัลลอฮฺ  และจากหะดีษนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้ที่เจตนาไม่บริสุทธิ์ และนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ไม่ถูกต้อง บางครั้งนำความรู้มาใช้ในการทำลายชื่อเสียงบุคคลอื่น และแสดงความรู้ที่ตัวเองมีอยู่เพื่อต้องการให้ผู้คนยอมรับและให้ผู้คนชมเชยว่า เราเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่ง ดังนั้นหากเราเจตนา เช่นนั้นเราก็อาจจะเป็นผู้หนึ่งที่ถูกนำไปยังนรก

          อีกประการสำหรับผู้ที่ศึกษาหาวิชาความรู้พึงปฏิบัติ ก็คือการท่องจำ ก็คือการท่องจำแบบเอาใจใส่ ตรวจสอบข้อมูลที่ท่องจำมาว่ามีสถานะเช่นไร ถูกต้องหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าต้องจำข้อมูลที่เชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพความถูกต้องนั้นมีน้อย เช่น เราสามารถพูดได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ในเชิงคุณภาพและความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกต้องมีน้อย แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้รู้เช่นเดียวกัน 


     3.ต้องเรียนรู้มารยาท ก่อนเรียนรู้เรื่องวิชาการแขนงต่างๆ

          ชนสลัฟในยุคแรกพวกเขานิยมส่งลูกหลานของพวกเขาที่ยังไม่บรรลุศาสนะภาวะไปเรียนรู้ การอ่านและท่องจำอัลกุรอ่าน ทักษะการอ่าน การเขียน และให้ครูบาอาจารย์มาดูอบรมมารยาทที่ดีงามให้แก่พวกเขา และเมื่อพวกเขาบรรลุศาสนะภาวะก็นำพวกเขาไปยัง สถานศึกษาของบรรดาผู้รู้ (มัสลิซอิลมีย์) 

ชาวสลัฟในอดีตให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านมารยาทก่อน การเรียนรู้วิชาการในแขนงต่าง

ท่านอบูอับดุลลอฮฺ ซุฟยาน บิน สะอีด อัซเซารีย์(เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 161 ) ได้กล่าวว่า 

"พวกเขาจะไม่ให้ลูกๆของพวกเขาออกไปแสวงหาวิชาความรู้ จนกระทั่งพวกได้รับการอบรม(เรื่องมารยาท)

และพวกเขาจะทำการอิบาดะห์(ฝึกฝนเรื่องอิบาดะห์) เป็นเวลา 20 ปี"

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนู มูบาร็อก (เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 181) 

"ฉันได้เรียนรู้เรื่องมารยาทอยู่ 30 ปี และฉันแสวงหาวิชาความรู้ 20 ปี และพวกเขาเรียนรู้เรื่องมารยาทก่อนแสวงหาวิชาความรู้ "

 มีรายงานจากอบี ซาการียา ยะห์ยา บิน มูฮัมหมัด อัลอันบารีย์ (ได้เสียชีวิตในปีที่ 344) เขาได้กล่าวว่า 

"ความรู้ที่ปราศจากมารยาท เสมือนไฟที่ไม่มีฟืน และมารยาทที่ปราศจากความรู้เสมือนร่างกายที่ไม่มีวิญญาณ"

          ปัจจุบันมีผู้คนมากมายที่แสดงออกอยู่ในสถานะผู้รู้ ที่แสดงว่าตัวเองมีวิชาความรู้รอบด้าน แต่มารยาทของตัวเองนั้นห่างไกลกับมารยาทของผู้รู้ในยุคสลัฟกันอย่างสิ้นเชิง และด้วยกับการไม่เรียนรู้เรื่องมารยาทก่อนการแสวงหาวิชาความรู้ ทำให้ที่พาดพิงตัวเองไปหาความรู้ มีคำพูดการแสดงออก ไม่แตกต่างอะไรกับบุคคลธรรมดาที่ไม่มีความรู้ หรือบางครั้งมารยาทของผู้ที่ไม่มีความรู้อาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ โดยที่บางคนสามารถพูดคำหยาบคายที่อิสลามไม่ได้สอนออกมา สามารถแสดงกริยาหยิ่งยโสออกมาในรูปแบบของคำพูดและการกระทำ จากการไม่มีมารยาท ตรงนี้ทำให้การเผยแผ่ขาดการยอมรับในสังคมจึงเป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่ศาสนา ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ในด้านมารยาทจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้

          ดังนั้นจะเป็นการขัดแย้งกันหรือไม่ ที่สิ่งสำคัญที่สุดในศาสนา คือ หลักความเชื่อ การที่เราเริ่มสอนมารยาทก่อนการเรียนรู้หลักความเชื่อ หากเราไปดูคำ ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ หรือ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนู มูบาร็อก ขออัลลอฮฺ ได้โปรดเมตตาท่านทั้งสอง โดยท่านทั้งสองเป็นบุคคลที่เกิดในยุคที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้รับรองถึงความประเสริฐ คือ ยุคสลัฟสามร้อยปีแรก พวกเขาแยกส่วนกันระหว่างมารยาทกับความรู้ และแน่นอนการศึกษาความรู้ของชาวสลัฟหลังจากเรียนรู้อัลกุรอ่านแล้ว พวกเขาต้องเริ่มต้นการศึกษาด้วยวิชาอากีดะห์หลักความเชื่อเป็นประการแรก 


    4.เมื่อมีความรู้แล้ว ก็ต้องนำความรู้ที่เรียนรู้และมีความเข้าใจแล้วมาปฏิบัติ 

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ"

"เป็นที่น่าเกลียดยิ่งที่อัลลอฮฺ การที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ"

(ซูเราะฮฺ อัศศ็อฟ อายะห์ที่ 2-3 )

          มีรายงานในหนังสือ ซอเฮียะห์ อิหม่าม มุสลิม มีรายงานจากฮุซามะห์ บุตรของเซด รอฎิยัลลอฮูอันฮูมา  ฉันได้ยินท่านรอซูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม กล่าวว่า 

     ชายคนหนึ่งจะถูกนำมาในวันกิยามะห์ แล้วเขาถูกโยนลงไปในไฟนรก แล้วไส้ก็ทะลักออกจากท้องของเขา แล้วเขาลากไส้วนเป็นวงกลม เสมือนลาที่เดินวนหลัก แล้วชาวนรกมารวมตัวกันต่อหน้าเขา 

     แล้วพวกเขากล่าวขึ้นว่า โอ้ คนนั้น(เป็นการเรียกชื่อ) เกิดอะไรขึ้นกับท่าน? ท่านมิใช่หรือที่เคยใช้ให้กระทำความดี และห้ามปรามความชั่ว ? 

     เขาตอบไปว่า ใช่แล้ว ฉันเคยใช้ให้ทำความดี แต่ฉันไปได้ปฏิบัติในสิ่งที่ใช้(สิ่งที่ใช้ผู้อื่น) และฉันห้ามความชั่ว แต่ฉันทำความชั่วอันนั้นเอง"

          จากหะดีษ ได้กล่าวถึงโทษบุคคลที่มัวใช้ให้คนอื่นทำความดี แต่ตัวเองไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ใช้คนอื่น แต่ตรงกันข้ามเขาห้ามผู้อื่นทำความชั่วแต่ตัวเขาเองกลับไปทำความชั่วนั้นเอง จึงเป็นสาเหตุให้เขาต้องถูกลงโทษในนรกในสภาพที่อัปยศ

          ดังนั้นภารกิจอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความรู้ ก็คือ ปฏิบัติตามความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ และพยายามละทิ้งความชั่ว ก็หมายความว่า ความรู้และการกระทำต้องไปด้วยกัน


          สุดท้ายนี้ของวิงวอนต่ออัลลอฮฺ  ให้เราเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาหาวิชาความรู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ  และขอให้ด้วยความรู้ที่พระองค์ได้ประทานให้แก่เรา ให้เราเป็นผู้หนึ่งที่ได้ปฏิบัติตามความรู้และให้ความรู้ของเราเกิดประโยชน์แก่ตัวของเราเองและพี่น้องมุสลิม และด้วยกับความรู้ขอให้มันเป็นสาเหตุที่อัลลอฮฺ  ได้อภัยโทษให้แก่เราในความผิดพลาดของเรา และให้เราได้เข้าสวรรค์ของพระองค์