แนวทางการคลายทุกข์ 6
  จำนวนคนเข้าชม  2054


แนวทางการคลายทุกข์ 6


 

เขียนโดย : ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด

 

- ละหมาด

 

แสวงหาที่คุ้มภัยด้วยการละหมาด อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ว่า

“และพวกเจ้าจงอาศัยความอดทนและการละหมาดเถิด” 

(2:45)

รายงานจากฮุซัยฟะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า "เมื่อมีบางเรื่องได้สร้างความเสียใจต่อท่านนบี  ท่านก็จะละหมาด"

(รายงานโดยอบู ดาวูด ในกิตาบ อัศ ศอลลาฮฺ บาป วัตถุ กิยามิล นะบียฺ มินัล ลัยลฺ จัดว่าเป็นฮะดีษ ฮะซัน ในซอเฮียะฮฺ อัล ญามิอฺ 4703)


- ญิฮาด ในหนทางของอัลลอฮฺ 


         วิธีการอีกชนิดหนึ่งในการคลายทุกข์กังวลก็คือ การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ  ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


“พวกท่านจงญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ  เถิด เพราะว่ามันเป็นประตูหนึ่งจากประตูทั้งหลายของสวนสวรรค์

อีกทั้งอัลลอฮฺ  จะขจัดความทุกข์กังวลด้วยกับมัน”

(รายงานโดยอะหฺมัด จากอบู อุมามะฮฺ จากอัลดุลลอฮฺ บินอัศศอมิต 5/319 และจัดว่าเป็นฮะดีษ ซอเฮียะฮฺ ในซอเฮียะฮฺ อัล ญามิอฺ 4063)


- กล่าวถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺ 

          การพูดถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ทั้งที่ชัดเจนและซ่อนเร้น การรู้จักความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  และกล่าวถึงมันนั้น เป็นการป้องกันความทุกข์กังวล บ่าวคนหนึ่งต้องได้รับการกระตุ้นให้รู้จักขอบคุณ (อัลลอฮฺ) ให้สูงที่สุดเท่าที่เขาสามารถบรรลุถึงได้ แม้กระทั่งบ่าวคนนั้นจะอยู่ในสภาพของความยากจน การป่วยไข้ หรืออื่นๆ จากรูปแบบการทดสอบชนิดต่างๆ

         เมื่อเขาได้เปรียบเทียบระหว่างความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ซึ่งเขาไม่สามารถนับมันได้ กับความลำบากต่างๆ ที่มาประสบกับเขา ความยากลำบากนั้นก็ไม่สามารถเทียบได้กับความโปรดปรานได้เลย ยิ่งกว่านั้น ความยากลำบากและทุกข์ภัยต่างๆ นั้น เมื่ออัลลอฮฺ  นำมันไปทดสอบบ่าวคนๆ หนึ่งนั้น แล้วเขาจัดการกับมัน ด้วยสภาพการทำงานที่ต้องอดทน ต้องพึงพอใจ และต้องยอมรับสภาพ ความกดดันต่างๆ ก็ถูกทำให้ง่ายดายลง ภาระที่หนักหน่วงก็ถูกทำให้ผ่อนคลายลง และบ่าวยังมีความหวัง ในการได้รับรางวัลและการตอบแทนจากอัลลอฮฺ  พร้อมทั้งการอิบาดะฮฺเพื่อพระองค์ ด้วยการยืนหยัดการงานนั้นในสภาพที่อดทน พึงพอใจ ท่าทีเช่นนี้ได้เปลี่ยนความขมเป็นความหวาน และความหวานนี้จะช่วยทำให้ลืมความขมในการอดทนมันได้

อีกประการหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งตรงจุดนี้ก็คือ การใช้สิ่งที่ท่านนบี ได้ชี้นำเอาไว้ใน ฮะดีษ ซอเฮียะฮฺ บทหนึ่งว่า

จากอบู ฮุรอยเราะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า ท่านร่อซูล  กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงมองไปยังบุคคลที่ต่ำกว่าพวกท่าน และจงอย่ามองบุคคลที่สูงกว่าพวกท่าน

เพราะมันเป็นการสมควรยิ่งที่จะไม่ทำให้พวกท่านดูถูกความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ที่ให้กับพวกท่าน

(รายงานโดยอัต ติรมิซียฺ ในสุนัน 2513 และเขากล่าวว่า เป็นฮะดีษซอเฮียะฮฺ และในซอเฮียะฮฺ อัล ญามิอฺ 1507)

          แท้จริง หากว่าบ่าวคนหนึ่งมองดูด้วยแนวคิดที่สำคัญเช่นนี้ (คือมองดูผู้ที่ต่ำว่าเขา) เขาจะมองเห็น ตัวเขานั้นมีความเหนือกว่าผู้คนจำนวนมากอย่างชัดเจน ทั้งในแง่สุขภาพที่ดีและผลดีอื่นๆ ที่ตามมา (เช่นความแข็งแรง เป็นต้น) และในแง่ของริสกี (ปัจจัยยังชีพต่างๆ) และสิ่งที่ตามมาจากมัน (เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น) ซึ่งเป็นสภาพที่เขาเป็นอยู่

         ด้วยท่าทีเช่นนี้ทำให้ความทุกข์กังวลถูกขจัดให้หายไปได้ และได้เพิ่มความปิติสุขที่มีต่อความ โปรดปรานของอัลลอฮฺ  ซึ่งเขาได้รับเหนือกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับมัน  ยิ่งบ่าวคนหนึ่งคิดถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ทั้งที่ได้รับอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ทั้งในปัจจัยของโลกนี้และในศาสนา เขาจะมองผู้เป็นเจ้าของเขาในฐานะเป็นผู้ให้ความดีงามต่างๆ อย่างมากมาย และได้ปกป้องเขาให้พ้นจากสิ่งเลวร้ายต่างๆ จำนวนมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจุดยืนเช่นนี้ช่วยขจัดความทุกข์กังวลไปได้ แล้วจะเกิดความปิติสุขตามมา 


(อ้างจาก อัล วะซาอิล อัล มุฟีดะฮฺ ลิล ฮะยาฮฺ อัล ซะอีดะฮฺ ของ อิบนุ ซะอฺดียฺ)




หนังสือ คลายทุกข์ ด้วยคำสอนอิสลาม 

แปลและเรียบเรียงโดย : อบุล ลัยษฺ