คลายความทุกข์ด้วยคำสอนอิสลาม
ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด
ชีวิตของมนุษย์นั้นต้องเผชิญกับสภาพต่าง ๆ ที่ห้อมล้อมพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว และปัญหาการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนว่ามันเป็นสภาพที่ไม่มีใครหยุดมันได้
สภาพเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวล ความไม่มั่นใจ ความผิดหวัง ความอ่อนล้า หรืออยู่ในสภาพสับสน เป็นความระทมทุกข์ ที่กลายมาเป็นภาวะที่สร้างความทรมานให้กับมนุษย์เป็นที่สุด และอาจเรื้อรังกลายเป็นเหตุร้ายต่าง ๆ เช่น โรคประสาท โรคจิต หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ด้วยความไม่เข้าใจชีวิต ทำให้บางคนสร้างภาพหลอกลวงให้แก่ชีวิตของตนเอง โดยวางอนาคตตัวเองบนความเพ้อฝัน บางคนมีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย วันนี้ตัดสินใจอย่างหนึ่ง วันต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ให้เหตุผลที่สวยงามกับสิ่งที่ตนเองกระทำอยู่ และก็ให้เหตุผลใหม่ (ซึ่งสวยงามกว่า) กับสิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนไปตลอด ในที่สุดสภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเหล่านี้นำไปสู่พฤติกรรมเซื่องซึม หดหู่ ซึ่งเป็นอาการที่น่าสลดใจต่อผู้พบเห็นยิ่งนัก
ความจริงที่น่าเวทนายิ่งกว่านั้นก็คือ มนุษย์จำนวนมากได้ให้คำตอบต่อปรากฏการณ์แห่งความทุกข์หรือความเศร้าจากปรัชญาและแนวคิดต่าง ๆ ที่คลุมเครือ อันเกิดจากประดิษฐ์กรรมของมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่อาจทำให้เขาเผชิญหน้ากับสภาวะแห่งความยากลำบากเหล่านั้นได้ แต่ยิ่งทำให้เขาถลำลึกลงไปสู่ห้วงแห่งความทุกข์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ความลับในการเข้าถึงการแก้ปัญหาภาวะถดถอยแห่งชีวิตและความทุกข์ยากในทุกรูปแบบนั้น เริ่มจาก “ความเข้าใจ” ที่มีต่อชีวิตในโลกนี้ (ดุนยา) ที่ได้รับการเปิดเผยจาก “พระผู้สร้าง” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการนำไปสู่การบำบัดและเยียวยามัน
ในทัศนะของอิสลามนั้น “โลกนี้” (ดุนยา) ถูกสร้างขึ้นอย่างมี “สีสัน” แต่อย่างไรก็ตามสีสันนี้มันจบลงด้วย “ความเสื่อมสลาย” ดังที่อัลกุรอานได้พรรณนามันไว้อย่างเห็นภาพว่า
“เปรียบเสมือนเช่นน้ำฝนที่การงอกเงยพืชผลยังความพอใจให้แก่กสิกรแล้วมันก็เหี่ยวแห้ง
เจ้าจะเห็นมันเป็นสีเหลือง แล้วมันก็กลายเป็นเศษเป็นชิ้นแห้ง”
(ซูเราะฮฺ 57:20)
อัลกุรอานยังบอกถึงสีสันของโลกว่ามีลักษณะ “ถูกทำให้ลุ่มหลงแก่มนุษย์ ซึ่งความรักในความใคร่ต่าง” (3:14) เป็น “การละเล่น” “การบันเทิงสนุกสนาน” (5:32, 29:64, 47:36, 57:20) เป็น “การประดับประดา” “การโอ้อวดทับถม” “การแข่งขันกันสะสมในทรัพย์และลูกหลาน” (57:20) ในเมื่อความสุขในดุนยานี้มันไม่จีรัง มันจึงถูกสรุปจากอัลกุรอานว่าเป็น “ภาพลวง” (57:60)
เมื่อความแท้จริงของชีวิตในโลกนี้ถูกเปิดเผยให้เห็นถึง “การไร้แก่นสาร” แล้ว ในอีกด้านหนึ่งชีวิตในโลกนี้ก็ถูกย้ำว่าเป็นชีวิตที่ถูกทดสอบ เป็นชีวิตที่ห้อมล้อมไปด้วยความทุกข์ยากต่าง ๆ เช่น ความเศร้า ความเสียใจ ความทุกข์ระทม ดังที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า
“โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญความยากลำบาก”
(90:4)
ที่สุดของมันนั้น คือ ความตายและการพลัดพราก
“แท้จริงความตายที่พวกท่านหนีจากมันไปนั้น มันจะมาพบกับพวกท่าน”
(62:8)
เมื่อพิจารณาในแง่ของ “เป้าหมาย” ดุนยาจึงไม่มีเป้าหมายที่มนุษย์จะไปแสวงหามัน ท่านนบี ได้เปรียบเทียบดุนยาในแง่เป้าหมายเหมือนกับ “เอานิ้วจุ่มลงในน้ำทะเล” (รายงานโดยมุสลิม) ซึ่งแทบจะไม่มีสิ่งใดกลับติดนิ้วขึ้นมาเลย และด้อยค่ามิอาจเทียบได้แม้แต่ “ปีกยุงข้างเดียว” (ดูซอเฮียะ อัตติรมิซียฺ 2889 ของอัล อัลบานียฺ)
การเข้าถึงชีวิตในโลกนี้ การรู้เท่าทันความเย้ายวนจอมปลอมของมัน เป็นพื้นฐานของจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการเผชิญหน้ากับธรรมชาติของโลกนี้ อัลลอฮฺ ได้เตือนไว้เกี่ยวกับดุนยานี้ว่า
“ดังนั้น อย่าให้การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ล่อลวงพวกเจ้า”
(35:5)
ดุนยา คือ สถานที่ทดสอบ แล้วต้องจากไป ท่านนบี ได้เปรียบเทียบตัวท่านเองเหมือน “คนเดินทาง” ผ่านดุนยาแห่งนี้ ไม่ใช่มาเพื่อพำนักอยู่
“ฉันและโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย เว้นแต่เป็นดั่งคนเดินทางที่หยุดพักอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ จากนั้นเขาได้จากมัน โดยทิ้งมันไว้"
(ซอเฮียะ อัตติรมิซียฺ ของอัล อัลบานียฺ 1936)
แนวคิด “การเดินทางแห่งชีวิต” เช่นนี้ถูกปฏิเสธในโลกสมัยใหม่ ผลร้ายของมันก็คือ มนุษย์ได้ยึดเอาโลกนี้เป็นจุดหมายปลายทางที่มันเองไม่อาจเป็นได้ ดุนยากลายเป็นเป้าของการแสวงหาที่มนุษย์พากันลุ่มหลง แทนที่มันจะเป็นเพียงแค่เสบียงในการนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของการเดินทาง
ธรรมชาติของ “การเดินทาง” คือ การที่ไม่ได้มีความสะดวกสบายเช่นการนั่งเล่นอยู่ที่บ้าน ผู้เดินทางจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ออกไปโดยจับจ้องไปที่เป้าหมายแห่งการเดินทาง พยายามขจัดขวากหนามบนเส้นทาง มิใช่การตีโพยตีพาย ซึ่งไม่ทำให้อะไรดีข้นมาได้เลย
หนังสือ "คลายทุกข์ด้วยคำสอนของอิสลาม"
ผู้แปล อบุล ลัยษฺ