ปิดท้ายอิบาดะฮฺด้วยการอิสติฆฟารฺ
  จำนวนคนเข้าชม  2973

ปิดท้ายอิบาดะฮฺด้วยการอิสติฆฟารฺ
 


อับดุลร็อซซาก บินอับดุลมุห์สิน อัล-บัดรฺ

 


          มีปรากฏหลักฐานในอัลกุรอานจำนวนมากที่กำชับใช้ให้มีการขออภัยโทษ ส่งเสริม กระตุ้น และอธิบายถึงผลที่ได้รับ รวมถึงร่องรอยของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เสร็จสิ้นจากการเคารพภักดี และหลังจากที่ได้ประกอบอิบาดะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นที่ประจักษ์ว่าส่วนหนึ่งจากจริยวัตรของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจะปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีด้วยการขออภัยโทษ (อิสติฆฟารฺ)  ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม

“แท้จริงท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาด ท่านจะกล่าวอิสติฆฟารฺ 3 ครั้ง” 

(มุสลิม : 591)

 และยังมีรายงานว่า ท่านจะปิดท้ายการละหมาดในยามค่ำคืนด้วยการกล่าวอิสติฆฟารฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

“และบรรดาผู้ที่ขออภัยโทษในช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืน” 

(อาล อิมรอน : 17)

และอัลลอฮฺตรัสอีกความว่า

“และในช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืนพวกเขาจะขออภัยโทษ” 

(อัซ-ซาริยาต : 18)


          อัลลอฮฺได้บอกถึงลักษณะของพวกเขาว่า มีความมุ่งมั่นในการละหมาดยามค่ำคืนและเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยที่พวกเขาเห็นว่าตัวเองยังมีความบกพร่องอยู่อีก ดังนั้นพวกเขาจึงขอการอภัยโทษต่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮฺ จึงทรงปิดท้ายสูเราะฮอัล-มุซซัมมิล ซึ่งเป็นสูเราะฮฺที่ได้บอกเกี่ยวกับการละหมาดในยามค่ำคืน ด้วยคำสั่งที่พระองค์ตรัสความว่า

“และจงขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺเถิด เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ” 

(อัล-มุซซัมมิล : 20) 


          และยังมีบทบัญญัติแก่ผู้ที่อาบน้ำละหมาด ให้ปิดท้ายด้วยการกล่าวเตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัว) ดังนั้นการปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีที่สวยงามยิ่งคือการเตาบะฮฺ และการกล่าวอิสติฆฟารฺนั่นเอง

จากอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“บุคคลใดทำน้ำละหมาดอย่างประณีตครบถ้วนสมบูรณ์ ต่อจากนั้นเขากล่าวว่า 

อัชฮะดุอันลาอิลาฮา อิลลัลลอฮฺ วะอันนะมุหัมมะดัน อับดุฮุ วะรอสูลุฮุ 

              (ความว่า ฉันขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์)

             โอ้อัลลอฮฺโปรดให้ฉันเป็นคนหนึ่งจากผู้ที่กลับเนื้อกกลับตัว และเป็นคนหนึ่งจากผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ แนนอน ประตูต่างๆของสวรรค์ทั้งแปดบานจะถูกเปิดแก่เขา ซึ่งเขาสามารถเข้าทางประตูบานใดก็ได้ตามที่ประสงค์” 

(อัต-ติรมิซียฺ : 50)


และอัลลอฮฺตรัสไว้ในโองการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีหัจญ์ ความว่า

“แล้วพวกเจ้าจงหลั่งไหลกันออกไปจากที่ที่ผู้คนได้หลั่งไหลกันออกไป และจงขออภัยต่ออัลลอฮฺเถิด

แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 199)

          ความหมายของคำว่า “หลั่งไหล” ในที่นี่คือการเคลื่อนตัวจากมุซดะลิฟะฮฺไปสู่มีนาในวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ เนื่องจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์ได้ทำอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นการปิดท้ายภารกิจหัจญ์ที่นั่น 


          ชัยคฺอับดุรเราะมาน อัส-สะอฺดีย์–เราะหิมะฮุลลอฮฺ-ได้อธิบายโองการนี้ว่า “แท้จริงแล้วเหตุผลของการขออภัยโทษนั้น เพื่อเป็นการเติมเต็มในความบกพร่องและการละเลยที่เกิดขึ้น "

          ท่านกล่าวว่า “การขออภัยโทษนั้น เพราะความบกพร่องที่เกิดจากบ่าวขณะทำการอิบาดะฮฺภักดีอัลลอฮฺและเป็นการรำลึกในความโปรดปรานของพระองค์ที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เขาในการภักดีที่ยิ่งใหญ่นี้ และทำนองเดียวกันนี้ ทุกครั้งที่เสร็จสิ้นจากการอิบาดะฮฺบ่าวควรจะขออภัยจากอัลลอฮฺในความบกพร่อง และขอบคุณพระองค์ที่เอื้ออำนวย มิใช่เป็นอย่างผู้ที่ทำการภักดีแล้วทวงบุญคุณ และขอแลกเปลี่ยนกับระดับอันสูงส่ง เพราะนั่นคือ ผู้ที่ควรแก่การตำหนิ การปฏิบัติของเขาก็ไม่ถูกตอบรับ ขณะที่บุคคลแรกเหมาะสมที่จะได้รับการเอื้ออำนวยให้ปฏิบัติการงานอื่นๆ อีก และการงานของเขาก็จะถูกตอบรับ”

          และส่วนหนึ่งจากคำสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม คือ การปิดประชุมโดยการกล่าวคำขออภัยโทษ ดังรายงานของอบูดาวูด จากอบูบัรซะฮฺอัล-อัสละมียฺ –เราะฎิยัลลอฮุอันฮู-

“เมื่อท่านนบี ต้องการจะลุกขึ้นจากที่ประชุมหนึ่งท่านจะกล่าวว่า

"สุบหานะกัลลอฮุมมาวะบิหัมดิกา อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลาอันตา อัสตัฆฟิรุกาวะอะตูบุอิลัยกฺ” 

              (มีความหมายว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์อัลลอฮฺ และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ข้าขออิสติฆฟารฺ/ขออภัยโทษต่อพระองค์ และขอเตาบะฮฺ/กลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์)”

(อบูดาวูด : 4861)



และจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

"ผู้ใดได้นั่งในที่ประชุมหนึ่งและได้พูดคุยเอะอะแล้วเขาได้กล่าวก่อนจะยืนออกไปจากที่ประชุมนั้นว่า

"สุบหานะกัลลอฮุมมาวะบิหัมดิกาอัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลาอันตาอัสตัฆฟิรุกาวะอะตูบุอิลัยกฺ”

              (มีความหมายว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์อัลลอฮฺ และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ข้าขออิสติฆฟารฺ/ขออภัยโทษต่อพระองค์ และขอเตาบะฮฺ/กลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์)

เขาก็จะได้รับการอภัยโทษจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่ประชุมดังกล่าวนั้น" 

(อัต-ติรมีซียฺ : 3429)


           ยิ่งกว่านั้นท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปิดท้ายชีวิตของท่านด้วยการบรรลุถึงแก่นแท้ของการภักดีและการเชื่อฟังที่สมบูรณ์ โดยการขออภัยโทษ ดังที่มีบันทึกในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา ว่า

“ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวขณะที่ฉันเงี่ยหูฟังก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ซึ่งท่านนอนหนุนตักของนางอยู่ว่า 

“โอ้อัลลอฮฺโปรดอภัยโทษให้แก่ฉัน โปรดเมตตาต่อฉัน และโปรดให้ฉันได้กลับไปถึงพระองค์ผู้สูงส่ง”

(อัล-บุคอรียฺ : 4440) 


พร้อมกันนั้นท่านได้ขออภัยโทษอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันของท่าน และนี่คือวิถีของชาวสะลัฟ/กัลยาณชนอิสลามรุ่นแรกๆ

ท่านอิบนุเราะญับ –เราะหิมะฮุลลอฮฺ-กล่าวว่า

          “ชาวสะลัฟเห็นว่า ใครก็ตามแต่ที่เสียชีวิตหลังจากที่ได้ประกอบคุณงามความดี เช่น การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน หรือหลังจากการประกอบพิธีหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ก็คาดหวังว่าเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์ และเป็นที่ประจักษ์ว่าทั้งที่พวกเขาเพียรพยายามทำความดีอย่างเต็มที่ขณะที่พวกเขายังมีสุขภาพดี แต่พวกเขาก็จะรื้อฟื้นการเตาบะฮฺและอิสติฆฟารฺอิบาดะฮฺให้มีความสดใหม่อยู่เสมอขณะใกล้จะตาย และพวกเขาจะปิดท้ายการประกอบคุณงามความดีด้วยการขออภัยโทษและคำปฏิญาณตนด้วยถ้อยคำแห่งการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ 


เมื่อความตายมาเยือนอัล-อะลาอ์ บิน ซิยาด ท่านได้ร้องไห้ แล้วมีคนถามว่า “ท่านร้องไห้ด้วยเหตุอันใดหรือ? 

ท่านตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันต้องการพบความตายด้วยกับการเตาบะฮฺ”

พวกเขาก็กล่าวว่า “ท่านจงทำเถิด”

        แล้วเขาก็ขอน้ำเพื่ออาบน้ำละหมาด จากนั้นขอเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ต่อมาท่านได้ผินหน้าไปทางกิบละฮฺ แล้วทำสัญญาณด้วยศรีษะสองสามครั้ง แล้วท่านจึงนอนและเสียชีวิตตรงนั้น  


         เมื่อความตายมาเยือนอามิร บิน อับดิลลาฮฺ ท่านได้ร้องไห้และกล่าวว่า “เพราะสภาพแห่งการเสียชีวิตเช่นนี้เอง จงขวนขวายทำดีเถิด โอ้ผู้ที่ทำดีทั้งหลาย โอ้อัลลอฮฺ ฉันขออภัยต่อพระองค์จากความบกพร่องและการเพิกเฉยของฉัน และฉันขอกลับตัวต่อพระองค์จากบาปทั้งหลาย ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงอื่นจากพระองค์”

แล้วท่านกล่าวซ้ำจนกระทั่งเสียชีวิต 


        และอัมรฺบิน อัล-อาศ กล่าวตอนใกล้เสียชีวิตว่า “โอ้อัลลอฮฺพระองค์ได้สั่งใช้เราแต่เรากลับฝ่าฝืน พระองค์ทรงห้ามพวกเราแต่เรากลับฝ่าฝืน และไม่มีทางใดนอกจากการอภัยของพระองค์เท่านั้น ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ”

แล้วท่านก็กล่าวซ้ำๆ จนกระทั่งเสียชีวิต”

(ละฎออิฟ อัล-มะอาริฟ หน้าที่ 362)


          ผลลัพธ์และความจำเริญอย่างมหาศาลเกินคณานับสำหรับผู้ที่ขออภัยโทษในการที่จะทำให้ความดีทั้งหลายมีความสมบูรณ์และช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เขาละเลย และจะช่วยยกระดับแก่เขา ดังที่ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมิยะฮฺ –เราะหิมะฮุลลอฮฺ-กล่าวว่า 

           “การขออภัยโทษนั้นจะทำให้บ่าวหลุดออกจากพฤติกรรมที่น่ารังเกียจสู่การกระทำที่พึงปรารถนา จากการงานที่บกพร่องสู่การงานที่สมบูรณ์ และจะยกระดับของบ่าวให้สูงขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งกว่า เนื่องจากบ่าวที่ภักดีต่ออัลลอฮฺและบ่าวที่รู้จริงเกี่ยวกับอัลลอฮฺในทุกวันทุกเวลา หรือทุกชั่วโมง หรือทุกวินาที เขาจะเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในศาสนา และการภักดีต่อพระองค์ 

          กล่าวคือ เขาจะพบว่าการภักดีนั้นอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม ขณะนอน ขณะตื่น ในการพูด ในการกระทำของเขา และเขาจะมองเห็นการละเลยของเขาในการรวบรวมจิตใจให้ได้สถานะอันสูงส่ง และการเติมเต็มสิ่งที่หัวใจของเขาต้องการ 

          ดังนั้น เขาจะเห็นว่าตัวเองยังต้องมีการขออภัยโทษในยามค่ำคืนและกลางวันอยู่เสมอยิ่งกว่านั้น เขาต้องขออภัยโทษในทุกสภาพการณ์ตลอดเวลาไม่ว่าในที่ลับหรือเปิดเผย เนื่องจากการขออภัยนั้นมีความดีอันมากมาย และยังป้องกันสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายและทำให้มีพลังในการประกอบความดีทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ และพลานุภาพในความเชื่อมั่นและศรัทธา” 

(มัจญ์มูอ์ อัล-ฟะตาวา:11/696) 


          แท้จริง อัลลอฮฺได้เตรียมผลกรรมแก่ผู้ที่ขออภัยโทษทั้งในโลกนี้และในอาคิเราะฮฺ ด้วยผลบุญอันยิ่งใหญ่ ของขวัญอันทรงเกียรติ และผลตอบแทนมากมายจากพระองค์ ซึ่งไม่อาจจะนับคำนวนและรับรู้ได้หมดอัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสความว่า

“และผู้ใดที่กระทำความชั่วหรืออธรรมแก่ตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะพบว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยยิ่งทรงเมตตายิ่ง” 

(อัล-นิสาอ์ : 110)


อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสความว่า

“และอัลลอฮฺจะไม่เป็นผู้ทรงลงโทษพวกเขา ตราบใดที่พวกเขาขออภัยโทษกัน”

(อัล-อันฟาล : 33)


อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบีนูหฺ อะลัยฮิสสลามว่า

          “ข้าพระองค์(นบีนูหฺ)ได้กล่าวว่า พวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงอภัยโทษอย่างแท้จริง  พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีส่วนมากหลายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากหลายแก่พวกท่าน” 

(นูหฺ : 10-12)


จากอับดุลลอฮฺ บิน บิชรฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ยินดีเถิดสำหรับผู้ที่พบในสมุดบันทึกของเขา (ในวันกิยามะฮฺ) ซึ่งการขออภัยโทษอันมากมาย”

-(อิบนุมาญะฮฺ : 3818)


          ดังนั้น จำเป็นที่ผู้ศรัทธาต้องกล่าวอิสติฆฟารฺอย่างสม่ำเสมอและให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปิดท้ายของการทำอิบาดะฮฺต่างๆ เพื่อเติมเต็มในความบกพร่องและทำให้อะมัลอิบาดะฮฺนั้นมีความสมบูรณ์ และเพื่อที่เขาจะได้รับความสำเร็จด้วยรางวัลของผู้ขออภัย และบั้นปลายชีวิตอันสวยงามของเขา 



          ขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ให้เราเป็นบ่าวที่กลับเนื้อกลับตัว ที่ขออภัยโทษ และขอพระองค์โปรดรับการสารภาพผิดของเรา เพราะพระองค์นั้นทรงอภัยและทรงเมตตาเสมอ และขอความจำเริญจงมีแด่เราะสูลของเรา และแก่วงศาคณาญาติของท่าน และแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมวล



ต้นฉบับจาก  http://islamselect.net/mat/111790

ผู้แปล: ยูซุฟ อบูบักรฺ  / islamhouse