มารยาทการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
โดยปกติวิสัยของมนุษย์แล้ว ชอบที่จะคบค้าสมาคมกับคนอื่น ๆ มีการร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน หรือเรียกสั้น ๆ ทางหลักการว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ซึ่งอิสลามก็ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผูกสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย
การสังคมกับคนอื่นศาสนาอิสลามได้กำหนดเป็นรูปแบบที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งได้กำหนดประเภทความผูกพันเป็นหลายระดับ โดยเริ่มประสานความสัมพันธ์กับคนที่ใกล้ชิดที่สุดก่อน อันได้แก่ พ่อและแม่ โดยให้มีการทำความดีกับท่านทั้งสอง เชื่อฟังคำสั่งสอน ให้เกียรติ รักษาเกียรติ ของท่านทั้งสองด้วยดี ต่อมาก็ให้สัมพันธ์กับคู่สามีภรรยา โดยทั้งสองต้องมีความรัก ให้เกียรติกันและกัน รวมทังต้องรักษาสิทธิของทั้งสองอย่างดีงามและครบถ้วน จากนั้นก็ให้สัมพันธ์กับบุตรหลาน ด้วยการให้ความรัก ความเมตตา ให้การเลี้ยงดู และปกป้องภัยอันตรายต่าง ๆ ให้ ต่อมาก็ให้สัมพันธ์กับพี่น้อง โดยให้ผู้เป็นน้องให้เกียรติยกย่องต่อ ผู้เป็นพี่ และให้ผู้เป็นพี่เมตตาเอ็นดูผู้เป็นน้อง และยังให้มีความสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิดและที่ห่างออกไปอีก ตามระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ด้วยการทำดีต่อเขาเหล่านั้น
ห่างออกไปในสังคม ก็ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกันนั้น ก็ต้องมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันทุกความสัมพันธ์ และทุกความสัมพันธ์ต้องมีการรักษาสิทธิของแต่ละฝ่ายอย่างเสมอกัน อันจะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคมในที่สุด
หน้าที่หลักในสังคมหลากหลายมีอยู่ 3 ประการ ตามโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน บทอะลาอิมรอน โองการที่ 110 ความว่า
“อันพวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ประเสริฐสำหรับมนุษยชาติ
เพราะพวกเจ้าใช้ให้กระทำดี พวกเจ้าห้ามมิให้กระทำการมิชอบ และพวกเจ้ามีความศรัทธาในอัลลอฮฺ”
การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีหลายระดับ ในที่นี้จะกล่าวเพียงบางระดับ เช่น สัมพันธ์กับเครือญาติ สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน สัมพันธ์กับผู้ป่วย และกับผู้เสียชีวิต โดยนำเสนอมารยาทการมีปฏิสัมพันธ์ตามลำดับต่อไปนี้
มารยาทสัมพันธ์เครือญาติ
1. เยี่ยมเยียนเครือญาติโดยสม่ำเสมอ มีการถามข่าวคราวอยู่เนือง ๆ และทำให้พวกเขาดีใจและมีความสุข เพื่อหวังในความพอพระทัยจากอัลลอฮฺตะอาลา
2. ต้องพยายามทำดีกับเครือญาติ สัมพันธ์กับพวกเขา ด้วยการมีไมตรีจิตกับพวกเขาแม้ใช้คำพูดที่สุภาพก็ยังดี และต้องไม่กระทำการใด ที่ก่อให้เกิดการตัดญาติ
3. สร้างความสัมพันธ์เครือญาติ ด้วยการแนะนำ ตักเตือนให้พวกเขาอยู่ในแนวทางของอัลลอฮฺ และให้ปฏิบัติกิจจำเป็น (ฟะรออิ๊ด) และละเว้นการบาป ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
4. สร้างความสัมพันธ์เครือญาติด้วยการบริจาคสิ่งจำเป็นดำรงชีพให้ หากพวกเขาอยู่ในฐานะยากจน เพราะการบริจาคให้แก่เครือญาตินั้นจะได้กุศลสองต่อ คือ กุศลสัมพันธ์เครือญาติ และกุศลการบริจาคทาน
5. ต้องไม่ตอบโต้ความชั่วด้วยความชั่ว ไม่ตัดสัมพันธ์เพราะถูกตัดสัมพันธ์ และไม่รอให้ญาติมาเยี่ยมก่อนแล้วค่อยไปเยี่ยมญาติ
6. หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพังกับหญิงหรือชายต่างเพศ ในระหว่างที่ได้ไปเยี่ยมญาติ เช่น ลูกสาวของป้า ของน้า เป็นต้น รวมทั้งต้องลดสายตาและรักษาวาจาอย่ามองและพูดสิ่งอันจะส่งผลกระทบกับความเป็นญาติกัน
มารยาทต่อเพื่อนบ้าน
1. เมื่อพบเพื่อนบ้านควรเริ่มด้วยการให้สลาม แล้วถามทุกข์สุขและแสดงออกถึงความมีไมตรีจิตต่อกัน
2. เมื่อเพื่อนบ้านป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ ต้องรีบช่วยเหลือหรือนำส่งโรงพยาบาลทันทีถ้าจำเป็น
3. เมื่อเพื่อนบ้านประสบเคราะห์กรรมหรือภัยพิบัติ ต้องแสดงความเสียใจ ปลอบใจ และหาทางบรรเทาทุกข์ให้พ้นจากภาวะเดือดร้อน และหากเพื่อนบ้านต้องการใช้สถานที่ในเขตบ้านเราในการทำบุญหรือรับแขกในวาระสำคัญ ๆ ก็ควรให้ใช้ด้วยความยินดี
4. ควรแสดงอารมณ์ร่วมกับเพื่อนบ้าน ทั้งอารมณ์สุขและอารมณ์ทุกข์ โดยไม่แสดงอาการดีใจเมื่อเพื่อนบ้านมีทุกข์ และไม่แสดงอาการไม่สบายใจเมื่อเพื่อนบ้านมีความสุข โดยเฉพาะต่อหน้าเพื่อบ้าน
5. ควรมีการให้อภัยต่อเพื่อนบ้านที่อาจกระทำการอันเป็นการล่วงล้ำก้ำเกิน โดยไม่เจตนา และถ้าจะมีการตำหนิก็ให้กระทำด้วยความสุภาพละมุนละม่อม
6. ควรมีความเมตตา สงสาร และตักเตือนลูกหลานของเพื่อนบ้าน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและ ด้วยความรักเหมือนลูกหลานตนเอง
7. ต้องไม่แอบมองครอบครัวของเพื่อนบ้าน หรือค้นหาความลับของพวกเขา แต่ต้องให้เกียรติและรักษาศักดิ์ศรีของเพื่อนบ้านดุจศักดิ์ศรีของตนเอง
8. ต้องไม่ส่งเสียงดัง ด้วยการพูดคุย การเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์และเครื่องเสียง เป็นการสร้าง ความรำคาญให้เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในยามวิกาล
9. ต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน ด้วยการกีดขวางทางเข้าบ้าน หรือก่อสร้างล้ำเข้าเขตบ้าน และทิ้งขยะมูลฝอยที่หน้าบ้านหรือในเขตบ้านของเพื่อนบ้าน
10. ตักเตือน ให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องศาสนา แก่เพื่อนบ้านด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ
11. มีความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งน่ารำคาญที่เกิดจากการกระทำของเพื่อนบ้าน
12. แสดงไมตรีจิตอันดีงามต่อเพื่อนบ้าน ด้วยการช่วยเหลือทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ และควรมีน้ำใจด้วยการให้อาหาร หรือของขวัญโดยเฉพาะในโอกาสสำคัญ ๆ
13. มอบสิทธิในความเป็นเพื่อนบ้านต่อเพื่อนบ้านที่สมควรได้รับสิทธินั้น ซึ่งเพื่อนบ้านนั้น แบ่งเป็น 3 ระดับที่ควรได้รับสิทธิที่แตกต่างกันดังนี้
ระดับที่ 1 ได้รับสิทธิสามสิทธิ ได้แก่ เพื่อนบ้านที่เป็นญาติ เป็นมุสลิม และเป็นเพื่อนบ้าน
ระดับที่ 2 เป็นเพื่อนบ้านและเป็นมุสลิม และ
ระดับที่ 3 เป็นเพื่อนบ้านต่างศาสนิก
ทั้งสามระดับนั้น ล้วนเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องเอาใจใส่ดูแล ให้การช่วยเหลือ และทำความดีด้วยทั้งสิ้น แต่หน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อพวกเขานั้นก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในระดับใด ก็ให้ปฏิบัติตามความสัมพันธ์ระดับใด ก็ให้ปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ในระดับนั้น ๆ