มารยาทการคบเพื่อน
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการคบเพื่อนเป็นอย่างมาก เพราะเพื่อนย่อมมีอิทธิพลต่อเพื่อนมากที่สุด ทั้งในทางดีและทางไม่ดี ดังนั้น อิสลามจึงสนับสนุนให้คบกับคนซื่อสัตย์และมีสัจจะ อัลกุรอาน บัญญัติไว้ความว่า
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงคบอยู่กับผู้สัจจะจริงเถิด”
(10/119)
จงคบหาเป็นเพื่อนกับผู้ภักดีมีคุณธรรม อัลลอฮฺตรัสในบทอัลกะฮฺฟิ ความว่า
“เจ้าจงอดทนต่อตัวเจ้า โดยอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่เชิญชวนสู่พระผู้อภิบาลของพวกเขาโดยเจตนาอันบริสุทธิ์ต่อพระองค์ ทั้งยามเช้าและยามเย็น”
(18/28)
อิสลามห้ามมิให้คบหาคนชั่วเป็นเพื่อน อัลลอฮฺตรัสในบท อัลฟุรกอน โองการที่ 27 – 28 ความว่า
“และในวันที่คนเลวได้กัดมือของเขา เขากล่าวว่า โอ้ ถ้าฉันยึดเอาศาสนทูตเป็นทางนำก็จะดี
โอ้ความวิบัติแก่ฉันแล้ว ถ้าฉันไม่คบคนเลวคนนั้นก็จะดี”
การคบเพื่อนจำเป็นต้องดูให้รอบคอบ เพราะคนที่เป็นเพื่อนนั้น จะถ่ายทอดทุกสิ่งของเขาสู่เราโดยไม่รู้ตัว หากคบคนดีเป็นเพื่อน เราจะได้รับการถ่ายทอดสิ่งที่ดี แต่ถ้าคบคนไม่ดีเป็นเพื่อน ก็จะได้รับการถ่ายทอดสิ่งไม่ดีไปด้วย ดังนั้น การเลือกคบคนดีจึงเป็นหน้าที่ของคนที่ชอบเป็นคนดี
ท่านนบี กล่าวว่า “ท่านต้องเลือกคบแต่เพื่อนที่ดีมีศรัทธาเท่านั้น อาหารของท่านต้องให้คนดีได้รับประทานเท่านั้น”
(บันทึกโดยอบูดาวูด และติรมิซี)
ท่านนบี เคยเปรียบเทียบการคบคนดีและไม่ดีไว้ว่า
“อุปมาเพื่อนที่ดีและเพื่อนที่ไม่ดี เปรียบได้ดั่งคนถือชะมดเชียง และคนที่ถือเตาไฟ โดยคนถือชะมดเชียงนั้น จะทำให้ท่านปลอดภัย ซื้อชะมดเชียงจากเขาก็ได้ และกลิ่นมันก็หอม ส่วนผู้ถือเตาไฟ มีแต่จะทำให้เสื้อผ้าท่านถูกไฟไหม้ และกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจ”
( บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)
ดังนั้น การคบเพื่อนต้องระวัง อิสลามจึงกำหนดมารยาทการคบเพื่อนไว้เป็นแนวทางเพื่อความไม่ประมาท ดังนี้
1. ต้องเลือกคบคนดี ควรมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ ปัญญา ศาสนา และมารยาทดี
2. ควรหลีกเลี่ยงการคบเพื่อนโง่เขลาเบาปัญญาและเป็นคนเลว
3. ควรคบเพื่อนด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา มิใช่คบเพื่อนเพื่อหวังประโยชน์ทางโลกหรือประโยชน์ระยะใกล้ การคบเพื่อนเพื่ออัลลอฮฺ หมายถึง คบเพื่อนเพราะความรู้เขาดี มีมารยาทดี เป็นคนดีมีศีลธรรม
4. บอกเพื่อนให้ได้ทราบว่าที่ตนรักเพื่อนนั้น มิใช่เพื่ออื่นใด นอกจากเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น ทั้งนี้เพราะต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนเป็นความสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ ลึกซึ้งและเหนียวแน่นซึ่งมีสายเชือกของอัลลอฮฺ ผูกมัดไว้
5. การจะคบใครเป็นเพื่อนต้องรู้ประวัติและภูมิหลังของเขาก่อนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และอยู่ที่ไหน เป็นต้น
6. ต้องคิดว่าเพื่อนก็เหมือนกับตัวเอง ที่ชอบจะได้รับซึ่งความดี ดังนั้น จึงต้องรักที่จะให้เพื่อนได้รับสิ่งดี ๆ เหมือนกับตนชอบที่จะได้รับสิ่งดีงาม
7. ควรกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพบสนทนาปรึกษาหารือกัน เสียสละให้กันและกัน และมีการเยี่ยมเยียน ฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอยู่เสมอ
8. หากเพื่อนได้รับความเดือดร้อนและมีภัย ต้องรีบให้การช่วยเหลือ เพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนเท่าที่ความสามารถอย่างเต็มกำลัง
9. ต้องมีความพอดีในความรักเพื่อน คือ ไม่สรรเสริญเยินยอกันจนเกินเหตุ ต้องมีความเป็นกลางในการทำงาน และต้องมีความเป็นธรรมในการตัดสิน กล่าวคือ ไม่เข้าข้างเพื่อนในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องยึดความถูกต้องเป็นสำคัญ
10. ควรมีการแสดงความมีไมตรีจิตต่อกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนให้ของขวัญกันและกัน ในวาระและโอกาสอันสำคัญ เพื่อให้ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและยาวนาน
11. ควรเริ่มให้สลามและสัมผัสมือก่อน ในทุกครั้งที่พบกัน ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพูดจาสนทนาด้วยคำพูดที่ดี
12. ต้องหลีกเลี่ยงกระทำสิ่งใด ๆ ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนขาดสะบั้นลง เช่น การล้อเลียน การนินทาให้ร้าย การอิจฉาริษยา การมองเพื่อนในแง่ร้าย เป็นต้น
13. ต้องไม่เปิดเผยความลับของเพื่อนให้ผู้อื่นทราบ เพราะเมื่อเพื่อนรู้ว่าตนเองขายความลับของเพื่อนก็ต้องมีปัญหาแน่
14. ต้องรักษาสิทธิของเพื่อนให้เต็มความสามารถ ซึ่งมีหลายประการ ดังมีนักวิชาการอิสลามได้เสนอแนะไว้บางส่วน ดังนี้
♦ ไม่เข้าใจเพื่อนผิด หรือมองเพื่อนในแง่ร้าย
♦ ไม่ละเมิดหรือทุจริตต่อเพื่อน
♦ ไม่นินทาให้ร้ายเพื่อน
♦ ควรปฏิเสธหรือออกรับชี้แจง หากมีคนนินทาเพื่อน
♦ ขอพร (ดุอาอฺ) ให้เพื่อน ได้รับซึ่งความดีงาม
♦ ขอร้องให้เพื่อนช่วยขอพรให้
♦ อดทนต่อบางอย่างที่เพื่อนทำให้เกิดความไม่พอใจ
♦ ให้เกียรติต่อเพื่อนของเพื่อน และไม่คบหากับศัตรูของเพื่อน
♦ ถามหาข่าวของเพื่อน เมื่อเพื่อนหายไป
♦ ไปเยี่ยมเยียน เมื่อเพื่อนหายไป
♦ ไปหาเพื่อน เมื่อเพื่อนต้องการพบ
♦ จัดการธุระให้เพื่อน เมื่อเพื่อนไหว้วาน
♦ ขจัดความทุกข์ให้เพื่อน เมื่อเพื่อนเดือดร้อน
♦ ทำสิ่งที่เพื่อนพอใจและมีความสุข
♦ ปกปิดเอาเราะห์ (ส่วนสงวน) ให้เพื่อน
♦ ให้สลามและยิ้มแย้มต่อเพื่อน
♦ ให้เกียรติและให้ความสะดวกแก่เพื่อนในที่ประชุม
♦ ตักเตือนเพื่อนในที่ลับตาคน
♦ ให้ความช่วยเหลือเพื่อน ด้านทรัพย์หรือหน้าที่การงาน
♦ รักษาความลับของเพื่อน
♦ ไม่บอกเพื่อน เมื่อมีคนพูดถึงเพื่อนในทางไม่ดี และบอกเพื่อน หากมีคนชื่นชม
♦ ขอบคุณเพื่อน เมื่อเพื่อนสร้างความดีงาม
♦ ต้องมีความจริงใจต่อเพื่อน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
♦ ควรระลึกถึงเพื่อน เมื่อเพื่อนเสียชีวิตไป
♦ ควรทำดีแก่ครอบครัวและญาติ ๆ ของเพื่อน