ความประเสริฐของผู้แสวงหาความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  127641

 

ความประเสริฐของผู้แสวงหาความรู้

เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี มิฟตาฮุ้ลอุลูม

 

          ศาสนาอิสลามถือว่าการหาความรู้เป็นภารกิจที่พิเศษยิ่ง โดยเฉพาะการหาความรู้ที่อัลลอฮฺ  ประทานลงมาให้แก่ร่อซูลของพระองค์ ถือว่าเป็นการงานที่มีความประเสริฐยิ่ง ถือเป็นอิบาดะฮฺที่สูงส่ง และเป็นแขนงหนึ่งของการทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ อีกด้วย และสำหรับมนุษย์จำเป็นที่จะต้องขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺ  ให้พระองค์ได้ประทานความรู้ให้ ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า
 

“และจงกล่าวเถิดว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน โปรดเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ฉันด้วยเถิด” 
 

(ฏอฮา 114)

 

ศาสนาอิสลามยังได้บอกถึงความประเสริฐของการหาความรู้ไว้อย่างมากมาย อาทิ

 

     ♥ การศึกษาหาความรู้มีความประเสริฐอย่างยิ่งโดยเฉพาะการศึกษาศาสนา อิสลามได้ทรงยกย่องบรรดาผู้ศึกษาเล่าเรียนอัลกุรอาน และผู้ที่สอนอัลกุอาน ว่าเป็นบุคคลที่มีความประเสริฐที่สุด ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ القُرْآنَ وَعَلَّمَهُ أخرجه البخاري

 

“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่ศึกษาอัลกุรอานและสอนอัลกุรอาน” 
 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ )

         หะดีษบทนี้ท่านนบี  ได้บอกถึงผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน หมายความว่าผู้ที่มีความประเสริฐที่สุด และสถานะอันสูงส่งของผู้ศึกษาหาความรู้อัลกุรอ่านไม่ว่าจะเป็นผู้อ่าน ผู้ศึกษาเรียนรู้ และผู้สอน และอีกนัยหนึ่งคือท่านนบี  ได้บอกถึงตำแหน่งหน้าที่การงานที่ประเสริฐที่สุดนั้นมิใช่ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ได้รับเงินเดือนมากที่สุด หรือมีอำนาจมากที่สุด แต่ตำแหน่งที่ได้รับการยกย่องจากอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์มากที่สุด คือผู้ศึกษาและผู้ที่สอนความรู้ในเรื่องราวของอัลกุรอาน หรือเรื่องหลักการของศาสนา

          ในสังคมปัจจุบัน เรามักจะให้ความสำคัญแก่บรรดาครูผู้สอนอัลกุอานน้อยกว่าหน้าที่ทางราชการ หรือตำแหน่งนักธุรกิจ หรือพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนมากมาย เห็นได้อย่างชัดเจนว่าในสังคมมักมองครูสอนอัลกุรอานว่าต้องเป็นบุคคลที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก และจะถูกให้ความสำคัญน้อยจากบรรดาผู้คนในสังคม สังคมที่เป็นอยู่จึงเป็นสังคมที่ขาดแคลนความรู้และความศรัทธาที่ถูกต้อง บรรดาดาเยาวชนบุตรหลานจึงถูกสิ่งชั่วร้ายดังเช่น ยาเสพติด ชักจูงไปอย่างง่ายดาย

         ท่านนบี  ได้วางรากฐานสังคมแห่งความรู้ ที่ต้องให้ความสำคัญแก่บรรดาครู และนักเรียน โดยเฉพาะในเรื่องอัลกุรอานและหลักการทางศาสนา เพื่อให้บุคลากรในสังคมที่ถูกขัดเกลาด้วยอัลกุรอานได้ออกมารับใช้สังคม เพื่อเป็นสังคมแห่งความรู้ ความศรัทธา และความสันติสุข 


     ♥ การได้รับความรู้ในเรื่องศาสนานั้นถือว่าเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ  ที่มีต่อผู้ที่พระองค์ทรงรักและทรงประสงค์ ที่จะให้เขาได้รับความดีจากพระองค์ ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


مَنْ يُرِدِ اللَّهُ بِهِ خَيْرًا يُفَقِّهْهُ فِي الدِّينِ متفق عليه

"เมื่ออัลลอฮฺทรงประสงค์ให้บ่าวคนหนึ่งได้รับความดีงาม พระองค์จะให้เขามีความเข้าใจในศาสนา"

(บันทึกโดยบุคอรีย์ มุสลิม)

         หะดีษบทนี้ท่านนบี  ได้ชี้ถึงสัญลักษณ์ของการได้รับความดีและความผาสุขจากอัลลอฮฺ  คือการที่บ่าวของพระองค์มีความเข้าใจในศาสนาและบทบัญญัติของพระองค์ เข้าใจในคำสั่งใช้ และคำสั่งห้ามของพระองค์ และเขาก็ได้ปฏิบัติตามความเข้าใจนั้น


     ♥ การศึกษาหาความรู้เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ  เพราะยิ่งศึกษาหาความรู้มากก็จะมีอีหม่านมากขึ้นทำให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ  มากขึ้น ทำให้รู้ถึงบทบัญญัติ คำสั่งใช้และคำสั่งห้ามต่างๆ และผู้ที่มีความรู้นั้นย่อมเป็นคนที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ  ซึ่งอัลลอฮฺ  ได้ทรงยกย่องพวกเขา เนื่องจากการศึกษาหาความรู้ของเขาทำให้เขาเป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ  และเป็นผู้ที่ยำเกรง เกรงกลัวต่อพระองค์ ดังที่พระองค์ ตรัสความว่า

“แท้จริงบรรดาผู้มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ” 

( ฟาฏิร 28 )

         ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนิตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่า “ในอายะฮฺนี้ได้ชี้ว่าผู้ที่ยำเกรง เกรงกลัวอัลลอฮฺ  คือผู้ที่มีความรู้ ซึ่งพวกเขาคือผู้ที่มีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ  อย่างแท้จริง แต่มิได้หมายความว่าผู้รู้ทุกคนจะเป็นผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ  

 (مجوع الفتاوى )

         ในอายะฮฺนี้ได้บอกถึงบุคคลทั่วไปว่าการได้มาซึ่งความยำเกรงนั้น จะต้องศึกษาหาความรู้ และอายะฮฺนี้ก็เป็นย้ำเตือนบรรดาผู้รู้และผู้แสวงหาความรู้ให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ  อย่างแท้จริง


     ♥ การศึกษาหาความรู้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความง่ายดายในการเข้าสู่สวนสวรรค์ เหตุเพราะผู้ที่ศึกษาหาความรู้ได้ทุ่มเทชีวิตของเขาอยู่บนหนทางแห่งการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของศาสนา ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


مَنْ سَلَكَ طَرِيقًا يَلْتَمِسُ فِيهِ عِلْمًا سَهَّلَ اللَّهُ لَهُ طَرِيقًا إِلَى الْجَنَّةِ رواه مسلم

“ใครก็ตามที่ได้ออกไปบนหนทางการแสวงหาความรู้ อัลลอฮฺจะทรงทำให้ง่ายดายแก่เขาซึ่งหนทางไปสู่สวรรค์”

 (รายงานโดยมุสลิม)

        หะดีษบทนี้ท่านนบีได้บอกถึงผู้ที่แสวงหาความรู้ อัลลอฮฺ  จะให้เขาเข้าสวรรค์อย่างง่ายดายนั้น หมายความว่า อัลลอฮฺ  จะให้เขาได้รับทางนำและความสำเร็จในการไปสู่สวรรค์อย่างง่ายดาย ด้วยความรู้ที่เขาแสวงหาทำให้เขาเข้าใจถึงหนทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และอีกหะดีษนึง ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


مَنْ خرجَ في طلَبِ العِلمِ ، فهوَ في سبيلِ اللهِ حتى يرجِعَ رَوَاهُ التِّرمِذِيُّ

“ใครก็ตามที่ออกไปแสวงหาความรู้ เขาจะอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ จนกว่าเขาจะกลับ” 

(รายงานโดย อัตติรมิซีย์)


     ♥ บรรดาผู้แสวงหาความรู้ มีตำแหน่งและหน้าที่เป็นผู้รับมรดกจากบรรดานบีและบรรดาร่อซูล เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ศึกษาหาความรู้ก็เท่ากับว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดมรดกอันล้ำค่าของบรรดานบีและร่อซูล ดังหะดีษของท่านนบี  ที่ท่านได้กล่าวว่า


فَضْلُ الْعَالِمِ عَلَى الْعَابِدِ كَفَضْلِ الْقَمَرِ لَيْلَةَ الْبَدْرِ عَلَى سَائِرِ الْكَوَاكِبِ، وَإِنَّ الْعُلَمَاءَ وَرَثَةُ الأَنْبِيَاءِ،وَإِنَّ الأَنْبِيَاءَ لَمْ يُوَرِّثُوْا دِيْنَارًا وَلاَ دِرْهَمًا، وَلَكِنْ وَرَّثُوْا الْعِلْمَ، فَمَنْ أَخَذَهُ أَخَذَ بِحَظٍّ وَافِرٍ رواه أبوداود

     “ความประเสริฐของผู้รู้ที่โดดเด่นเหนือผู้ปฏิบัติอิบาดะฮฺ เปรียบเสมือนความประเสริฐของดวงจันทร์ในคืนจันทร์เพ็ญ ที่โดดเด่นเหนือดาวดวงอื่นๆ และแท้จริงบรรดาอุละมาอฺคือทายาทผู้รับมรดกจากบรรดานบี 

     และแท้จริงบรรดานบีไม่ได้ทิ้งมรดกแม้แต่หนึ่งดีนารหรือหนึ่งดิรฮัม แต่ทว่าพวกเขาได้ทิ้งมรดกแห่งความรู้ ดังนั้นผู้ใดรับมรดกแห่งความรู้ (จากพวกเขา)แท้จริงเขาได้รับเอาส่วนแบ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์” 

(รายงานโดยอบูดาวูด )


     ♥ อัลลอฮฺ  ยังได้ยกสถานะที่สูงส่งแก่ผู้มีความรู้ และผู้ศรัทธา หลายระดับชั้น โดยทั้งความรู้และความศรัทธาต่างก็มีความสำคัญทั้งคู่ เพราะถึงแม้ว่ามีอีหม่านแต่ไม่มีความรู้อีหม่านนั้นจะไม่สมบูรณ์ และความรู้ก็จะไม่สมบูรณ์หากว่าไม่มีอีหม่านเช่นกัน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“อัลลอฮฺทรงยกฐานะของบรรดาผู้ศรัทธาและผู้ที่มีความรู้ทั้งหลายในหลายระดับ และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” 

( อัลมุญาดะละฮฺ 11 )

          อัลลอฮฺ  ทรงยกสถานะของบรรดาผู้ศรัทธาและผู้มีความรู้ให้เหนือกว่ามนุษย์โดยทั่วไปในความประเสริฐ โดยพระองค์ทรงยกสถานะให้ทั้งในดุนยา และในอาคิเราะฮฺ ด้วยการตอบแทนสิ่งที่เขาได้ขวนขวายมาด้วยความรู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ หรือ การทำอะมั้ลด้วยความรู้ของเขา โดยแต่และคนก็จะมีระดับชั้นที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความศรัทธาและความรู้ของเขา


     ♥ อัลลอฮฺ  ยังเรียกร้องให้ศึกษาหาความรู้และออกห่างจากความไม่รู้ เพราะความรู้คือแสงสว่างที่จะมากำจัดความโง่เขลาที่มืดมนออกไป โดยอัลลอฮฺ  ทรงบอกถึงสถานะของผู้มีความรู้ว่าย่อมดีกว่าผู้ไม่มีความรู้ อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) บรรดาผู้มีความรู้กับบรรดาผู้ไม่มีความรู้จะเท่าเทียมกันหรือ?” 

(อัซซุมัร 9)

          อัลลอฮฺ  ทรงบอกถึงสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างแน่นอนระหว่าง ผู้มีความรู้ กับผู้ไม่รู้ เพราะผู้มีความรู้ย่อมรู้ถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรมที่อัลลอฮฺ  ประทานมา ทำให้รู้ว่าการกระทำใดจะได้รับความดีหรือความชั่ว ซึ่งต่างกับผู้ที่ไม่รู้ เขาจะไม่รู้สัจธรรม จึงไม่รู้ว่าการกระทำที่ทำไปจะได้รับความดีหรือความชั่ว อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“ดังนั้น ผู้ที่รู้ว่าแท้จริงสิ่งที่ถูกประทานแก่เจ้า จากพระเจ้าของเจ้านั้นเป็นความจริง จะเหมือนกับผู้ที่ตาบอดกระนั้นหรือ ?

แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ” 

(อัรเราะอฺดุ 19 )

อัลลอฮ์ เปรียบสถานะของผู้ที่มีความรู้และผู้ไม่มีความรู้
 

เสมือน คนเป็น กับ คนตาย ( الحي والميت )
เสมือน คนได้ยิน กับ คนหูหนวก (السميع والأصم )
เสมือน คนมองเห็น กับ คนตาบอด ( البصير و الأعمى )


     ♥ ความรู้ที่เป็นประโยชน์เป็นผลบุญที่จะติดตัวมนุษย์ไปในหลุมฝังศพ ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


إِذَا مَاتَ الإِنْسَانُ انْقَطَعَ عَمَلُهُ إِلا مِنْ ثَلاثٍ : صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُو لَهُ أَخْرَجَهُ مُسْلِمٌ

“เมื่อมนุษย์เสียชีวิตลง การงานของเขาจะถูกตัดขาด นอกจาก สามประการ

คือ ศอดะเกาะฮฺที่ได้ผลบุญต่อเนื่อง หรือ ความรู้ที่มีประโยชน์แก่เขา หรือ ลูกที่ดีขอดุอาอฺให้เขา” 

(บันทึกโดยมุสลิม)

         ท่านนบี  ได้ย้ำเตือนแก่มนนุษย์ว่า ความรู้ที่มีประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับมนุษย์มากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะทรัพย์สินไม่สามารถตามติดตัวเขาไปในหลุมฝังศพได้ ความรู้ที่ยังประโยชน์สำหรับผู้เสียชีวิต คือความรู้ในหลักการศาสนาที่เขาได้ศรัทธา ได้ปฏิบัติ และได้เคยเผยแพร่ไว้เมื่อครั้งที่มีชีวิต อันเป็นความรู้ที่ได้รับผลบุญแก่เขาเอง และมีผลบุญในการเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง

         อิสลามยังได้บอกถึงความประเสริฐของการหาความรู้ไว้อีกมากมาย อันเป็นสถานะตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความรัก และการใกล้ชิดจากอัลลอฮฺ  ที่บรรดาผู้ศรัทธาสมควรอย่างยิ่งที่จะแสวงหาสถานะอันสูงส่งนี้ ถือเป็นสิ่งล้ำค่ามากที่สุดสำหรับผู้ศรัทธา ดังคำพูดของชาวสะลัฟที่ว่า


خَيْرُ الْمَوَاهِبِ الْعَقْلُ ، وَشَرُّ الْمَصَائِبِ الْجَهْلُ

 

“ของขวัญที่ล้ำค่ำที่สุด คือ สติปัญญา และภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุด คือ ความโง่เขลา”


 

         สุดท้ายนี้ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ  ให้บรรดาผู้ที่มีความรู้และบรรดาผู้แสวงหาความรู้ได้อยู่ร่วมกับบรรดาคนดีทั้งหลายทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เสมือนดุอาอฺของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสะลาม ในอัลกุรอาน ที่ความว่า

“ข้าแต่พระเจ้าของฉัน ! ขอพระองค์ประทานความรู้แก่ฉัน
และทรงให้ฉัน อยู่ร่วมกับบรรดาคนดีทั้งหลาย
และทรงทำให้ฉัน ได้รับการรำลึกอย่างดีในหมู่ชนรุ่นต่อไป
และทรงทำให้ฉัน อยู่ในหมู่ผู้รับมรดกแห่งสวนสวรรค์ อันรื่นรมด้วยเถิด” 

(อัช-ชุอะรออฺ 83-85 )


والله أعلم