การประดิษฐ์สิ่งใหม่
เชค ศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน
ความหมายของคำว่าบิดอะฮฺ
บิดอะฮฺในด้านภาษาอาหรับ : คือ การประดิษฐ์สึ่งหนึ่ง โดยที่ไม่มีแบบอย่างมาก่อน ดังในคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺที่ว่า :
"พระองค์อัลลอฮฺ คือผู้ที่ประดิษฐ์บรรดาชั้นฟ้าและพื้นแผ่นดิน”
(อัล-บากอเราะฮฺ 117 )
หมายถึง พระองค์อัลลอฮฺได้สร้างมันขึ้นมา โดยที่ไม่มีตัวอย่างมาก่อน(คือไม่มีการสร้างมาก่อน พระองค์คือผู้ที่แรกเริ่ม) และจากดำรัสของพระองค์อีกว่า
"จงกล่าวเถิดมุหัมมัด ฉันไม่ใช่บุคคลแรกจากบรรดาศาสนทูต"
(อัล-อะหฺกอฟ 9)
หมายถึง : ฉันไม่ใช่ผู้แรกที่นำสารจากพระผู้เป็นเจ้าสู่มวลมนุษย์ แต่มีบรรดาศาสนทูตมากมายก่อนหน้าฉันเหมือนกัน
ในภาษาอาหรับ อาจจะมีการพูดว่า บุคคลหนึ่งได้กระทำบิดอะฮฺใดๆ นั่นหมายถึง : เขาได้ริเริ่มแนวทางหนึ่งขึ้นมาโดยที่ไม่เคยมีปรากฏแบบอย่างนั้นมาก่อน
การประดิษฐ์ใหม่หรืออุตรินั้นมีสองแบบ คือ
1. การประดิษฐ์ใหม่ในด้านอาดะฮฺ (สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา) ได้แก่การริเริ่มคิดค้นเครื่องมือสมัยใหม่ต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ล้วนแล้วเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้ เนื่องจากกฎเดิม(ทางศาสนา)ในเรื่องราวทางโลก เป็นสิ่งที่อนุญาต เว้นแต่จะมีตัวบทหลักฐานมากำกับห้ามสิ่งดังกล่าวไว้
2. การประดิษฐ์ใหม่ในด้านศาสนาคือ การอุตริกรรมในเรื่องราวของศาสนา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะว่ากฎในเรื่องราวต่างๆ ของศาสนา ขึ้นอยู่กับตัวบทหลักฐาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า :
"บุคคลใดก็ตามที่ กระทำสิ่งใหม่ขึ้นในกิจการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งไม่มีในกิจการงานของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณ ที่อัลลอฮฺ)"
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 167 )
และอีกรายงานหนึ่ง มีสำนวนว่า
"บุคคลใดก็ตามที่ กระทำการงานหนึ่งการงานใด ขึ้นในการงานของเรา (ศาสนา)ซึ่งมันไม่มีในคำสั่งของเรา
มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณ ที่อัลลอฮฺ)"
(รายงานโดย มุสลิม :1718)
ประเภทของบิดอะฮฺ
บิดอะฮฺในศาสนามีอยู่ สองประเภทด้วยกัน ได้แก่:
ประเภทที่หนึ่ง : บิดอะฮฺในด้านคำพูดหรือความเห็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น ความเชื่อต่างๆ ของพวกญะฮฺมียะฮฺและพวกมุอฺตะซิละฮฺ รวมถึงพวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ และกลุ่มหลงผิดต่างๆ
ประเภทที่สอง : คือ บิดอะฮฺด้านอิบาดะฮฺ เช่น การประกอบอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ ด้วยกับอิบาดะฮฺที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้
ซึ่งบิดอะฮฺในประเภทที่สองนี้ มีอยู่หลายชนิดด้วยกันคือ :
1. การริเริ่มอิบาดะฮฺหนึ่ง ที่มันไม่มีหลักฐานในศาสนาโดยสิ้นเชิง เช่นการอุตริการละหมาด การถือศีลอด หรือกำหนดวันรื่นเริง อาทิ การฉลองวันเกิดต่างๆ ขึ้นมาโดยที่สิ่งดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในศาสนา
2. สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาในอิบาดะฮฺที่ถูกบัญญัติไว้ เช่น การเพิ่มร็อกอะฮฺที่ห้าในละหมาด ซุฮรฺ หรือ อัศรฺ เป็นต้น
3. การประกอบอิบาดะฮฺที่ไม่ตรงตามหลักลักษณะที่ถูกบัญญัติไว้ เช่น การกล่าวซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอ์ในวาระต่างๆเป็นแบบกลุ่มหรือหมู่คณะพร้อมเพียงกันเหมือนเป็นท่วงทำนองขับร้อง หรือจะเป็นการเลยขอบเขตในการประกอบอิบาดะฮฺจนถึงขั้นออกนอกแบบอย่างสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
4. การกำหนดวันเวลา เพื่อการประกอบอิบาดะฮฺที่ศาสนาไม่ได้บัญญัติไว้ อาทิ การกำหนดคืนนิศฟูชะฮฺบาน สำหรับถือศีลอดในตอนกลางวัน และ ละหมาดยามค่ำคืนในวันดังกล่าว เพราะการละหมาดและการถือศีลอดแน่นอนมันเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติในศาสนาอยู่เดิมแล้ว เพียงแต่การกำหนดวันเวลาเฉพาะเจาะจงในการปฏิบัติ จะต้องมีตัวบทหลักฐานมากำกับด้วย
ข้อตัดสินของบิดอะฮฺในศาสนาทุกประเภท
บิดอะฮฺทุกประเภทในศาสนาล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม และหลงผิดทั้งสิ้น ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
“และพวกเจ้าจงระวังสิ่งใหม่ในศาสนา เพราะว่าทุกๆ บิดอะฮฺนั้นคือความหลงผิด”
(รายงานโดย อะบู ดาวูด : 4607 และอัต-ติรมิซีย์ : 2676)
และอีกคำกล่าวหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า :
"บุคคลใดก็ตามที่ กระทำสิ่งใหม่ขึ้นในการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งไม่มีหลักฐานจากศาสนานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ)"
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 167 )
และอีกรายงานหนึ่ง มีสำนวนว่า :
"บุคคลใดก็ตามที่ กระทำการงานหนึ่งการงานใด ขึ้นในการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งมันไม่มีในคำสั่งของเรา
มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณ ที่อัลลอฮฺ)"
(รายงานโดย มุสลิม :1718 )
หะดีษข้างต้นได้บ่งถึงว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ในศาสนามันคือบิดอะฮฺ และทุกๆ บิดอะฮฺมันคือความหลงผิด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธทั้งสิ้น ซึ่งความหมายว่า บิดอะฮฺต่างๆ ไม่ว่าจะในเรื่องอิบาดะฮฺหรือเรื่องหลักความเชื่อก็ตาม ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในหลักการศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งระดับความรุนแรงของความผิดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพของบิดอะฮฺนั้นๆ เป็นรายกรณีไป เช่น
♣ - บิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺ(การปฏิเสธศรัทธา)อย่างชัดเจน เช่น การเฏาะวาฟ(หมุนเวียน)รอบหลุมศพเพื่อเป็นการใกล้ชิดต่อผู้ที่อยู่ในหลุมศพนั้น การเชือดสัตว์ การบนบาน การขอดุอาอ์และการขอความช่วยเหลือจากหลุมศพดังกล่าว ถือเป็นกุฟรฺทั้งสิ้น และจากสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺกุฟรฺเช่นกันคือแนวคิดหรือคำกล่าวต่างๆ ของพวกที่สุดโต่งทั้งหลายจากพวกญะฮฺมียะฮฺ และพวกมุอฺตะซิละฮฺ
♣ - บิดอะฮฺที่เป็นสื่อนำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ได้แก่ การสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมศพ การขอดุอาอ์ ณ สถานที่ดังกล่าว เป็นต้น
♣ - บิดอะฮฺที่เป็นบาปในด้านความเชื่อ ได้แก่บิดอะฮฺของพวกเคาะวาริจญ์ พวกเกาะดะรียะฮฺ พวกมุรญิอะฮฺ เป็นต้น ซึ่งที่ปรากฏอยู่ในตำราและความเชื่อของพวกเขาที่ขัดแย้งกับตัวบทหลักฐานทางศาสนา
♣ - บิดอะฮฺที่เป็นการฝ่าฝืนที่เป็นบาป ได้แก่การไม่แต่งงานเพื่อใช้เวลาอยู่กับการประกอบอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ การยืนกลางแสงแดดขณะถือศีลอด และการทำหมันเพื่อไม่ให้มีความใคร่ในสตรี
แปลโดย : อับดุลอาซีซ สุนธารักษ์ / Islamhouse