สิทธิมนุษยชนตามแบบฉบับท่านนะบีมุฮัมมัด
นิพล แสงศรี
การพึ่งพากันและกัน อิสลามถือว่า ความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ด้านประชากร และด้านเชื้อชาติหรือวงศ์ตระกูลของมนุษยชาติ คือหนทางนำไปสู่การเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์กัน การเอื้อเฟื้อกัน และความร่วมมือกัน ขณะเดียวกันจะปิดประตูต้นเหตุแห่งการบาดหมาง พยาบาท การเข่นฆ่า และสงครามนองเลือดระหว่างกัน คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเชื้อชาติและเผ่าตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน"
(อัลหุญุรอต : 13)
ดังนั้นการรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึงความร่วมมือกันในด้านต่างๆ และถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ ทั้งในด้านพัฒนาการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง และอื่นๆ
สังคมและการคบค้าสมาคม เมื่ออิสลามยอมรับการอยู่ร่วม สังคมพหุวัฒนธรรม แบบหลายหลาก จึงไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดที่จะปฎิบัติดีต่อผู้ที่มิได้ต่อต้าน กดขี่ ข่มเหง เผาทำลาย เข่นฆ่า และขับไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอน คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้า ในเรื่องศาสนา
และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่ พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา
แท้จริง อัลลอฮ์ ทรงรักผู้มีความยุติธรรม"
(อัลมุมตะหะนะฮ์ : 8)
เช่นเดียวกับช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขาตราบใดที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายอิสลาม ดังปรากฎในคัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"และพวกท่านจงช่วยเหลือสนับสนุนกันในความดีและยำเกรง และพวกท่านอย่าช่วยเหลือสนับสนุนในกิจกรรมที่บาปและการเป็นศัตรูกัน"
(อัลมาอิดะฮ์ : 2)
ส่วนคนที่ประกาศตนเป็นศัตรูต้องการทำลายล้างอิสลาม (กาเฟรหัรบีย์) หรือแสดงออกเชิงเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา อิสลามห้ามคบค้าสมาคมด้วย คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"แต่ว่าอัลลอฮ์ ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า
และช่วยเหลือให้ขับไล่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะผูกมิตรกับพวกเขาและผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้อธรรม"
(อัลมุมตะหะนะฮ์ : 9)
การโต้แย้งด้วยวิธีที่ดีกว่า อิสลามยึดหลักการสนทนาและเจรจาสันติวิธีนำเสนอหาทางออกด้วยวิธีการที่ดีกว่าเสมอ วิธีการดังกล่าวคือ หนทางสู่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับอันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือ และจรรโลงปัญหาสังคมโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับชาวยิว และคริสเตียน เว้นแต่ด้วยวิธีการที่ดีกว่า"
(อัลอังกะบูต :46)
และยังระบุอีกความว่า
"จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า"
(อันนะหฺลุ :125)
การละเมิดสิทธิ ในยุคญาฮิลียะฮ์ (งมงายและป่าเถื่อน) ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทุกหนแห่งมีความไม่เสมอภาคกัน สตรีคนชราถูกกระทำ เด็กถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์ถูกแบ่งเป็นชนชั้น คนชั้นล่างจะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสิ่งของ สิทธิถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น สงครามระหว่างกันคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์
แต่หลังนบีมุฮัมมัด ถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูตแห่งพระเจ้า ท่านกำหนดสิทธิให้กับประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิส่วนรวม และสิทธิที่พึงมีพึงได้รับและสิทธิที่พึงปฎิบัติ ชนิดมีกฎหมายอิสลามรับรองไว้อย่างแยกเยอะ เช่น สิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานจะได้มาตั้งแต่กำเนิดไม่มีใครสามารถพรากเอาไปได้ หรือสิทธิมุสลิมพึ่งได้รับจากผู้ปกครองมุสลิม หรือสิทธิผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมพึงได้รับจากผู้ปกครองมุสลิม สิทธิดังกล่าวล้วนได้รับความคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต เลือดเนื้อ ทรัพย์สิน ชื่อเสียง และเกียรติของตนเองและผู้อื่น
คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"เนื่องจากเหตุนั้น เราจึงได้บัญญัติแก่วงศ์วานของอิสรออีลว่าผู้ใดสังหารชีวิตหนึ่งโดยไม่ใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือไม่ใช่เนื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้สังหารมนุษย์ทั้งมวล
และแท้จริงนั้นบรรดาศาสนทูตของเราได้นำหลักฐานต่างๆ อันชัดแจ้งมายังพวกเขาแล้ว, แล้วได้มีจํานวนมากมายในหมู่พวกเขาเป็นผู้ฟุ่มเฟือยในแผ่นดิน"
(อัลมาอิดะฮ์ : 32)
ปีที่ 10 ฮ.ศ. ศาสนทูตมุฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือสหายประกอบพิธีหัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ คลื่นมหาชนได้รวมตัว ณ สถานที่เดียวกัน วันเวลาเดียวกัน การแต่งกายที่เหมือนกัน เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เดียวกัน ภายใต้การนำโดยผู้นำสูงสุดคนเดียวกัน และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่สามารถรวมคนราว 100,000 คนที่มีความแตกต่างกันในด้านภาษา สีผิว วงศ์ตระกูล เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์
เนื้อหาหลักของเทศนาธรรมครั้งสุดท้ายของท่านนี้ เป็นการประกาศโลกาทัศน์ของศาสนาอิสลามที่พึงมีต่อมนุษยชาติ ซึ่งครอบคลุมถึง
(1) หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ทุกชีวิตมีเกียตริมีศักดิ์ศรีและเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า
(2) หลักการปฎิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน และให้เกียตริกัน
(3) การปฎิบัติตนสำหรับมุสลิมกับมุสลิม ด้านจริยธรรมและศีลธรรม
(4) การปกป้องผลประโยชน์และขจัดการเอารัดเอาเปรียบที่เกิดในสังคมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
(5) องค์ประกอบสังคมที่ดีมาจากฐานครอบครัว ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่และรับผิดชอบในหน้าที่ของตน
(6) ทุกชีวิตต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา เชื้อสาย และทรัพย์สิน
(7) สตรีทุกคนมีสิทธิได้รับการปฎิบัติที่ดีงามจากผู้ชาย เช่นเดียวกับผู้ชายมีสิทธิได้รับการปฎิบัติที่ดีจากสตรี
(8) ให้หาทางออกและแก้ป้ญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ปรากฎจากพระคัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับศาสดา
สนับสนุนสันติภาพ อิสลามยอมรับเรื่องการให้ความช่วยเหลือในทุกกิจการอันนำไปสู่คุณประโยชน์ต่อสังคมและส่งเสริมคุณค่าของความเป็นมนุษยชาติ เพื่สร้างบรรยากาศที่สงบร่มเย็น เป็นสุข และมีความยุติธรรม นบีมุฮัมมัด ได้เคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญา (ยุคก่อนอิสลาม) ที่บ้านของอับดุลลอฮฺ บุตร ญัดอาน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม และหลังจากที่อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับไปพร้อมๆกับสนธิสัญญาดังกล่าวท่านว่า
“ หากฉันได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาดังกล่าว ฉันยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน ”
(บันทึกโดยบัซซาร,หะดีษเฎาะอีฟ)
คำกล่าวของท่านสะท้อนให้เห็นว่า อิสลามไม่ปฎิเสธ สนธิสัญญาหรือการเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพที่มีนัยยะส่งเสริมหรือช่วยเหลือเกื้อกูลในสิ่งที่ดี ประสานความเข้าใจ มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน เช่นเดียวกับนบีมุฮัมมัด เคยร่วมเป็นภาคีสัญญากับชาวกุเรชในสงครามหุดัยบียะฮฺ เพื่อยุติความขัดแย้งและความสูญเสีย ตลอดจนท่านเคยร่วมลงนามในสัญญากับเผ่าต่างของกลุ่มชาวยิว เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคมในนครมะดีนะฮ์
นอกจากนั้นอิสลามยังได้กำชับให้มุสลิมยึดมั่นในความยุติธรรมและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อมนุษยชาติ คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าให้พวกเจ้ากระทำความดีและให้ความยุติธรรมแก่ บรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา
และมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม"
(อัลมุมตะหะนะฮฺ : 8)
ความสงบร่มเย็น คือ เป้าหมายเท่าที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า คำสอน กฎระเบียบ ข้อห้ามข้อใช้ที่มาจากศาสนาอิสลามนั้น มุ่งไปที่การอยู่ดีกินดีสงบสุขและมั่นคงของสังคมโลก แนวทางดังกล่าวนับเป็นเส้นทางหลักในการเสริมสร้างสันติภาพในประชาคมโลก และถืออันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้าอกเข้าเข้าใจที่ดีต่อกัน สร้างความเข้มแข็งทางสังคม สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เจ้าจงเข้าในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดด้วยเถิด"
(อัลบะเกาะเราะฮ์ : 208)
คัมภีร์อัลกุรอานยังระบุความว่า
"และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายกิจการทั้งปวงแด่อัลลอฮ์เถิด
แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้ และถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว
พระองค์คือ ผู้ที่ได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย"
(อัลอัมฟาล : 61)