มารยาทเกี่ยวกับมัสยิด
  จำนวนคนเข้าชม  30093

 

มารยาทเกี่ยวกับมัสยิด

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

         มัสยิดคือบ้านของอัลลอฮฺ ผู้ที่รักอัลลอฮ์  ก็รักบ้านของพระองค์และผู้นั้นก็คือผู้ที่เข้าไปเยี่ยมบ้านของพระองค์เป็นประจำ อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอาน บทอัลญิน โองการที่ 18 ความว่า

 

“และบรรดามัสยิดนั้น เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเจ้าต้องไม่เชิญชวนให้ผู้ศรัทธาผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น”

 

          ผู้ที่เป็นแขกนั้น เมื่อได้รับเชิญและเข้าไปยังงานสำคัญ ๆ ที่เป็นงานระดับชาติหรืองานที่มีแต่แขกผู้มีเกียรติทั้งสิ้น แน่นอนเมื่อเข้าสู่ในงานดังกล่าวในฐานะแขก ก็ย่อมต้องได้รับการต้นรับเป็นอย่างดีสมเกียรติของงาน แล้วเมื่อมัสยิดเป็นบ้านของอัลลอฮ์  ผู้ที่เข้าไปยังมัสยิด คือ แขกของพระองค์ จะไม่ให้อัลลอฮ์  ต้อนรับอย่างดีเป็นพิเศษได้อย่างไร ? 
 

มีหะดีษจากอะบีสะอีด ท่านนบี  กล่าวถึงดำรัสของอัลลอฮ์  พระองค์ตรัสว่า 
 

“บ้านของข้าในภาคพื้นดินนี้คือบรรดามัสยิด ผู้ที่ถูกนับว่าเป็นแขกผู้เยี่ยมเยียนมัสยิด คือ บรรดาผู้สร้าง พัฒนามัสยิด

ดังนั้น สวรรค์สำรองไว้แล้วสำหรับผู้ที่ได้ชำระความสะอาดแต่บ้านแล้วไปยังบ้านของข้า

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกเยี่ยมต้องให้เกียรติและต้อนรับเขาแน่นอน” 
 

(บันทึกโดยอบูนะอีม)

 

          ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ พระองค์อัลลอฮ์  จะทรงให้เขาได้อรรถรสในการเข้าเฝ้าพระองค์และประทานใบรับรองความมีศรัทธาให้

มีหะดีษของอะบีสะอีด ความจากท่านนบี  กล่าวว่า

“เมื่อพวกท่านเห็นบุคคลที่เข้ามัสยิดเป็นประจำ ก็จงประกาศยืนยันได้เลยว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแท้จริง 

อัลลอฮฺตรัสว่า : "อันที่จริงผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮฺและวันปรภพเท่านั้น ที่ได้สร้างและพัฒนามัสยิด...” 

(บันทึกหะดีษโดยติรมิซี)

         เกียรติยศและตำแหน่งของผู้เข้ามัสยิดประจำนั้น ได้รับเกียรติให้อยู่ภายใต้ร่มเงาอะรัซ (บัลลังก์) ของอัลลอฮฺอย่างมีความสุขและความสงบ
มีหะดีษจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ ท่านนบี  กล่าวความว่า

“มีคนอยู่ 7 กลุ่มคนที่จะได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺในวันที่ไม่มีร่มเงาใดนอกจากร่มเงาของพระองค์เท่านั้น-

ท่านได้นับหนึ่งในเจ็ดว่า-คนที่หัวใจของเขาผูกพันอยู่กับมัสยิด” 

(บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

การปฏิบัติศาสนกิจและการละหมาดมิใช่เพียงกระทำได้ในอาคารมัสยิดต่าง ๆ เท่านั้น หากแต่ว่า ณ ที่ใดที่ได้มีการละหมาดเรียกว่ามัสยิดทั้งสิ้น

อบูซัรริน ได้เรียนถามท่านศาสดา ว่า : โอ้ศาสดาแห่งอัลลอฮฺ มัสยิดใดเป็นมัสยิดแรกที่มีขึ้นในแผ่นดินนี้ ? 

ท่านตอบว่า : มัสยิดอัลหะรอม (ที่มักกะฮฺ) 

ฉันถามต่อว่า : แล้วต่อไปเป็นมัสยิดใด ? 

ท่านตอบว่า : มัสยิดอัลอักซอ (ที่เยรูซาเล็ม) 

ฉันจะถามอีกว่า : ระยะเวลาห่างกันเท่าใดระหว่างสองมัสยิดนั้น ? 

ท่านตอบว่า : 40 ปี

แล้วท่านกล่าวต่อเลยว่า : ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใด ที่ได้เวลาละหมาด เจ้าก็จงละหมาดเถิด เพราะที่นั้นเป็นมัสยิดด้วยแล้ว” 

(บันทึกโดยนักฮะดีษหลายท่าน)

         บรรดามัสยิดหรือบ้านของอัลลอฮ์  นั้น ไม่ใช่มีแต่เพียงกิจกรรม เพื่อละทางโลกเช่น การละหมาดเท่านั้น แต่ในมัสยิดยังมีการซิกรุลลอฮฺ การอ่านอัลกุรอาน อันทำให้ใจสะอาดและจิตผ่องใส เป็นบ่อเกิด แห่งการเพิ่มศรัทธา บางครั้งก็พบในมัสยิดมีการอบรมศาสนา อบรมวิชาชีพและบางครั้งก็พบในมัสยิดนั้น มีการเรียน การสอนหลักการของศาสนาเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้สอนและผู้เรียน ทั้งหมดนั้นเป็นการร่วมใจกันหลายฝ่าย ต่างฝ่ายย่อมได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ถือเป็นการตอบสนองคำสั่งของอัลลอฮฺ  ที่ว่า 

“พวกเจ้าจงให้การช่วยเหลือกิจกรรมที่ดี ที่มีคุณธรรม และจงอย่าช่วยเหลือสนับสนุนกิจการชั่วและก่อให้เกิดศัตรู”

กิจกรรมดีต่าง ๆ ที่ได้จัดให้มีขึ้นในมัสยิดนั้น ล้วนส่งผลดีแก่ผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น ท่านนบี  กล่าวความว่า

“ไม่ว่าหมู่คณะใดที่อยู่ในมัสยิดพวกเขาอ่านพระคัมภีร์ของอัลลอฮฺศึกษาหาความรู้อัลกุรอาน

ความสงบจะบังเกิดแก่พวกเขา ความเมตตาจะมีมายังพวกเขา และบรรดามลาอิกะฮฺต่างห้อมล้อมขอพรให้พวกเขาด้วย

อีกทั้งอัลลอฮฺยังทรงนำความดีนี้ไปบอกแก่ข้าทาส ณ พระองค์ด้วย” 

(บันทึกโดยมุสลิม)

 มารยาทอิสลามบางส่วนเกี่ยวกับมัสยิด มีดังนี้

       1. รักมัสยิดและให้เกียรติมัสยิด เพราะมัสยิดเป็นบ้านของอัลลอฮ์  ถูกสร้างเพื่อการรำลึกถึงพระองค์ เพื่ออ่านคัมภีร์ของพระองค์และเพื่อเป็นสถานศึกษาศาสนาของพระองค์

       2. ดำเนินการสนับสนุนการสร้างมัสยิด ทั้งทุนทรัพย์และแรงงาน อีกทั้งเชิญชวนให้ผู้อื่นร่วมสร้างร่วมสนับสนุนด้วยการบริจาคตามกำลังความสามารถ เพราะการสร้างและสนับสนุนมัสยิดนั้นเป็นการสร้างกุศลอันถาวร

       3. พยายามเดินทางไปมัสยิด แม้จะอยู่ห่างไกลก็ตาม และควรไปมัสยิดด้วยการเดินเท้า แม้จะลำบากเนื่องจากอากาศร้อนหรือหนาว หรือทางมืดและไม่สะดวกก็ตาม เพราะในแต่ละก้าวที่เดินไปยังมัสยิดนั้น เป็นกุศลทั้งสิ้น

4. เตรียมการให้พร้อมเพื่อการไปมัสยิดด้วยการอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ แปรงฟันให้สะอาด สวมเสื้อผ้าที่สะอาด ตัดเล็บ หวีผมและใส่ของหอม

5. ต้องยุติงานทางโลกทันที เมื่อได้ยินเสียงอาซานที่มัสยิด และรีบตอบรับด้วยเดินทางไปยังมัสยิดทันที

6. ก้าวเท้าขวาเข้ามัสยิด พลางกล่าวว่า “บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุมมะศอลลิอะลามุฮัมมัด อัลลอฮุมมะอัฟตะฮฺลี อับวาบะเราะฮฺมะติ๊ก”

7. ก้าวเท้าซ้ายออกจากมัสยิด พลางกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะศอลลิอะลามุฮัมมัด อัลลอฮุมมะอัฟตะลี อับวาบะฟัฎลิก ”

       8. ละหมาดสุนัตเคารพมัสยิด (ตะฮียะตุลมัสยิด) สองรอกะอัต ก่อนจะนั่งในมัสยิด หากมิใช่เวลาที่อิหม่ามได้เริ่มละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ) หากมิอาจละหมาดเคารพมัสยิดได้เนื่องจากไม่มีน้ำละหมาดหรืออื่นใดก็ตาม ให้กล่าวว่า “ซุบฮานั้ลลอฮฺ วั้ลฮัมดุลิลลาฮฺ วะลาอิลาฮะอิลลั้ลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัร วะลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮิ้ลอะลียิ้ลอะซีม”

       9. ถอดรองเท้าก่อนเข้ามัสยิด และนำไปไว้ยังสถานที่ ๆ ได้สำรองไว้ หากจะนำรองเท้าเข้าไปด้วย ก็ต้องเช็ดสิ่งสกปรกที่พื้นรองเท้าเสียก่อน แล้วเอาด้านพื้นรองเท้าประกบกันแล้ววางลงที่ข้าง ๆ หรือด้านหน้าที่ตนนั่งหรือละหมาด

10. ดูแลถุงเท้าให้สะอาด หากจะใส่ถุงเท้าเข้าไปและเดินบนพรมหรือพื้นมัสยิด

11. ก่อนเข้ามัสยิด ต้องทำความสะอาดปากให้หมดกลิ่น หากกินหัวหอมหรือกระเทียม และอาหารที่มีกลิ่นฉุน

12. ห้ามทิ้งหรือทำสิ่งสกปรกในมัสยิด โดยเฉพาะนะยิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนา) เช่น เดินด้วยรองเท้าที่เปื้อนนะยิส เป็นต้น

       13. ห้ามถ่มน้ำลาย หรือสั่งน้ำมูก หรือเสมหะ ในมัสยิด หรือเช็ดและป้ายสิ่งน่าเกลียดเหล่านี้ที่พรมหรือที่ประตูมัสยิด รวมทั้งในที่ที่อาบน้ำละหมาด ซึ่งอยู่ในมัสยิด และหากพบก็ต้องรีบทำความสะอาดหรือนำออกไปจากมัสยิดทันที

      14. พึงหลีกเลี่ยงการวิ่งเล่นหรือทำเสียงดังในมัสยิด แม้เป็นการอ่านอัลกุรอานก็ตาม เพราะจะเป็นการรบกวนผู้ที่กำลังละหมาดหรือกำลังอบรมศาสนากันอยู่

15. พึงละเว้น การสนทนาหรือโต้เถียงเรื่องทางโลก การซื้อขาย การประกาศหาของหาย หรืออื่นใดที่จะทำลายบรรยากาศแห่งการปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด

16. ขณะอยู่ในมัสยิดและรอคอยละหมาด ควรหลีกเลี่ยง การเอามือประสานกุมศีรษะ การดีดนิ้ว หรือชี้นั่นชี้นี่โดยไม่มีเหตุผล

17. เมื่อมีการอาซานละหมาด ต้องไม่ออกจากมัสยิด จนกว่าจะละหมาดประจำเวลาก่อน นอกจากเพราะความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

18. ห้ามรับประทานอาหาร หรือนอนในมัสยิด และต้องละเว้นโดยสิ้นเชิงที่จะทำบาปในมัสยิด เช่น การนินทาให้ร้าย ยุแหย่ พูดเท็จและถูกคนอื่น เป็นต้น

19. ไม่ควรเข้าหรือผ่านในมัสยิดโดยไม่มีการละหมาดหรือซิกรุลลอฮฺ

20. ต้องรักษาความสะอาดตัวอาคารมัสยิด เครื่องใช้ของมัสยิดหรือหนังสือของมัสยิด

       21. ไม่ควรนำเด็กอ่อนเข้ามัสยิด แต่เมื่อเด็กรู้เดียงสาโดยเฉพาะเมื่ออายุได้ 7 ขวบ ควรนำเข้ายังมัสยิดด้วย เพื่อเป็นการฝึกหัดการทำอิบาดะฮฺ (ศาสนกิจ) ในมัสยิดและรักมัสยิด

       22. สำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะยังสาว ๆ ที่จะเดินทางไปยังมัสยิด ไม่ควรใส่ของหอมหรือแต่งตัวจนเกินงาม และควรจัดสถานที่เข้าออกหรือที่ละหมาดเฉพาะให้กับสุภาพสตรี เพื่อจะได้ไม่ปะปนและเบียดเสียดกับผู้ชาย