สิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนในด้านจิตใจ
  จำนวนคนเข้าชม  3605

 

สิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนในด้านจิตใจ

 

อุมมุ อาอิช

 

         หนึ่งในสิทธิที่คนมุสลิมพึงได้รับจากมิตรสหายเพื่ออัลลอฮฺ ก็คือ การรักและการคบอย่างจริงใจ โดยสังเกตได้จากการรักกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และการรู้สึกโศกเศร้าอันเนื่องจากการพรากจาก  เช่นเดียวกับการต้องมองเขาในแง่ดี ต้องแปลคำพูดและการกระทำของเขาในทางบวกมากที่สุด นอกจากนั้นจะต้องไม่นึกหรือบังคับให้เพื่อนให้เกียรติตัวเอง และต้องคอยสอบถามเรื่องราวและปฏิบัติดีต่อเขาเสมอๆ

 

1. การทำตามสัญญาและให้ความบริสุทธิ์ใจ

 

          การทำตามสัญญาคือการให้การประกันในความรัก และทำอย่างต่อเนื่องจนเขาเสียชีวิต เมื่อเสียชีวิตก็ทำกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเขาอีกต่อไป เพราะการรักกันในหนทางของอัลลอฮฺนั้นทำไปเพียงเพื่อคอยความดีความชอบ ณ พระองค์อัลลอฮฺ มันจึงไม่สิ้นสุดพร้อมกับการเสียชีวิตของเพื่อนเขา นักปราชญ์บางคนกล่าวว่า "ทำดีน้อย ๆ หลังจากเพื่อนตาย ดีกว่าทำดีมากมายตอนที่เขายังมีชีวิต” 

 

          ทั้งนี้มีรายงานว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้เกียรติต่อสตรีชรานางหนึ่ง(เพื่อนของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ)ที่ถูกนำตัวมาเข้าพบท่าน เลยมีคนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านตอบว่า 

 

«إنَّهَا كَانَتْ تَأْتِينَا أَيَّامَ خَدِيجَةَ ، وَإِنَّ حُسْنَ الْعَهْدِ مِنَ الْإِيمَانِ» [(صححه الحاكم و الذهبي وحسنه الألباني في الضعيفة)]

 

 “เธอเคยมาหาเราเสมอในสมัยที่เคาะดีญะฮฺยังมีชีวิต การทำตามสัญญาอย่างดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอีมาน” 
 

(อัล-หากิมและอัซ-ซะฮะบียฺระบุว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ และอัล-อัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษหะสันในหนังสืออัฎ-เฎาะอีฟะฮฺ) 

 

          และส่วนหนึ่งของการทำตามสัญญาแห่งการเป็นเพื่อนก็คือให้เกียรติและรักษาผลประโยชน์ของเพื่อน และของญาติ ๆ และผู้เกี่ยวข้องทุกคน เช่นเดียวกับการไม่เปลี่ยนแปลงท่าทีกับเพื่อนเก่า แม้ว่าเขาจะมีหน้ามีตา มีบริวาร และมียศศักดิ์สูงส่ง นักกวีบางคนกล่าวว่า 


إنّ الكرام إذا ما أيسروا ذكروا *** من كان يألفهم في المنزل الخشن

 

"คนสูงศักดิ์ที่แท้จริง คือคนที่เมื่อมั่งมีแล้ว จะนึกถึงเพื่อนที่เคยหยอกเย้าในกระท่อมเมื่อเก่าก่อน"

          ชาวสะลัฟบางคนกล่าวสั่งเสียบุตรว่า

"โอ้ ลูกเอ๋ย เจ้าจงคบเพื่อนเฉพาะกับผู้ที่ เมื่อเจ้าต้องการเขา เขาจะเข้าใกล้

และเมื่อเจ้าไม่ประสงค์อะไร เขาก็ไม่อยากได้อะไรจากเจ้า เมื่อเขามียศสูงส่งเขาไม่โอ้อวดกับเจ้า "

          และเมื่อใดที่ขาดการทำดีต่อกันอย่างต่อเนื่องระหว่างคนที่รักกัน ชัยฏอนก็จะดีใจ เพราะไม่มีอะไรที่มันอิจฉาความดีงาม มากไปกว่าที่มันอิจฉาคนสองคนที่เป็นพี่น้องและรักกันเพื่ออัลลอฮฺ มันยอมทุ่มเทแรงกายยอมลำบากทุกอย่างเพื่อให้สองคนนั้นแตกแยกกัน อัลลอฮฺตรัสว่า 

"และ จงกล่าวแก่ปวงบ่าวของฉัน(โอ้ มุหัมมัด) ว่าให้พวกเขาพูดแต่สิ่งดี ๆ

เพราะชัยฏอนนั้นจะคอยยุแหย่พวกเขาให้แตกแยกกัน(เพราะการไม่ระวังคำพูด)” 

(อัล-อิสรออ์  53)

อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า “ไม่มีใครที่เป็นมิตรกันในนามของอัลลอฮฺแล้วแตกแยกกัน นอกจากเป็นเพราะบาปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้น” 

       ท่านบิชร์ได้กล่าวว่า "เมื่อบ่าวละเมิดหย่อนยานในการภักดีต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะยึดเพื่อนแท้จากเขาไป เพราะเพื่อนแท้นั้นจะเป็นคนปลอบขวัญในยามทุกข์ใจ และเป็นผู้ช่วยตักเตือนในเรื่องศาสนา"

ด้วยเหตุนี้ อิบนุล มุบาร็อก จึงกล่าวว่า "สิ่งที่ให้ความสุขที่สุดคือการคบเพื่อน และการกลับไปสู่ความพอเพียง"

          ทั้งนี้ ผลสะท้อนจากการจริงใจ การบริสุทธิ์ใจ และการเที่ยงตรงตามสัญญาต่อเพื่อนนั้นคือ ท่านจะรู้สึกวิตกกับการพรากจาก และจะไม่อยากให้เกิดเงื่อนไขแห่งการพรากจากกันไปเลย กวีได้ร่ายไว้ว่า


وَجَدْتُ مُصِيْبَاتِ الزَّمَانِ جَمِيْعَهَا *** سِوَى فُرْقَةِ الأَحْبَابِ هَيِّنَةَ الخَطْبِ

 

"ทุกข์อื่นใด ในโลกนี้ ไม่หนักเท่า ความโศกเศร้า เพราะต้องพราก มิตรสหาย"

         นอกจากนั้น การเป็นเพื่อนแท้นั้นจะต้องไม่ฟังเรื่องไม่ดีที่คนอื่นเอามาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเพื่อนของเราจะต้องไม่เชื่อคำพูดของศัตรูของเพื่อน 

อิหม่ามอัช-ชาฟีอีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า "เมื่อเพื่อนท่านเชื่อคำพูดศัตรูของท่าน ก็แปลว่าเขาได้ร่วมกันเป็นศัตรูกับท่าน"


2. มีเจตคติที่ดี

หนึ่งในจำนวนสิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนก็คือต้องมีเจตคติที่ดีต่อเพื่อน อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงหลีกห่างจากการคาดเดาอคติให้มาก แท้จริง การคาดเดาบางส่วนนั้นเป็นบาป” 

(อัล-หุญุรอต 12) 

และท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า

“พวกท่านจงหลีกเลี่ยงจากการอคติ เพราะการอคติเป็นสำนวนการนึกคิดที่มดเท็จที่สุด”

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

หากสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มุสลิมทั่วไปต้องหลีกเลี่ยง ผู้ที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺก็ต้องหลีกเลี่ยงมากกว่า 

อัร-เราะบีอฺ บิน สุลัยมาน ศิษย์ของท่านอิหม่ามอัช-ชาฟีอีย์คนหนึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับท่านอิหม่ามว่า 

        "วันหนึ่ง ฉันเข้าหาท่านอิหม่ามอัช-ชาฟีอียฺ ในขณะที่ท่านกำลังล้มป่วยอยู่ ฉันเลยขอดุอาอ์ให้ท่านว่า ขออัลลอฮฺทรงให้อาการป่วยของท่านแข็งแรงขึ้น 

ท่านตอบว่า หากอาการป่วยของฉันแข็งแรงมันก็จะฆ่าฉันนะสิ 

ฉันตอบว่า ขอสาบานกับอัลลอฮฺ คำพูดเมื่อกี้เป็นคำพูดที่หวังดีกับท่านจริง ๆ (ไม่ได้สื่อความหมายตรงๆ ตามตัวอักษรแบบนั้น) 

ท่านอิหม่ามตอบว่า ฉันทราบดีว่าเจ้าหมายถึงอะไร หากเจ้าจะพูดในทำนองเพื่อสะใจต่อฉัน ฉันก็รู้ว่าจริง ๆ แล้วเจ้าหวังดี"

          ดังนั้น จึงควรจะต้องแปรเจตนาคำพูดของเพื่อนในทางดีเสมอ จะต้องมีเจตนาดีกับเพื่อนตลอดเวลา เพราะการมีอคติคือการนินทาทางจิตใจ 


3. ต้องนอบน้อมถ่อมตน 

           หนึ่งในจำนวน สิทธิและหน้าที่ ทางจิตใจที่ต้องปฏิบัติกับเพื่อนฝูงก็คือ จะต้องถ่อมตัวให้กับเพื่อน และตำหนิตัวเองเมื่อเห็นตัวเองดีกว่าเพื่อน 

อบู มุอาวิยะฮฺ อัล-อัสวัด ได้กล่าวว่า เพื่อน ๆ ของฉันทั้งหมด ดีกว่าฉันทุกคน 

มีคนถามว่า ดีอย่างไรล่ะ 

ท่านตอบว่า ทุกคนเห็นฉันมีบุญคุณต่อเขา แล้วคนที่เชิดชูฉันมากกว่าตัวเองย่อมต้องดีกว่าฉันแน่นอน 

         ทั้งนี้ หากเราเห็นตัวเองเลอเลิศก็หมายถึงว่าเราได้ดูหมิ่นเพื่อนของเรา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งน่าตำหนิแม้กระทั่งสำหรับมุสลิมทั่ว ๆ ไป นับประสาอะไรกับคนที่มีความรู้ ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า

«بِحَسَبِ امْرِئٍ مِنَ الشَّرِّ أَنْ يَحْقِرَ أَخَاهُ الْمُسْلِمَ» [رواه الشيخان]

“พอแล้วที่คนหนึ่งจะเป็นคนชั่ว ด้วยการที่เขาเหยียดหยามพี่น้องมุสลิมของเขา” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม) 


 

ผู้แปล: ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์, ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse