มารยาทในวันศุกร์
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
วันศุกร์เป็นวันยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮฺตะอาลา อัลลอฮฺ จึงได้ให้วันศุกร์เป็นบทหนึ่ง (ซูเราะฮฺ) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เรียกบทนี้ว่า “อัลญุมอะฮฺ” ในบทนี้มีการอธิบายความเกี่ยวกับหลักการสำคัญในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งในวันอื่น ๆ อีกหกวัน มิได้ถูกยกมาเป็นบทใด ๆ ในอัลกุรอานอันเป็นการเฉพาะวันศุกร์
อันความสำคัญของวันศุกร์นั้น สำคัญมากกว่าวันตรุษอีดิลฟิตรฺ และอีดิลอัฎฮาด้วยซ้ำ สังเกตได้จากคำสอนของท่านนบี ความว่า
“หัวหน้าแห่งบรรดาวันทั้งหายคือ วันศุกร์ ซึ่งสำคัญกว่าวันอีดิลอัฎฮาและอีดิลฟิตรฺ ในวันศุกร์นั้น มีเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ
♦ เป็นวันที่อัลลอฮฺ ทรงสร้างศาสดาอาดัม มนุษย์คนแรกของโลก
♦ เป็นวันที่ศาสดาอาดัมออกจากสวรรค์สู่โลก
♦ เป็นวันที่ศาสดาอาดัมเสียชีวิต
♦ ในวันศุกร์จะมีช่วงเวลาที่บ่าวคนใดขอพรต่ออัลลอฮฺ พระองค์ทรงรับคำขอแน่นอน ตราบที่เขาไม่ได้ทำและขอในสิ่งที่ผิดต่อศาสนาหรือตัดสัมพันธ์เครือญาติ
♦ และเป็นวันที่จะเกิดขึ้นของสรรพสิ่งอีกครั้ง เรียกวันนี้ว่า วันกิยามะฮฺ”
(บันทึกโดยบุคอรี)
วันศุกร์ เป็นวันรวมกันของชุมชนมุสลิม เพื่อการทำละหมาดวันศุกร์ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการละหมาด คือ มีการแสดงธรรม (คุตบะฮฺ) อันเป็นการอบรมสั่งสอน ผู้เข้าร่วมละหมาด เป็นการเตือนใจประจำสัปดาห์ และเป็นการประชุมปรึกษาหารือระหว่างคนในชุมชนประจำสัปดาห์เช่นกัน ดังนั้น ประโยชน์แห่งการรวมกันในทุกสัปดาห์นั้นจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัก ความสามัคคีระหว่างกันต่อไป
เมื่อถึงวันศุกร์และได้ทำละหมาดวันศุกร์ได้ทำกิจการดีในวันศุกร์ และได้ทบทวนตัวเองประจำสัปดาห์ ก็จะส่งผลให้ปลอดภัยจากความชั่วร้ายไปจนกระทั่งวันศุกร์ต่อไป ท่านนบี กล่าวความว่า
“การละหมาดประจำวัน 5 เวลา วันศุกร์ถึงอีกวันศุกร์ หรือรอมฎอนหนึ่งถึงอีกรอมฎอนหนึ่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการลบล้างความชั่วได้ ตราบที่ระหว่างนั้นมิได้ก่อกรรมอันเป็นบาปใหญ่”
(บันทึกโดยมุสลิม)
การละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮฺ) เป็นกิจสัปดาห์ละครั้ง ผู้ที่ละเลยไม่ได้ละหมาดวันศุกร์ติดต่อกัน 3 ศุกร์ ท่านนบี คาดโทษว่า
“ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลจำเป็นที่ศาสนาผ่อนผันให้
อัลลอฮฺทรงประทับตราลงที่หัวใจเขากลายเป็นคนหัวใจบอด”
(บันทึกโดยมุสลิม)
และมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมาหาท่านอิบนุอับบาส ถามคำถามถึงชายคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิต ไปแล้ว ซึ่งเขาไม่ได้ละหมาดวันศุกร์และไม่ได้ละหมาดรวมกันเป็นคณะ (ญะมาอะฮฺ)
อิบนุอับบาสตอบว่า “เขาต้องลงนรก”
ชายคนนี้เฝ้าถามเรื่องเดิมอยู่ถึงหนึ่งเดือนเต็ม คำตอบทุกครั้งที่ถามก็ยังคงเหมือนเดิมคือ “เขาต้องลงนรก”
และเพื่อให้ทราบถึงสิทธิของวันศุกร์ตามหลักการศาสนาอิสลาม จึงขอนำบางส่วนแห่งสิทธิใน วันศุกร์มานำเสนอ ดังนี้
1. เตรียมการเพื่อวันศุกร์ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ด้วยการซักเสื้อผ้า เตรียมของหอม ทำใจให้ว่างจากเรื่องทางโลก สารภาพผิด ขออภัยโทษ ซิกรุลลอฮฺ ตั้งเจตนาว่าจะไปมัสยิดแต่เช้า และสะสมเสบียงความดี แต่ค่ำวันศุกร์ (พฤหัสบดีค่ำลง) ด้วยการละหมาดสุนัตและอ่านอัลกุรอาน
2. เริ่มอาบน้ำสุนัตวันศุกร์แต่เช้าหลังละหมาดซุบฮฺรวมกันที่มัสยิด และเวลาสุนัตอาบน้ำวันศุกร์นั้น อาบได้จนถึงอาซานละหมาด
3. ทำความสะอาดทั่วไป ด้วยการโกนขน ตัดเล็บ แปรงฟัน ใส่น้ำหอม และสวมเสื้อผ้าที่ดีที่สุด
4. ไปมัสยิดแต่เช้า ด้วยเดินทางอย่างสำรวม และมุ่งมั่นตอบรับการเรียกร้องของอัลลอฮฺอย่างเต็มใจ เพื่อให้ได้กุศลทวีคูณในการได้ละหมาดแถวหน้าหลังอิหม่าม
5. เข้ามัสยิดอย่างมีวินัย ด้วยการรักษามารยาทเกี่ยวกับมัสยิดที่กล่าวแล้ว
6. นั่งฟังคุตบะฮฺ (เทศนาธรรม) อย่างสงบ และตั้งใจนำสาระทางศาสนาไปปฏิบัติ รวมทั้ง ไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการรบกวนสมาธิของตนเองและผู้อื่น แม้มีผู้ให้สลามและจามแล้วกล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮฺก็ไม่ต้องตอบรับ
7. ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะหันซ้ายแลขวา จัดผ้าปูละหมาดหรือนอนหลับสัปหงกขณะฟังคุตบะฮฺ
8. ขณะฟังคุตบะฮฺ ไม่สมควรนั่งชันเขาเอามือกอดเข่า เพราะนำไปสู่การนั่งหลับ ขาดการฟัง คุตบะฮฺและพลอยเสียน้ำละหมาดไปด้วย
9. ละหมาดสุนัต 4 รอกะอัต ก่อนและหลังละหมาดญุมอะฮฺ
10. ควรซอละวาตต่อท่านนบี ให้มากในวันศุกร์
11. ควรเข้ารับฟังการอบรมศาสนาในช่วงเวลาเช้าและเวลาหลังอัศริ เพราะเกิดผลได้สองประการคือ ไปมัสยิดแต่เช้า และได้เข้ารับการอบรมศาสนา
12. ควรอ่านอัลกุรอานให้มากในวันศุกร์ โดยเฉพาะซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ
13. ควรทำความดีเสริมให้มากในวันศุกร์ เช่น การซิกรุลลอฮฺ บริจาคทาน เผยแพร่ศาสนา และละหมาดสุนัตต่าง ๆ
14. ควรพร่ำวอนขอพรต่ออัลลอฮฺให้มากทั้งกลางคืนและวันศุกร์ เพราะจะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่อัลลอฮฺจะทรงรับการขอ (ดุอาอฺ) อย่างแน่นอน
15. ไม่ควรเดินทางในวันศุกร์ หากจะเดินทางควรเดินทางหลังละหมาดวันศุกร์แล้ว หรือถ้าตอนเช้าก็ควรจะแน่ใจว่าจะทันละหมาดวันศุกร์ได้ปลายทาง
16. ไม่สมควรที่จะเลือกถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์ โดยไม่ถือศีลอดก่อนหรือหลังวันศุกร์