สิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนในด้านวาจา
  จำนวนคนเข้าชม  8048

 

สิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนในด้านวาจา

อุมมุ อาอิช


 

สิทธิและหน้าที่ของการเป็นเพื่อนในด้านวาจา จะต้องพูดหรือเงียบเป็นบางโอกาส กล่าวคือ

 

ก. เงียบกับสิ่งไม่ดี โดย

 

1) ไม่พูดถึงความบกพร่องของเขา

 

          สิทธิที่เพื่อนพึงได้รับจากท่านก็คือ ท่านจะต้องปิดปากไม่พูดความบกพร่องของเขาทั้งลับหลังและต่อหน้า แต่จะต้องทำเป็นไม่รู้ การพูดถึงความบกพร่องของเพื่อนลับหลังถือเป็นการนินทาที่หะรอม มันเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนมุสลิมทุกคน มากกว่านั้นก็คือ นอกเหนือจากการห้ามปรามของกฎหมายอิสลามแล้ว มันไม่ควรจะกระทำด้วยสองเหตุผลเพิ่มเติม คือ 

 

     ♣ หนึ่ง ให้ท่านเช็คเรื่องของท่านเอง หากพบสิ่งบกพร่องอย่างหนึ่งก็จงอย่าถือสาความบกพร่องของสหายเช่นกัน และจงถือว่าเขาไม่สามารถจะควบคุมตัวเองในตอนนั้นเหมือนกับที่ท่านไม่สามารถจะควบคุมตัวเองในยามที่ถูกทดสอบนั้นเช่นกัน 

 

     ♣ สอง ท่านต้องตระหนักว่า หากท่านต้องการจะหามิตรที่ไม่มีสิ่งบกพร่อง ท่านก็คงต้องแยกไปอยู่คนเดียวจนตาย เพราะไม่มีเพื่อนแบบนั้นให้คบตั้งแต่แรกแล้ว 

 

          ทุกคนย่อมมีดีมีชั่ว หากมีดีมากกว่าชั่วก็ถือว่าดีแล้ว คนมุอ์มินหรือผู้ศรัทธาจึงต้องนับความดีของมิตรสหายอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เขาเกิดความประทับใจ ให้เกียรติ และรักเพื่อนของเขา ส่วนคนมุนาฟิกที่ถูกสาปแช่งนั้นมักจะค้นหาสิ่งบกพร่องของเพื่อนอยู่ตลอดเวลา 

 

อิบนุล มุบาร็อก กล่าวว่า ผู้ศรัทธาจะหาข้อแก้ต่างให้เพื่อน ส่วนคนมุนาฟิกนั้นจะหาข้อปรักปรำ 

 

อัล-ฟุฎ็อยล์กล่าวว่า สุภาพบุรุษคือคนที่ให้อภัยต่อความผิดพลาดของมิตรสหาย 
 
 

 

2) ไม่เปิดโปงความลับของเพื่อน

 

        เพื่อนจะต้องปิดความลับของเพื่อน แม้กับเพื่อนสนิทก็ตาม หรือแม้กระทั่งภายหลังจากการเกิดการทะเลาะตัดขาดหรือ บาดหมาง เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นนิสัยที่ชั่วและเป็นมารยาทที่เลวทราม
 

♦ มีคนถามนักปราชญ์บางคนว่า ท่านเก็บความลับคนอื่นได้อย่างไร

เขาตอบว่า ฉันนี่แหละคือสุสานที่ใช้ฝังความลับ
 

 

♦ มีบางคนได้บอกความลับบางอย่างแก่เพื่อนของเขา

ต่อมาเขาก็มาถามว่า ท่านเก็บมันไว้ไม่บอกใครใช่ไหม? 

เพื่อนของเขาตอบว่า ฉันลืมมันไปแล้วต่างหาก

 

♦ มีคำพูดของคนสมัยก่อนว่า หัวใจของเสรีชน คือ สุสานฝังความลับของคนอื่น
 

         อบู สะอีด อัษ-เษารีย์ กล่าวว่า เมื่อท่านต้องการจะเลือกคบกับใครสักคน ท่านก็จงยุให้เขาโกรธ แล้วส่งคนให้ไปถามเขาเกี่ยวกับตัวท่าน หากเขาตอบดีและปิดความลับก็จงคบกับเขาได้



3) ไม่โต้แย้ง ไม่ท้าทายเพื่อน 

         ท่านจะต้องละการท้าทายและโต้แย้งกับเพื่อน ชาวสะลัฟกล่าวว่า ผู้ใดชอบทะเลาะและโต้เถียงเพื่อน เกียรติของเขาจะลดน้อยและความเลื่อมใสในตัวเขาจะหมดไป สรุปแล้ว ไม่มีเหตุผลอันใดที่สนับสนุนการโต้เถียงนอกจากการแสดงให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองฉลาดและล้ำเลิศ และแสดงให้เห็นว่าคนอื่นโง่ บางคนแนะให้ละเว้นการโต้เถียงถึงกับกล่าวว่า “เมื่อท่านบอกเพื่อนว่า จงยืนขึ้น แล้วเขาย้อนถามว่า แล้วจะให้ฉันไปที่ไหน ก็จงอย่าคบกับเขา เพราะเขาสมควรต้องยืนและไม่ย้อนถามใดๆ” ซึ่งการโต้เถียงจะทำให้ใจเสียความรู้สึก ทำให้เกิดความเกลียดชัง หัวใจแข็งกระด้าง จะทำให้การยึดมั่นในศาสนาทางคำพูดและการปฏิบัติต้องกระด้างหยาบคาย

อบู อุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดละเว้นการโต้เถียง ในฐานะที่เขาเป็นฝ่ายผิด เขาผู้นั้น จะได้รับการปลูกสร้างบ้านหนึ่งหลังที่ด้านล่างของสวรรค์

และผู้ใดละเว้นการโต้เถียงทั้งๆ ที่เขาเป็นฝ่ายถูกและชอบธรรมมากกว่า เขาจะได้รับการปลูกบ้านตรงกลางสวรรค์

และผู้พยายามรักษามารยาทให้ดี เขาจะได้รับการปลูกสร้างบ้าน ณ จุดสูงสุดของสวรรค์”

 (บันทึกโดยอบู ดาวูดและคนอื่นๆ)   

         คอลิด บิน ยะซีด บิน มุอาวิยะฮฺ กล่าวว่า ถ้าคนผู้หนึ่งชอบโต้แย้ง เถียงคำไม่ตกฟาก ยึดติดกับความคิดตัวเองฝ่ายเดียว นั่นคือความหายนะอย่างสมบูรณ์ของเขาแล้ว

          อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า พวกท่านจงระวังการโต้เถียงเอาเป็นเอาตาย เพราะมันคือวินาทีที่ผู้รู้จะกลายเป็นคนโง่ และชัยฏอนก็จะใช้โอกาสนี้หาความเพลี่ยงพล้ำของเขา



ข. การพูดแต่เรื่องดีๆ ของเพื่อน 

          การคบเพื่อนนั้นไม่เพียงต้องปิดปากไม่พูดเรื่องไม่ดี หากมันยังต้องพูดเรื่องที่เป็นมงคลกับเพื่อน เพราะเพียงการเงียบไม่ปริปากพูดก็เหมือนกับการคบกับคนตาย โดยจะต้องปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้

1. แสดงความเป็นมิตรผ่านวาจา 

          ต้องถามข่าวคราวที่สมควรแก่กาลเทศะ สรุปแล้วจะต้องมีอารมณ์ร่วมกับเขาในทางคำพูด เพราะเพื่อนแท้จะต้องแบกทุกข์และสุขร่วมกัน


2. ต้องบอกรักกับเพื่อน

          นั้นคือต้องบอกกับเพื่อนว่าเรารักเขา อนัส บิน มาลิก กล่าวว่า มีชายคนหนึ่งแวะผ่านหน้าท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- 

แล้วก็มีคน ๆ หนึ่งที่อยู่ร่วมกับท่านเอ่ยบอกท่านว่า ฉันรักชายคนนี้เพื่ออัลลอฮฺมาก ๆ เลย 

ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- จึงถามว่า “แล้วท่านบอกให้เขารู้แล้วหรือยัง?” 

เขาตอบว่า ยังเลย 

ท่านสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้นก็จงลุกขึ้นไปบอกเขาสิ” แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปบอกเขา

เขาตอบกลับว่า ขอให้ผู้ที่ท่านรักฉันเพื่อเขา (หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺ) จงรักท่านรักเช่นกัน จากนั้นเขาจึงกลับมา

แล้วท่านนบีก็ถามเขา เขาก็บอกสิ่งที่เพื่อนของเขาบอก 

ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-จึงตอบว่า “ท่านจะได้อยู่ร่วมกับคนที่ท่านรัก และจะได้รับสิ่งที่ท่านหวัง” 

(บันทึกโดยอะห์มัดและอัล-หากิม ซึ่งอัซ-ซะฮะบีย์บอกว่าเศาะฮีหฺ) 

อัล-มิกดาม บิน มะดีกะริบ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า

 “เมื่อคน ๆ หนึ่งรักเพื่อนของเขา ก็จงบอกให้เพื่อนเขารู้ว่าตัวเองรักเพื่อน” 

(บันทึกโดยอะห์มัดและท่านอื่นๆ) 

          ทั้งนี้ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้บอกรักเขานั้นก็เพราะว่าการกระทำดังกล่าวจะเพิ่มความรักกัน เพราะเมื่อเขารู้ว่าท่านรักเขา เขาก็ย่อมจะต้องรักท่านเช่นกันเป็นธรรมดา และเมื่อท่านทราบว่าเขารักท่าน ท่านจะเพิ่มความรักต่อเขาเช่นกันเป็นธรรมดา ความรักจะเพิ่มพูนระหว่างสองฝ่ายและจะทวีคูณเรื่อย ๆ ทั้งนี้ความรักในระหว่างชาวมุสลิมเป็นที่สนับสนุนทั้งในทางชะรีอะฮฺและศาสนา

ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า

“พวกท่านจะไม่สามารถเข้าสวรรค์ได้จนกว่าต้องมีศรัทธา พวกท่านจะไม่มีศรัทธาจนกว่าจะรักกัน

เอาไหมล่ะ ฉันจะบอกสิ่งหนึ่งเมื่อท่านปฏิบัติแล้วจะทำให้พวกท่านรักกัน นั้นคือ จงกระจายสะลามให้ขจรแพร่ในหมู่พวกท่าน” 

(บันทึกโดยมุสลิม) 

          อิหม่ามอัน-นะวะวีย์ กล่าวอธิบายว่า ที่บอกว่า ไม่ศรัทธาจนกว่าจะรักกันนั้น หมายถึง ศรัทธาจะยังไม่สมบูรณ์ และภาวะการศรัทธาของพวกท่านจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเกิดการรักกันระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน


3. เรียกชื่อที่เพื่อนโปรด

          อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญก็คือ จะต้องเรียกชื่อเพื่อนด้วยชื่อที่เขายินดีที่สุด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า 

"มีสามอย่างที่แสดงถึงการรักเพื่อนของท่าน คือ การที่ท่านเริ่มให้สลามแก่เขาก่อนเมื่อเจอกัน

การที่ท่านขยับขยายที่นั่งแก่เขาในชุมนุม และการที่ท่านเรียกเขาด้วยชื่อที่เขาชอบมากที่สุด"


4. ต้องชื่นชมเพื่อน 

          ท่านจะต้องชื่นชมเพื่อนในความดีที่เขากระทำ อีกทั้ง จะต้องยกคำชื่นชมของคนอื่นต่อเขาให้เขาฟังพร้อมกับแสดงความยินดีกับเขา เพราะการปิดบังสิ่งนั้นถือเป็นการอิจฉา ทั้งนี้ ต้องรายงานเท่าความเป็นจริง ไม่เพิ่มและไม่ลด ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเป็นมิตรที่สำคัญที่สุด  


5. ปกป้องมิตรในที่ลับหลัง 

          สิ่งที่มีผลต่อการเกิดความแน่นเฟ้นแห่งมิตรภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปกป้องเพื่อนในที่ลับหลังไม่ว่าเพื่อนจะถูกปองร้ายทั้งทางตรงหรือทางอ้อม การปกป้องเพื่อน การคัดค้านและยืนหยัดคำพูดอันหนักแน่นเพื่อเพื่อนถือเป็นสิทธิที่เพื่อนพึงควรจะได้รับ การเงียบเฉยไม่มีท่าทีในสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจขุ่นและกระด้าง และเป็นการละเลยในสิทธิของเพื่อน

ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า

 “มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาจะต้องไม่รังแก ไม่ปิดกั้น และไม่เหยียดหยามเขา” 

(บันทึกโดยมุสลิม)


6. ต้องสอนและให้คำแนะนำอย่างบริสุทธิ์ใจ

ท่านนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า “ศาสนาคือนะศีหะฮฺ(การแนะนำหรือหวังดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ)” 

 

พวกเขาถามว่า ต่อใครล่ะ โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ? 

ท่านตอบว่า “ต่ออัลลอฮฺ ต่อคัมภีร์ และเราะสูลของพระองค์ และต่อชาวมุสลิมทั่วไป” 

(บันทึกโดยมุสลิม) 

          และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมิตรสหายมาขอคำแนะนำ เขาจะต้องให้คำแนะนำอย่างบริสุทธิ์ใจให้กับเขา ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวมุสลิม การให้คำแนะนำจะต้องกระทำในที่ลับ ไม่ให้คนอื่นทราบ เพราะการแนะนำในที่สาธารณะนั้นเป็นการเหยียดหยามและประจาน ในขณะที่หากกระทำในที่ลับจะเป็นการเอื้อปรานีและการอบรมสั่งสอน 

          ท่านอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ ได้กล่าวว่า ผู้ใดแนะเพื่อนอย่างลับๆ ก็ถือว่าเขาได้ตักเตือนและให้เกียรติเขา และผู้ใดที่แนะเพื่อนอย่างโจ่งแจ้ง ก็ถือว่าเขาได้ประจานและดูหมิ่นเขา

 การแนะนำตักเตือนนี้จะต้องทำอย่างรอบคอบที่สุดเมื่อเห็นเพื่อนเปลี่ยนแปลงทางด้านลบในเรื่องการปฏิบัติอะมัลความดี 

         อบู อัด-ดัรดาอ์ ได้กล่าวว่า เมื่อมิตรของท่านเปลี่ยนแปลงไป และไม่ปฏิบัติสิ่งที่เคยปฏิบัติมา ท่านจะต้องไม่ปล่อยเขาให้เลยเถิดไปอย่างนั้น เพราะมิตรของท่านจะคดและตรงสลับกันไป 

          มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสหายกลุ่มชาวสะลัฟสองคน ที่หนึ่งจากสองคนนั้นเปลี่ยนในเชิงลบ แล้วก็มีคนมาแนะเพื่อนของเขาว่า ทำไมไม่ตัดและปลีกตัวออกห่างจากเขาล่ะ? เขาตอบว่า สิ่งที่ฉันจำเป็นจะกระทำในยามเช่นนี้คือการจับมือเขาแล้วห้ามปรามอย่างนุ่มนวลและต้องชวนเขาให้หวนกลับปฏิบัติสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมา

          การเป็นมิตรถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ทำให้คู่สัญญาตกอยู่ในสภาพเป็นญาติมิตรกัน เมื่อทำสัญญาแล้วสิทธิต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อสัญญา ซึ่งหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จำเป็นต้องทำก็คือ จะต้องไม่ปล่อยปละมิตรในยามที่เขาลำบากแร้นแค้นหรือกำลังจะเสียหาย โดยการลำบากหรือความเสียหายทางศาสนานั้นมันสาหัสยิ่งกว่าความเสียหายทางการเงิน การเป็นมิตรดูได้ที่ตอนเกิดปัญหาและความทุกข์ยาก ซึ่งข้อนี้ถือว่าเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดสำหรับการคบกันเป็นมิตรสหายและเพื่อนสนิทนั้นไม่สมควรปลีกตัวตัดขาดด้วยเหตุที่เพื่อนเขาทำบาปหรือมะอฺศิยะฮฺ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่การให้คำแนะนำอันเนื่องจากการเป็นมิตรกันได้

พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวถึงนบีของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กรณีเกี่ยวกับญาติ ๆ ของท่านว่า  

 “หากคนเหล่านั้นไม่เชื่อฟังเจ้า ก็จงกล่าวว่า ฉันนี้ขอถอนตัวจากพฤติกรรมที่พวกท่านได้กระทำ“ 

(อัช-ชุอะรออ์ 216)  

          อัลลอฮฺบอกให้ท่านกล่าวว่า (ขอถอนตัวจากพฤติกรรมของพวกเขา) โดยที่พระองค์ไม่สั่งให้ท่านกล่าวว่า (ขอถอนตัวจากพวกเขาในฐานะตัวบุคคล) ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิและหน้าที่แห่งญาติมิตรและวงศ์ตระกูล 

          ด้วยเหตุนี้อบู อัด-ดัรดาอ์ เวลามีคนมาบอกว่า ทำไมท่านจึงไม่โกรธเพื่อนของท่าน ทั้ง ๆ ที่เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ล่ะ ท่านจะตอบว่า ที่ฉันโกรธคือการกระทำของเขา ส่วนเขาก็ยังคงเป็นเพื่อนของฉันตามเดิม นอกจากนี้ การยุให้เพื่อนแตกกันยังเป็นของโปรดของชัยฎอน เช่นเดียวกับการปลีกตัวออกจากคนกระทำมะอฺศิยะฮฺก็เป็นของชอบของมัน ซึ่งเมื่อชัยฏอนสามารถคว้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว(หมายถึงยุให้เพื่อนของท่านผิด)ก็จงอย่าเพิ่มสิ่งที่สองให้กับมัน(ด้วยการที่ท่านตีตัวออกจากเพื่อน แทนที่จะเข้าไปช่วยดึงเขากลับมาจากการทำผิดนั้น) 


7. การขอดุอาอ์ให้แก่เพื่อนทั้งในตอนมีชีวิตและหลังจากเสียชีวิตแล้ว

หนึ่งในบรรดาปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและกระชับการเป็นมิตรก็คือ การขอดุอาอ์ให้แก่เพื่อนทั้งในยามมีชีวิตและในยามเสียชีวิตแล้ว

อบู อัด-ดัรดาอ์ ได้กล่าวว่า ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า

“มุสลิมทุกคนที่ขอดุอาอ์ให้กับมิตรสหายในที่ลับหลัง จักได้รับการกล่าวตอบจากมะลาอิกะฮฺว่า สำหรับท่านก็ขอให้ได้เยี่ยงนั้นเช่นกัน” 

(บันทึกโดยมุสลิม) 

          อิหม่ามอัน-นะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า หะดีษนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการขอดุอาอ์แก่เพื่อนในที่ลับหลัง ซึ่งหากเขาขอดุอาอ์ให้กับกลุ่มมุสลิมกลุ่มหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้ตามนัยของหะดีษนี้แล้ว และหากขอดุอาอ์ให้กับชาวมุสลิมคณะหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้แล้วเช่นเดียวกัน 

          ชาวสะลัฟบางคนเมื่อต้องการจะขอดุอาอ์อะไรให้กับตัวเอง เขาจะขอดุอาอ์นั้นให้กับเพื่อนของเขาด้วย เพราะมันเป็นดุอาอ์ที่มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับและส่งผลกลับสู่ตัวเขา 

          ในหนังสือตารีค บัฆดาด ของเชคอัล-บัฆดาดีย์ ว่าด้วยประวัติของอัฏ-ฏ็อยยิบ อิสมาอีล อบู หัมดูน นักอ่านอัลกุรอานที่ลือชื่อนั้น ท่านเขียนว่า "อบู หัมดูนมีสมุดเล่มหนึ่งที่บันทึกรายชื่อเพื่อน ๆ ถึงสามร้อยคน และท่านจะขอดุอาอ์ให้กับคนเหล่านั้นทุกคืน คืนหนึ่ง ท่านหลับไปโดยไม่ขอดุอาอ์ให้ ปรากฏว่าท่านได้ฝันว่ามีคนมาบอกว่า โอ้ อบู หัมดูน ทำไมท่านไม่จุดตะเกียงล่ะคืนนี้ ท่านจึงตกใจตื่น ลุกขึ้นมาจุดตะเกียง หลังจากนั้นจึงเอาสมุดเล่มนั้นมาขอดุอาอ์ให้กับแต่ละคนจนครบหมด

 

 

 

 

ผู้แปล: ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์, ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse