รอมฎอนไม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นนอกจากอัลกุรอ่านใช่หรือไม่ ?
  จำนวนคนเข้าชม  3699

 

รอมาฎอนไม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นนอกจากอัลกุรอ่านใช่หรือไม่ ?

โดย... เชค อับดุลลออฺ อิบนุ อับดุรเราะฮีม อัลบุคอรีย์
อาบีดีณ  โยธาสมุทร  แปลและเรียบเรียง

 

คำถาม:

 

          รายงานที่มีการอ้างถึงท่านอิหม่ามมาลิกว่าในเดือนรอมฎอนท่านจะละเรื่องวิชาการเอาไว้ และจะตั้งหน้าตั้งตาอ่านอัลกุรอ่านอย่างจริงจังนั้น เป็นรายงานที่ยืนยันได้หรือไม่ ?


 

คำตอบ:

 

รายงานดังกล่าวนี้ เป็นการใส่ความต่อท่านมาลิก ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับรายงานนี้จากท่านมาลิก รอฮิมะฮุ้ลลอฮฺ แต่อย่างใด 

 

        ขอกล่าวว่าบาร่อกั้ลลอฮุฟีกุม  อันที่จริงแล้วการศึกษาหาความรู้นั้น เป็นการภักดีที่สำคัญอย่างยิ่งชนิดหนึ่งและยังเป็นการกระทำตนให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ญัลละวะอะลา ที่สูงส่งที่สุดชนิดหนึ่งอีกด้วย   จะมีใครกันที่เขาบอกว่า ผู้ใดที่ทำการแสวงหาความรู้และง่วนอยู่กับเรื่องวิชาการ ก็เท่ากับว่าเขาผู้นั้นได้กระทำเรื่องอันน่ารังเกียจในเดือนรอมฎอนขึ้นมาเสียแล้ว ?  ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องๆนี้คือ การทำความจริงให้เป็นจริง เป็นการทำตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ญัลละวะอะลา และคำสั่งของท่านร่อซู้ลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม 

         ประเด็นนี้เป็นประเด็นซ้ำซาก –เหมือนที่ได้มีการว่ากันไว้- ที่ได้เรียนรู้มาจากพ่องู (ภาษิตอาหรับ ใช้พูดถึง บุคคลที่มีนิสัยที่ไม่ดีที่คล้ายคลึงกับนิสัยเสียของบิดาของตน) คือ คนบางคนเวลาที่ประเด็นเหล่านี้ถูกถ่ายทอดหรือถูกกล่าวไว้ในตำรับตำราบางเล่มหรือในสารบางฉบับ แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องและแข็งแรง (กำลังพูดถึงการให้น้ำหนักยืนยันข้อเท็จจริงและความถูกต้อง) คือมีพวกที่จิตป่วยบางคนพยายามฉวยโอกาสเข้ามาใช้คำพูดนี้  โดยพวกเขาบอกว่า พวกเราจะขะมักเขม้นอยู่กับอัลกุรอ่าน แล้วพวกเขาก็พากันทิ้งเรื่องวิชาการและไปง่วนอยู่กับอัลกุรอ่าน  แต่แล้วถัดมาพวกเขาก็พากันนำพาผู้คนให้ไปยุ่งอยู่กับเรื่องอะนาชีดและละคร พวกเขาไม่ได้ชวนผู้คนให้มาขะมักเขม้นอยู่กับอัลกุรอ่านและการหาความรู้แต่อย่างใด พวกเขานำพาให้ผู้คนไปยุ่งอยู่กับสิ่งที่เป็นความเบี่ยงเบนทางจรรยา และหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอื่นๆ ขออัลลอฮฺทรงประทานความสงบและปลอดภัยให้ด้วยเถิด


        ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สำหรับนักศึกษาแล้ว ในช่วงรอมฎอนพวกเขาย่อมมีความขยันพากเพียรมากขึ้นและมากขึ้น และยังมีการเอาใจใส่อย่างแรงกล้าในอันที่จะทำให้ความดีทั้งสองความดีนี้อยู่รวมกันให้ได้ ทั้งการอ่านอัลกุรอ่าน การจบอัลกุรอ่านให้ได้หลายๆรอบ  ตลอดจนการทำความเข้าใจและการพินิจพิจารณาอัลกุรอ่าน ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาความรู้เช่นเดียวกัน และเป็นการพยายามขวนขวายและทุ่มเทกำลังในการหาความรู้อย่างเต็มที่ด้วยนั่นเอง


ที่มาจาก  http://ar.miraath.net/fatwah/9225