มารยาทอาบน้ำ
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
อิสลามให้ความสำคัญต่อการวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกรูปแบบและทุกย่างก้าวของการดำเนินชีวิต อิสลามให้ความสนใจในการสร้างเยาวชนให้เติบโตด้วยความสมบูรณ์ในความศรัทธา มีความสำเร็จในด้านสติปัญญามีความบริสุทธิ์ในจิตใจ มีความเป็นเลิศในด้านจริยธรรม และมีความสมหวังในหน้าที่การงาน
อิสลามยังให้ความสนใจต่อการสร้างสรรค์มุสลิมให้มีความปลอดภัยในชีวิต มีความเข้มแข็งในจิตวิญญาณ มีความสะอาดในร่างกาย มีความสะอาดในเครื่องนุ่งห่ม มีความหอมในกลิ่นกาย และมีความสวยงามในบุคลิกภาพ
อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอาน บทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 108 ความว่า
“ในมัสยิดนั้น มีกลุ่มบุคคลที่ชอบที่จะรักษาความสะอาด และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้รักษาความสะอาดเสมอ”
พระนางอาอิซะฮฺ รายงานคำสอนของท่านนบี ที่ท่านสอน ความว่า
“ท่านทั้งหลายจงรักษาความสะอาด เพราะอิสลามนั้นเป็นศาสนาแห่งความสะอาดบริสุทธิ์”
(บันทึกโดยอิบนุหิบบาน)
ความสะอาดเกี่ยวข้องกับการศรัทธา เพราะท่านนบี กล่าวความว่า
“ความสะอาดนั้น เป็นกึ่งหนึ่งของการศรัทธา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
อิสลาม ได้บัญญัติเรื่องการรักษาความสะอาดมาในรูปของการอาบน้ำและอาบน้ำละหมาด ซึ่งเป็นบทนำของการปฏิบัติศาสนกิจสำคัญ เช่น การละหมาด ซึ่งต้องกระทำในแต่ละวันหลายครั้งหลายหน และยังเน้นให้มีการอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำอย่างทั่วถึงสมบูรณ์ทุกอวัยวะที่เกี่ยวข้องหรือทั่วทั้งร่างกาย ไม่เว้นแม้เพียงเท่าขนแมว ท่านนบี กล่าวความว่า
“กุญแจของการละหมาด คือ การชำระความสะอาด”
(บันทึกโดยติรมิซี)
การอาบน้ำละหมาดยังได้กุศลผลแห่งการปฏิบัติน่าชื่นชมยิ่ง ท่านนบี ได้กล่าวตามคำรายงานของอุสมาน อิบนิอัฟฟาน
“ผู้ที่อาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ดีนั้น โทษของเขาจะถูกลบออกไปจากร่างกาย แม้จากบรรดาเล็บของเขาก็ตาม”
(บันทึกโดยมุสลิม)
ศาสนาอิสลาม ส่งเสริมให้มุสลิมอาบน้ำในหลายวาระที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจ หรือในโอกาสสำคัญ ๆ ทางศาสนาที่มีคนมาชุมนุมกันมาก ๆ เช่น อาบน้ำวันศุกร์ อาบน้ำวันตรุษ (วันอีด) ขณะจะทำการเอี๊ยะราม ทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺ เพื่อเข้ามักกะฮฺ เพื่อพักที่อารอฟะ เพื่อการตอวาฟ (เวียนรอบกะอฺบะอฺ) เพื่อเข้าเมืองมะดีนะฮฺ ในทุกคืนของรอมฎอน และบุคคลที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม
ในการอาบน้ำและเข้าห้องอาบน้ำ ศาสนาอิสลามได้วางระเบียบและมารยาทไว้อย่างครบถ้วน และบางส่วนนั้นก็คือ
1. กล่าวพระนามอัลลอฮฺ (บิสมิลลาฮฺ) เมื่อเปลี่ยนชุดอาบน้ำ แม้ผู้อาบน้ำนั้นจะตัวเปื้อน (มีรอบเดือน) หรือมีญุนุบก็ตาม แต่ที่ควรกล่าวบิสมิลลาฮฺ โดยเจตนาเป็นซิกรุลลอฮฺ มิใช่เป็นอัลกุรอาน
2. ปกปิดส่วนสงวน (เอาเราะฮฺ) เพราะมุสลิมนั้นห้ามที่จะเปิดเอาเราะฮฺอาบน้ำต่อหน้าบุคคลอื่นและต้องไม่เปิดเอาเราะฮฺโดยไม่จำเป็น เพื่อแสดงความละอายต่ออัลลอฮฺ ให้เกียรติต่อบรรดามลาอิกะฮฺที่คอยติดตามบันทึกความดีความชั่วของมนุษย์ และพึงทราบว่าเอาเราะฮฺ (ส่วนสงวน) ของผู้ชายกับผู้ชาย และผู้หญิงกับผู้หญิงนั้นคือ ส่วนระหว่างสะดือกับหัวเข่า
3. ต้องนำผ้าขนหนูปกปิดเอาเราะฮฺให้มิดชิดเมื่อเข้าห้องอาบน้ำ โดยเฉพาะห้องอาบน้ำสาธารณะ
4. พึงละเว้นการมองเอาเราะฮฺของตนเอง และต้องไม่มองเอาเราะฮฺของคนอื่น ที่สำคัญต้องไม่ให้ใครเห็นขณะที่ถอดเสื้อผ้าหรืออาบน้ำ
5. ต้องอาบน้ำในที่มิดชิดที่ไม่มีผู้ใดเห็น และไม่ควรให้ผู้ใดมาช่วยอาบน้ำให้ นอกจากคนป่วยหรือคนชรา และหรือเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ต้องสอนการอาบน้ำให้
6. ขณะอาบน้ำ ควรกระทำอย่างสงบและควรละเว้น การคุยกัน ให้สลามและรับสลาม กล่าว ซิกรุลลอฮฺ และอ่านอัลกุรอาน นอกจากจะโดยในใจและการขอพรอาบน้ำตามที่ศาสนากำหนด
7. ขณะอาบน้ำ พึงละเว้นการรับประทาน ดื่มน้ำเย็นจัด และไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะทำให้อาหารย่อยยาก
8. เมื่อเปลื้องเสื้อผ้า ควรคิดทบทวนความจริงของตนเองว่า ร่างกายต้องสูญสลายเมื่อความตายมาถึง แล้วต้องกลับสู่โลกปรภพ ดังนั้น ควรสะสมเสบียงเพื่อโลกแห่งนิรันดร์ และเมื่ออาบน้ำร้อนให้คิดว่า ความร้อนแห่งไฟนรกนั้นร้อนแรงกว่ามาก
9. ต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าอาบน้ำในห้องน้ำรวมหรือห้องอาบน้ำสาธารณะนอกจากที่จำเป็นเท่านั้น เพราะอาจจะเป็นการเปิดเอาเราะฮฺต่อหน้าคนอื่น และจะต้องมองเห็นเอาเราะฮฺของคนอื่น
10. ควรใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะการอาบน้ำโดยใช้น้ำมากเกินไป ถือเป็นการฟุ่มเฟือย ซึ่งผิดต่อหลักการศาสนา แม้จะมีน้ำมากก็ตาม
11. ให้ความสำคัญต่อการอาบน้ำให้ทั่วร่างกาย ด้วยทำให้น้ำทั่วทุกผิวหนังภายนอก โดยเฉพาะในการอาบน้ำเปลื้องหะดัส
12. ควรทราบว่า ข้อห้ามสำหรับผู้มีรอบเดือนและมีญุนุบว่ามี 5 ประการ คือ ละหมาด อ่านอัลกุรอาน กระทบหรือถืออัลกุรอาน ตอวาฟ (เวียนรอบกะอฺบะอฺ) และหยุดอยู่ในมัสยิด ส่วนข้อห้ามสำหรับผู้ไม่มีน้ำละหมาด คือ ละหมาด ตอวาฟ กระทบและถืออัลกุรอาน
13. เมื่อมุสลิมมีหะดัสไม่ว่าหะดัสเล็ก (เสียน้ำละหมาด) หรือหะดัสใหญ่ (มีรอบเดือนหรือมีอสุจิเคลื่อน) ควรอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำเปลื้องหะดัสอย่างรวดเร็ว ไม่ควรอยู่ในภาวะมีญุนุบนาน ๆ เพราะ ไม่ทราบว่าตนเองจะเสียชีวิตเมื่อใด