ลักษณะของผู้รักกันในหนทางของอัลลอฮฺ
อุมมุ อาอิช
ลักษณะของผู้รักกันในหนทางของอัลลอฮฺ
1. ทำคุณไม่เพิ่ม ห่างเหินไม่ลด
ในบรรดาลักษณะของการรักในหนทางของอัลลอฮฺ คือมันจะไม่เพิ่มเพราะการทำดีและไม่ลดเพราะความห่างเหินต่อกัน
ยะฮฺยา บินมุอาซ อัรรอซียฺ ได้กล่าวว่า ลักษณะของรักแท้นั้น จะต้องไม่เพิ่มเพราะการทำดีต่อกัน และไม่ลดเพราะความห่างเหินจากกัน
2. เห็นชอบด้วยกัน
ในจำนวนลักษณะของการรักในหนทางของอัลลอฮฺ เช่นกันก็คือ การให้ความเห็นชอบร่วมกันในสิ่งต่าง ๆ อุละมาอ์บางท่านได้กล่าวว่า เพื่อนจะกล่าว "ไม่" ในสิ่งที่ท่านบอกว่า "ไม่" และ จะกล่าวว่า "ใช่" ในสิ่งที่ท่านบอกว่า "ใช่"
3. ไม่ริษยาเพื่อน
อีกหนึ่งลักษณะของการรักในหนทางของอัลลอฮฺ เช่นกัน ก็คือ คนที่รักเพื่อนต้องไม่ริษยาเพื่อนในทางศาสนาและทางโลกดุนยา อัลลอฮฺ ได้กล่าวถึงลักษณะของคนรักแท้ ในอายะฮฺที่ว่า
“และในใจของพวกเขาไม่มีความรู้สึกอยากได้ในสิ่งที่คนเหล่านั้นได้รับ
และพวกเขาจะให้ความสำคัญและเห็นแก่คนเหล่านั้นมากกว่าตัวพวกเขาเอง แม้ว่าพวกเขาต้องลำบากทุกข์ยาก”
(อัล-หะชัร 9)
4. หวังดีต่อเพื่อนเหมือนกับหวังกับหวังดีต่อตัวเอง
อีกหนึ่ง ลักษณะ ของ คนที่รักในหนทางของอัลลอฮฺก็คือ เขาอยากให้เพื่อนได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้หรือปรารถนา ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า
“พวกท่านทุกคนจะไม่บรรลุอีหม่านที่สมบูรณ์ จนกว่าจะนึกอยากให้เพื่อนได้ในสิ่งที่ตัวเองรักที่จะได้”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
5. ใช้การภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นเกณฑ์วัดความรักชอบต่อกัน
ลักษณะของการรักในหนทางของอัลลอฮฺ อีกเช่นกัน คือ ความรักชอบจะเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นเพื่อนยิ่งภักดีต่อ อัลลอฮฺ และลดลงเมื่อเห็นเพื่อนทำบาปหรือมะอฺศิยะฮฺต่ออัลลอฮฺ ผู้สูงส่ง
หน้าที่และเงื่อนไขของการคบเพื่อนและการรักกัน
มุสลิมแต่ละคนต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันหลายประการ สิทธิและหน้าที่เหล่านี้ถูกกำหนดโดยสัญญาแห่งอิสลาม มุสลิมทุกคนจึงจำเป็นต้องเคารพสัญญานี้ ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงละเมิดได้ บางส่วนของสิทธิและหน้าที่นี้ได้ถูกระบุผ่านพจนารถของ ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- เช่น คำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ที่ว่า
“หน้าที่มุสลิมต่อมุสลิมนั้นมีหกประการ
♣ เมื่อท่านพบ ท่านจะต้องให้สลามแก่เขา
♣ เมื่อเขาเชิญชวน ท่านจะต้องตอบรับเขา
♣ เมื่อเขาขอคำปรึกษา ท่านต้องให้คำชี้แนะแก่เขา
♣ เมื่อเขาจามแล้วสดุดีอัลลอฮฺ ท่านจะต้องกล่าวดุอาอ์แก่เขา
♣ เมื่อเขาป่วย ท่านจะต้องเยี่ยมเขา
♣ และเมื่อเขาสิ้นชีวิต ท่านจะต้องร่วมติดตามขบวนส่งศพเขา”
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)
ต่อการอธิบายเกียรติศักดิ์ศรีของมุสลิม ตลอดจนสิ่งที่มุสลิมไม่สามารถละเมิดต่อมุสลิมอื่นๆนั้น ท่านนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า
“พวกท่านจงหลีกเลี่ยงการมองในแง่ร้าย เพราะการมองในแง่ร้ายคือวาจาที่เป็นเท็จมากที่สุด
พวกท่านจงอย่าสอดรู้สอดเห็น อย่าหาความลับ อย่าชิงดีชิงเด่น อย่าอิจฉาริษยา และอย่าโกรธแค้นกัน
จงอยู่อย่างบ่าวของอัลลอฮฺฉันมิตรสหาย มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาจะต้องไม่รังแก ไม่ลบหลู่และไม่ดูหมิ่นเขา
ความยำเกรงนั้น อยู่ที่นี่ (พร้อมกับได้ชี้ไปยังที่หน้าอกของท่าน)
เป็นการพอแล้วที่คนหนึ่งจะถูกตราเป็นคนชั่วด้วยการที่เขาดูถูกมิตรมุสลิมของตัวเอง
มุสลิมต่อมุสลิมทุกคนนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามในเลือดเนื้อ เกียรติศักดิ์ศรี และทรัพย์สมบัติของเขา”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
พันธะแห่งความเป็นพี่น้องกันนั้นมันผูกพันกันเหมือนกับสัญญาการแต่งงานระหว่างสองสามีภรรยา โดยพันธะนี้จะผูกพันกับสิทธิและหน้าที่ด้านต่างๆ เช่น สิทธิและหน้าที่ด้านการเงิน กายภาพ วาจา และหัวใจ การรักษาไว้ซึ่งสิทธิและหน้าที่อันนี้จะทำให้ความรักมีความต่อเนื่องถาวรและเพิ่มความเห็นอกเห็นใจกัน ทำให้คู่สัญญาอยู่ในบัญชีประเภทคนที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺ และได้รับผลตอบแทนและผลบุญมากมายดังที่เราได้กล่าวมา
ผู้แปล : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์, ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse