ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8302

 

ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอิสลาม 

นิพล แสงศรี

 

          ปัจจุบันกระแสความคิดด้านสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็น กระแสที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ควบคู่กับกระแสการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแต่ในประเทศมุสลิม เราจะพบว่ามีบุคคล กลุ่ม องค์การทางสังคมและการเมืองเคลื่อนไหวในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครอง ขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิงแวดล้อม และชาติพันธุ์ ฯลฯ

 

        การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาที่ปรากฎมาช้านาน ทุกยุคทุกสมัย แต่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาระดับโลกเพราะมีปรากฎให้เห็นมาตลอดทั่วเกือบทุกประเทศทั่วโลก เช่น การค้ามนุษย์ การค้าแรงงาน การละเมิดสิทธิเด็กสตรีคนชรา การเหยียดสีผิว การแบ่งชั้นวรรณทางสังคม และอื่นๆ การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีทั้งที่กระทำโดยภาครัฐบาลและภาคเอกชน นอกจากนี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งเราอาจเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็ได้

 

     1 . มนุษย์มาจากบิดาคนเดียวกัน อิสลามถือว่า มนุษย์ทุกคนมาจากตระกูลและครอบครัวเดียวกัน แม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ และเผ่าพันธุ์ ดังคัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า
 

"โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (นบีอาดัม)" 
 

(อันนิสาอฺ : 1) 
 

และคัมภีร์อัลกุรอานยังระบุอีกความว่า 
 

         "โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน"
 

 (อัลฮุญุรอต : 13)
 

         การประกาศหลักการและเจตนารมณ์อันบริสุทธิดังกล่าว ถือเป็นการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้นวรรณะ และการจัดวางกลุ่มคนเป็นขั้นบันไดทางสังคมเนื่องจากความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ วงศ์ตระกูล และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์โดยสิ้นเชิง

 

นบีมุฮัมมัด  กล่าวความว่า 

“ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉัน สำหรับผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์

ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉัน สำหรับผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์

และไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉัน สำหรับผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้อง และรักษาแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด)

        ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์ของอิสลามจึงเต็มไปด้วยการสร้างคุณประโยชน์ในระดับสากลที่มนุษยชาติควรมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองการเชิญชวนของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นฐานของมนุษย์ที่มีพระเจ้าองค์เดียว และมีรากเหง้าและต้นตอที่มาจากมนุษย์คนเดียวกัน


     2 . ทุกคนล้วนได้รับเกียรติ อิสลามถือว่า มนุษย์มีฐานะประเสริฐสุดจากสิ่งที่ถูกสร้างทั้งปวง เพราะสร้างงานด้วยสองมือและทานอาหารด้วยสองมือ แม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา และความเป็นมนุษย์ของคนๆหนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรติ คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า

         "แน่แท้เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอดัมและเราได้พิทักษ์ปกป้องพวกเขาทั้งหลาย ทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิด เป็นส่วนใหญ่"

(อัลอิสรออฺ : 70)

         ดังนั้น ในศาสนาอิสลามจึงกำหนดสิทธิของร่างกายที่พึงได้รับขั้นพื้นฐาน หรือการดูแลรักษาอวัยวะต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์สมกับที่พระเจ้าทรงให้มา เช่น ดวงตาต้องได้รับการหลับพักผ่อน ท้องต้องได้สารอาหาร ร่างกายต้องได้รับการส่วมใส่เสื้อผ้า ผมต้องรับการหวีดูแล เล็บต้องได้รับการตัด เคราหนวดต้องได้รับขลิบ เวลาร่างกายป่วยต้องได้รับการเยียวยา เป็นต้น โดยเฉพาะชีวิตก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ศาสนาอิสลามจึงห้ามทำแท้ง ห้ามฆ่าลูกเพราะกลัวความยากจน หรือห้ามทำร้ายตบตี ทำร้ายตนเอง ทำลายตนเอง หรือห้ามฆ่าตัวตายจะด้วยวิธีใดก็ตาม หรือห้ามสังหารผู้บริสุทธิ์ในยามสงคราม เช่น คนชรา เด็ก สตรี นักบวชที่อยู่ในสถานที่ทำพิธี รวมถึงห้ามตัดทำลายต้นไม้และฆ่าสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช้ทำเป็นอาหาร

          นอกจากนั้นถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิในทรัพยากรของพระองค์บนโลกร่วมกัน โดยสภาพที่พระองค์อาจจะมอบให้ชนชาติหนึ่งเหนือชนชาติหนึ่งในด้านที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกันทิศทางที่เป็นธรรม และมีความประเสริฐกว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นบนโลก แล้วเราจะใช้หลักการอะไรมาปฎิเสธศักดิ์ศรีความเป็นคน หรือกำจัดลมหายใจของคนอื่นออกจากโลกด้วยวิธีการต่างๆนานา


     3 . ความยุติธรรม อิสลามได้เชิญชวนและเรียกร้องให้ยืนหยัดใน กระบวนการยุติธรรม ในด้านต่างๆ อย่างเสมอภาคในกลุ่มคนทุกประเภท ไม่มีอคติลำเอียง และพยายามดำรงความยุติธรรมไว้ ไม่ละเว้นแม้ต่อบรรดาศัตรูและกลุ่มผู้ไม่หวังดีก็ตาม คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า

"และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า"

(อัลมาอิดะฮฺ : 8)

          โดยเฉพาะการไม่ได้รับความเป็นธรรม ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พลเมืองในแต่ละประเทศสมควรได้รับ หรือขัดขวางการนับถือศาสนาและการปฎิบัติตามหลักศาสนา หรือการดูถูกดูแคลนศาสนา พระเจ้า ศาสดา และพระคัมภีร์ หรือการสอดแทรกลักษณะสังคมที่อยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ และความพยายามเรียกร้องให้ทั่วโลกปกครองด้วยระบบเดียวกัน

        ดังนั้น ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน จึงต้องมีการให้เกียรติกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการจาบจวงและล่วงละเมิดในคำสอนทางศาสนา พระเจ้า ศาสดา การปฎิบัติศาสนกิจ การยุงยงส่งเสริมกันในทางที่ผิด และการใส่ร้ายกล่าวหา ตลอดจนการเอารัดเอาเปรียบหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการกดขี่ทางการเมือง หรือการใช้กำลังคนเข้ายึดครองพื้นที่ หรือการต่อต้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่สะสม และนำไปสู่การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรงระหว่างมนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่กระจายอยู่ทั่วโลก


     4 . สิทธิอันชอบธรรม หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายตอนระบุว่า อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของศาสนายุคก่อน ๆ และได้ยอมรับคนต่างศาสนิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม และพลเมืองของรัฐอิสลาม นอกจากนี้อิสลามยังได้กำหนดสิทธิอันชอบธรรมที่ชนต่างศาสนิกพึงได้รับ เช่น ความอิสระและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การสร้างสถาบันและสัญลักษณ์ทางศาสนา การยอมรับในกฎหมายและข้อบังคับที่ว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งการสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่สร้างความอธรรม รุกราน หรือละเมิดสิทธิด้วยการแอบอ้างการตีความศาสนาหรือบัญญัติศาสนาในทางที่ผิดและไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ที่ถูกต้อง

        การสอนของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองผู้มิใช่มุสลิมในรัฐอิสลามนั้น เป็นคําสอนกว้างๆ เริ่มตั้งแต่การสอนให้รู้จักการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ ดังปรากฏในอัลหะดีษระบุความว่า 

“ วันหนึ่งได้มีขบวนแห่ศพผ่านมา นบีมุฮัมมัด  ลุกขึ้นยืนให้เกียรติ เหล่าเศาะฮาบะฮ์กล่าวว่า นี่เป็นขบวนศพของชาวยิว 

ท่านกล่าวตอบว่า เขามิได้เป็นมนุษย์คนหนึ่งดอกหรือ ? "

(เศาะฮีฮ์-อัลบุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 86)

        สิทธิของเพื่อนมนุษย์ (ที่มิใช่มุสลิม) ในรัฐอิสลามที่จะได้รับความเป็นธรรมจากผู้ปกครองมุสลิมหรือรัฐอิสลาม มีปรากฏอยู่หลายแห่ง 

          "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย จงเป็นผู้ดำรงค์ไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม ในฐานะพยานของอัลลอฮ์ ไม่ว่าต่อตัวของเจ้าเอง หรือต่อบิดามารดาทั้งสองของเจ้า หรือต่อเตรือญาติใกล้ชิด ไม่ว่าต่อผู้มั่งมีหรือต่อผู้ขัดสน แท้จริงจงตระหนักว่าอัลลอฮ์ (บัญชาของพระองค์ ) ต้องมาก่อนเสมอ และจงอย่าปฏิบัติตามอารมณ์ในคราที่ต้องให้ความเป็นธรรม..."

( อัลกุรอาน 4 : 135 )

นบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า 

         “พึงทราบเถิดว่าผู้ใดที่ปฏิบัติอธรรมต่อคนต่างศาสนิกที่อยู่ระหว่างการทำพันธะ สัญญา หรือเหยียดหยามเขา หรือสั่งให้เขาทำงานในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา หรือยึดทรัพย์สินใดๆของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เต็มใจมอบให้ ดังนั้นฉันจะเป็นคู่กรณีกับบุคคลผู้นั้น (ด้วยการทวงคืนสิทธิของผู้ถูกอธรรม) ในวันกิยามะฮ์ ” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด)

         คนต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลาม (กาเฟรซิมมีย์) รัฐจึงมีหน้าที่จะต้องดูแลด้วยความยุติธรรม ขณะที่พวกเขามีหน้าที่จ่ายภาษี (ญิซยะฮ) เช่นเดียวกับที่มุสลิมจ่ายเหมือนกัน แต่จ่ายในรูปซะกาต (ทานบังคับ) ส่วนคนต่างศาสนาที่ลงนามเซ็นสัญญาร่วมกันว่าจะไม่รุกรานต่อกันหรือไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน (กาเฟรมุอาฮัด) คนทั้ง 2 กลุ่มนี้มุสลิมสามารถติดต่อสร้างความสัมพันธ์ในด้านต่างๆได้


     5 . ความหลายหลากทางศาสนาและวัฒนธรรม อิสลามถือว่า ความหลากหลายของประชาคมและเชื้อชาติ ถือเป็นกฏสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต และความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสู่การแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า

"และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน"

(ฮูด : 118)

        ซึ่งหมายความว่า อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่นๆ หรือเชื้อชาติอื่นๆ ในโลกใบนี้ราว 7-8 พันล้านคน และทุกคนล้วนมีสิทธิใช้ชีวิตและดำรงคงอยู่บนโลกนี้ พร้อมกับความเชื่อหรือความศรัทธาของแต่ละคนได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่สร้างความเดือนร้อนกับตนและสังคมรอบข้าง


     6 . ศาสนาและการนับถือ คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า "ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม" (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 256) และยังระบุความว่า "เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา (ให้เกิดความศรัทธา)" (อัลฆอซิยะฮฺ : 22)  ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่ออิสลามยอมรับในหลักการที่ว่า การเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาอิสลาม ควรต้องเป็นผลพวงของเจตนารมณ์และความต้องการอันเสรีอันนำไปสู่การยอมรับในหลักของเหตุและผลของแต่ละบุคคล อิสลามจึงสั่งห้ามมิให้มีการบังคับขู่เข็ญให้คนมานับถืออิสลาม และการบังคับในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการก่ออาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพ ในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า

"และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ"

(ยูนุส : 99)

         แม้ศาสนาอิสลามจะเน้นด้านการประกาศและเผยแผ่ผ่านบรรดาศาสนทูต แต่ศาสนาอิสลามก็ไม่ได้ปฏิเสธอารยธรรมอันดีงาม ที่มนุษยชาติในยุคก่อนได้สรรค์สร้างและพัฒนาขึ้นตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักการอิสลาม ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง สิ่งดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนามนุษยชาติที่เหมาะสมกับยุคสมัยนั้นๆ หากจะเปรียบเทียบอิสลามเป็นอิฐก้อนๆหนึ่ง ที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปอย่างเสร็จสิ้นและสมบูรณ์

         คัมภีร์อัลกุรอานระบุความว่า "สำหรับพวกท่านก็คือ ศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน" (อัลกาฟิรูน : 6) กล่าวคือ มุสลิมไม่สามารถร่วมพิธีกรรมทางศานาอื่นๆได้ ดังนั้นต่างฝ่ายต่างก็ปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน รวมถึงการเลียนแบบด้านวัฒนธรรมเชิงศาสนาและความเชื่อด้วย นบีมุฮัมมัด  กล่าว 

“ บุคคลใดเลียนแบบพวกใด บุคคลนั้นถือเป็นพวกนั้น” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด)