มารยาทการบริจาคซะกาต
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
ซะกาตเป็นบัญญัติหนึ่งในห้าประการ ถูกบัญญัติควบคู่ไปกับการบัญญัติเรื่องละหมาดในหลายโองการแห่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น ในบทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 277 ความว่า
“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาผู้ประพฤติชอบ ผู้ดำรงการละหมาด และผู้จ่ายซะกาต
พวกนั้นย่อมได้รับผลบุญของตนตอบแทนจากฝ่ายพระผู้อภิบาลแห่งพวกเขา
และจะไม่มีความหวาดกลัวที่พวกนั้น ทั้งยังไม่มีความโศกสลดอีกด้วย”
อิสลามส่งเสริมให้อิสลามิกชน ปฏิบัติให้ครบถ้วนต่อบทบัญญัติอิสลาม ส่วนหนึ่งแห่งบทบัญญัติ คือ การจ่ายซะกาต โดยอิสลามกำชับให้มุสลิมทำมาหากินโดยสุจริต ประกอบสัมมาอาชีพที่ไม่ผิดต่อหลักการศาสนา แล้วรวบรวมทรัพย์สินเงินทอง เพื่อสนองตอบการปฏิบัติอย่างดีที่สุด ความหมายในที่นี้คือ อิสลามต้องการต่อสู้กับความยากจน ให้คนร่ำรวยมีทรัพย์สินเกินการใช้จ่าย ต้องเจือจุนแก่คนยากจน กล่าวคือ คนรวยต้องเป็นผู้ให้ด้วยถึงจะรวยแบบอิสลาม
นอกจากอิสลามจะกำหนดให้ผู้มีทรัพย์สินคบพิกัด ต้องแจกจ่ายซะกาตตามข้อบังคับทางศาสนาแล้ว อิสลามยังได้สนับสนุนให้มีการบริจาคทานอาสา ในทางที่จะก่อประโยชน์ต่อคนส่วนรวมด้วย เช่น บริจาคสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล และอื่น ๆ ที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
อัลลอฮฺ ตรัสในบท อัตตะฆอบุน โองการที่ 17 ความว่า
“มาตรแม้นพวกเจ้าให้อัลลอฮฺกู้ยืมอย่างดีงาม ด้วยการบริจาคอย่างบริสุทธิ์ใจ
แน่นอนพระองค์ก็จักทรงทวีผลของมันแก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺทรงขอบใจ ทรงเอ็นดูยิ่ง”
และท่านนบี กล่าวสนับสนุนผู้บริจาคและผู้ตำหนิผู้ตระหนี่ ความว่า
“โอ้มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย หากเจ้าแจกจ่ายส่วนเกินสำหรับเจ้า ก็จะเป็นการดีสำหรับเจ้า แต่หากเจ้ายังเก็บกักส่วนเกินนั้นไว้อีก ก็จะเป็นโทษสำหรับเจ้า และเจ้าต้องไม่ดูแคลนต่อความพอเพียง และเจ้าจงเริ่มแจกจ่ายแกบุคคลในครอบครองก่อน และมือบนนั้น ย่อมประเสริฐกว่ามือล่างแน่นอน”
(บันทึกโดยมุสลิม)
และนี้เป็นบางส่วนของมารยาทอิสลามต่อการบริจาคซะกาต
1. บริจาคซะกาต ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ อย่างแท้จริง
2. ต้องทราบว่า ซะกาตนั้นเป็นสิทธิของคนยากจน และเชื่อมั่นอย่างแน่นอนโดยสุจริตว่า ทรัพย์นั้นเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ เราเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาในฐานะบ่าวของพระองค์ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้เป็นพระเจ้าเท่านั้น และพระองค์จะทรงตอบแทนผลกรรมให้เองตามพระประสงค์
3. ต้องรู้ว่า การบริจาคซะกาตนั้น เป็นการชำระให้ปลอดจากความตระหนี่ถี่เหนียว และชำระให้ทรัพย์สะอาดจากการต้องห้าม
4. ต้องรู้และศรัทธาอย่างจริงใจว่า การบริจาคทรัพย์ซะกาตนั้นจะไม่ทำให้ทรัพย์น้อยลง มีแต่จะเพิ่มพูนมากขึ้น
5. คิดคำนวณทรัพย์ซะกาตให้ครบถ้วนและรอบคอบตามหลักการที่ศาสนากำหนด จะใช้หลักประมาณการมิได้
6. แจกจ่าย จัดการทรัพย์ซะกาตทันที เมื่อครบพิกัดและครบรอบปี
7. ทรัพย์ที่จะใช้เป็นทรัพย์ซะกาตนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ดี เป็นทรัพย์ที่ฮาลาล (ถูกต้อง) ไม่ใช่เป็นทรัพย์ต้องห้าม (ฮะรอม)
8. การบริจาคทรัพย์ซะกาต ควรบริจาคแบบไม่เปิดเผย เพื่อป้องการการอวดอ้างเอาหน้า และเป็นการรักษาหน้าคนยากจนที่รับบริจาคอีกด้วย หากแน่ใจว่าจะไม่เกิดสิ่งดังกล่าวก็ให้บริจาคทรัพย์ซะกาตเป็นการเปิดเผย เพื่อจักได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายทรัพย์ซะกาตต่อไป
9. ต้องไม่มีการทวงบุญคุณหรือลำเลิก และเรียกร้องสิ่งตอบแทนจากผู้รับทรัพย์ซะกาต แม้เพียงคำพูดว่า “ช่วยขอพรให้ด้วย”
10. การบริจาคทรัพย์ซะกาต ให้เริ่มด้วยการบริจาคแก่ผู้เป็นญาติที่มีสิทธิ์รับทรัพย์ซะกาต เป็นอันดับแรก เพราะจะได้ผลบุญสองต่อ คือ ได้บริจาคทรัพย์ซะกาต และได้สัมพันธ์เครือญาติ
11. ควรเลือกคนจนหรือผู้มีสิทธิ์รับทรัพย์ซะกาต ที่เป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัว และเป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นผู้สมควรได้รับทรัพย์ซะกาตในระดับต้น
12. ต้องบริจาคทรัพย์ซะกาตแก่คนยากจน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยใจที่มีความสุข อย่าคิดว่าตนเหนือกว่าคนจนที่รับทรัพย์ซะกาต เพราะคนจนที่รับซะกาตไปนั้นน่าจะได้รับการขอบคุณ เนื่องจากว่าทำให้เราได้ปฏิบัติเรื่องซะกาตได้ครบถ้วน และไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว รวมทั้งเป็นเหตุทำให้เราบริสุทธิ์ด้วย
13. ควรเลือกบริจาคทรัพย์ซะกาตในวันเวลาที่เป็นมงคล เช่น เดือนรอมฏอน วันอีด และวันศุกร์ เป็นต้น เพราะบรรดาวันเหล่านี้ คนยากจนที่เป็นผู้รับทรัพย์ซะกาตนั้นพวกเขาต้องมีภาระและมีความต้องการในทรัพย์เพื่อใช้ปฏิบัติกิจในวันดังกล่าว พึงทราบเถิดว่า “การให้แก่ผู้ต้องการนั้นย่อมประเสริฐสุด”
14. ควรฝึกเป็นผู้ให้ แม้เพียงทรัพย์เล็กน้อยก็ตาม เพราะบริจาคเล็กน้อยที่บริสุทธิ์ใจนั้น จะได้ผลบุญมหาศาล และย่อมปกป้องภัยอันยิ่งใหญ่ได้
15. ควรขอบคุณและขอพรให้แก่คนที่ทำให้เราได้รับซึ่งความดีงามในการบริจาคทรัพย์ซะกาต และให้หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ต่อทรัพย์ของเรา
16. อิหมามฆอซาลี รอฮิมะฮุลลอฮฺ ได้เสนอว่า ในการบริจาคทานและบริจาคทรัพย์ซะกาตของท่านนั้นโปรดรักษาวินัย 5 ประการ คือ
* กระทำโดยไม่เปิดเผย อันจะทำให้ท่านปลอดภัยจากการเอาหน้า เพราะมันเป็นธรรมชาติ ส่วนใหญ่ของมนุษย์
* ท่านต้องบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับบริจาค ท่านต้องไม่คิดว่าตนเองทำดีและมีบุญคุณต่อผู้รับ สังเกตได้ คือ บริจาคไปแล้วก็รอการขอบคุณ หากเขาทำเมินเฉยไม่แสดงความขอบคุณก็รู้สึกไม่พอใจ การเช่นนี้ แสดงว่าท่านเห็นตนเองดีกว่าเขา และเขาต้องขอบคุณเรา วิธีขจัดเรื่องนี้ คือ ท่านต้องคิดใหม่ คือ ต้องคิดว่าเขา (ผู้รับซะกาต) นั้นทำดีต่อท่าน และมีบุญคุณต่อท่านที่ยอมรับเอาหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่ออัลลอฮฺไปจากท่าน
ดังนั้น ความลับของซะกาตก็คือ ชำระใจให้สะอาด ขจัดความตระหนี่ไปจากใจ และเมื่อมีคนมารับซะกาตจากท่านไป เท่ากับว่าเขาได้ทำความสะอาดให้แก่ตัวท่านและทรัพย์ของท่านแล้ว
* ท่านต้องบริจาคทรัพย์ซะกาตด้วยทรัพย์ที่ดี (ฮาลาล) เพราะอัลลอฮฺ จะรับเฉพาะแต่สิ่งที่ดี ๆ เท่านั้น
* ท่านต้องบริจาคทรัพย์ซะกาตด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม และมีใจเป็นสุข
* ท่านควรเลือกสรรให้ทรัพย์ซะกาตของท่านไปตกอยู่แก่คนดี มีศีลธรรม ในวงศ์ญาติ หรือผู้มีวิชาความรู้ อันจะยังประโยชน์ต่อไปอย่างกว้างขวาง