มารยาทต่อบุคลิกภาพของตนเอง
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
ธรรมชาติของคนเราส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมองและตำหนิตนเองแต่ชอบที่จะมองและตำหนิคนอื่น จึงทำให้มนุษย์ไม่ค่อยมีการแก้ไขตนเอง เพราะเข้าใจเอาเองว่า ต้นเหตุมิใช่เกิดจากตนเอง เมื่อคิดอย่างนี้ การแก้ไขก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือมีการแก้ไขแต่แก้ไขที่ผิดที่ผิดทาง เพราะไปแก้ไขที่มิใช่ต้นเหตุแห่งปัญหา ปัญหาจึงยังคงมีอยู่ทุกวันนี้
สำหรับมุสลิม จำต้องเริ่มทุกอย่างจากตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อตำหนิหรือความดีงามต้องดูที่ตัวเองเป็นอันดับแรก เช่น ต้องการให้คนทำดีแก่ตน ตนต้องทำดีต่อคนอื่นก่อน ภาษิตของไทยที่ว่า “จะให้คนไหว้ต้องไหว้คนอื่นก่อน” เป็นต้น
มุสลิมต้องสำนึกอยู่เสมอว่า แม้เราอยู่คนเดียวไม่มีใครเห็น แต่อัลลอฮฺ ย่อมรู้ย่อมเห็นเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำดีหรือไม่ดี ที่ไม่มีมนุษย์เห็น ก็ไม่อาจพ้นไปจากการรู้การเห็นของอัลลอฮฺ เจ้าแน่นอน เมื่อคิดได้อย่างนี้ จะทำการสิ่งใดต้องระวังในการแสดงออกทุกอิริยาบทว่าต้องรอบคอบและตรวจสอบแล้วว่าเป็นเรื่องดี ๆ
การเริ่มจากตัวเองที่ถือเป็นเรื่องดี คือ ต้องทำและรักษาความดีของตัวเรา ให้แก่ตัวเรา และรวมถึงให้แก่คนอื่นด้วย เพราะคนอื่นก็ชอบความดีงามเหมือนกับตัวเราเองที่ชอบความดี นี่แหละจึงเรียกว่าผู้ศรัทธาที่แท้จริง
การสนใจให้ตัวเราเป็นคนดีและทำดีนั้น ต้องรักษาบุคลิกภาพตนเองให้ดีตามแบบที่ศาสนากำหนด ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องบังคับจิตของเราให้อยู่ภายใต้กรอบแห่งความดีให้ได้ เพราะจิตและอารมณ์มักสวนทางกับความดีเสมอ ท่านศาสดา จึงพร่ำสอนให้ประชาชาติอิสลามต่อสู้กับอารมณ์ให้ได้รับชัยชนะ และว่า การต่อสู้เอาชนะอารมณ์นั้น เป็นการทำสงครามใหญ่ นรกกับอารมณ์นั้น เป็นคู่กัน แต่สวรรค์นั้นจะอยู่คู่กับจรรยามารยาท ท่านศาสดา กล่าวว่า
“นรกนั้น ถูกห้อมล้อมด้วยอารมณ์ต่ำ และสวรรค์นั้น ถูกห้อมล้อมด้วยจรรยามารยาท”
(บันทึกหะดีษโดยติรมิซี)
และนี่คือ บางส่วนมารยาทอิสลามสำหรับมุสลิมที่พึงปฏิบัติต่อตนเอง ดังนี้
1. ต้องรักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ด้วยการอาบน้ำทุกวัน และอาบน้ำให้ทั่วร่างกายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยเฉพาะสุนัตให้อาบน้ำวันศุกร์
2. ตัดเล็บมือและเท้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อย่าปล่อยให้เล็บยาวทั้งมือและเท้า เพราะจะเป็นการสะสมสิ่งสกปรกใต้เล็บกลายเป็นเชื้อโรคได้ และที่สำคัญน้ำอาจลงไม่ถึงผิวหนังเมื่ออาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำเปลื้องหะดัสก็ได้ ซึ่งย่อมเป็นผลทำให้น้ำละหมาดหรือการอาบน้ำนั้นใช้ไม่ได้
3. ตัดผมเมื่อมันยาว และหมั่นทำความสะอาดด้วยการสระผมและหวีผมให้เรียบร้อย
4. ควรเริ่มด้วยข้างขวาในทุกอย่างที่เป็นเรื่องดี เช่น อาบน้ำ อาบน้ำละหมาด แสดงความเคารพ จับมือสลาม สวมเสื้อผ้า ใส่รองเท้า ตับเล็บ รับหรือให้สิ่งของ กินและดื่ม เป็นต้น ส่วนงานที่ไม่เป็นมงคล ให้เริ่มด้วยข้างซ้าย เช่น การสั่งน้ำมูก ถอดเสื้อผ้าและรองเท้า การชำระและการจับอวัยวะเพศ เป็นต้น
5. ไม่ควรหันหน้าทางทิศกิบลัต (ที่ตั้งกะอฺบะฮฺ ณ นครมักกะฮฺ) เมื่อจะถ่มน้ำลาย สั่งน้ำมูก แต่ให้หันไปทางซ้าย และถ้าถ่มหรือสั่ง ใส่ที่รองรับหรือผ้าเช็ดหน้าก็จะเป็นการดี เพื่อมิให้เป็นที่รังเกียจของคนอื่น
6. ขณะจามควรหันหน้าออกจากผู้คน หรือจากสำรับอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อมิให้มีอะไรกระเซ็นไปยังบุคคลหรือสำรับอาหาร เครื่องดื่ม ทางที่ดีควรเอาผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษปิดปากตนเอง และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจามเสียงดัง
7. ควรกล่าวหลังจามว่า “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ” เป็นการสรรเสิรญอัลลอฮฺ
8. ให้กล่าวตอบผู้จามและกล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮฺว่า “ยัรฮะมุกัลลอฮฺ” และให้ผู้จามตอบกลับว่า “ยะฮฺดีกุมุ้ลลอฮฺ วะยุเลี๊ยะห์บาละกุ้ม”
9. ขณะหาวควรเอามือปิดปาก และอย่าให้เกิดเสียงดัง จากนั้นให้ขออภัยกับอัลลอฮฺ เพราะการหาวเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งของการเกียจคร้านซึ่งมาจากชัยฏอนมารร้าย
10. ควรเก็บเสียงการเรอ และงดกระทำต้นเหตุแห่งการเรอ คือ ต้องไม่รับประทานอาหารมากเกินไป และควรขออภัยโทษ "กล่าวอัซตัฆฟิรุลลอฮฺ” หลังการเรอ
11. ขณะส่องกระจก ควรรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขอบคุณพระองค์และขอพรว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ อัลลอฮุมมะ กะมาหัสสันตะคอลกี ฟะหัสสินคุลุกี”
12. ใช้โทรศัพท์เท่าที่จำเป็น อย่าใช้อย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น และดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะได้ไม่เป็นการรบกวนแก่ผู้อื่น และควรเริ่มสนทนาทางโทรศัพท์ด้วยการกล่าวสลาม (แก่ผู้สนทนาที่เป็นมุสลิมและพูดธุระให้รวบรัดที่สุด)
13. รักษาระดับปฏิบัติกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ การบริจาค การละหมาดสุนัต การซิกรุลลอฮฺ การอ่านอัลกุรอาน เป็นต้น
14. ละเว้นสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งปวง ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งไร้สาระ และควรสนใจตรวจสอบข้อบกพร่องของตนเองแล้วปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
15. ตักเตือนให้ทำดีและละชั่วแก่บุคคลที่รู้จักและที่พอจะให้การตักเตือนกันได้ ไม่ว่าในเรื่องศาสนาหรือสังคม
16. รับการตักเตือนอย่างถูกต้องของคนอื่นด้วยความเต็มใจ ต้องยอมรับในความจริง ยอมรับในความผิดพลาด และไม่จมปลักอยู่กับความผิดพลาดนั้นต่อไป
17. ฝึกการใช้ชีวิตแบบพอเพียง พอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงจัดสรรให้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ หรือลุ่มหลงอยู่กับโลกแห่งความหลอกลวง อันจะทำให้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รวมทั้งไม่เบียดเบียนธรรมชาติด้วย
18. มีความบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮฺในทุกิจการ และควรรำลึกเสมอว่า เป้าหมายแห่งการอยู่บนโลกนี้ เพื่อการทำดีเป็นเสบียงในวันปรภพ โดยท่องอยู่เสมอว่า “โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ พระองค์คือเป้าหมายสูงสุดของข้าพระองค์ และความพอพระทัยของพระองค์คือสิ่งที่ข้าพระองค์ต้องการ”