มารยาทต่อบิดามารดา
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
อัลลอฮฺ ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงรวมทั้งมนุษย์ด้วยและพระองค์ทรงให้บิดามารดาเป็นเหตุให้กำเนิดบุตร บิดามารดาจึงนับว่าสำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องมีพ่อมีแม่โดยธรรมชาติ หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ ก็ไม่มีเรา”
เมื่อบิดามารดาเป็นบุคคลสำคัญสำหรับผู้เป็นลูก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะกำหนดให้ลูกปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยดี โดยการปฏิบัติดีต่อพ่อแม่นั้น อัลลอฮฺ ทรงนำมาเป็นบัญญัติควบคู่กับการภักดีต่อพระองค์ ซึ่งปรากฏในอัลกุรอานบท อันนิซาอฺ โองการที่ 36 ความว่า
“และพวกเจ้าจงภักดีต่ออัลลอฮฺ ทั้งพวกเจ้าต้องอย่าทำภาคีใด ๆ ต่อพระองค์ และกับบิดามารดานั้นต้องปฏิบัติดีด้วย”
แม้แต่การขอบคุณต่อบิดามารดา อัลลอฮฺก็ยังทรงให้นำมาบรรจุควบคู่กับการขอบคุณพระองค์ ดังทรงบัญญัติในอัลกุรอาน บทลุกมาน โองการที่ 14
“เจ้าจงขอบคุณต่อเรา (อัลลอฮฺ) และต่อบิดามารดาของเจ้าด้วย”
ในทางตรงกันข้ามกับการทำดีต่อบิดามารดา คือ การทรยศต่อบิดามารดา ซึ่งศาสนาถือว่าเป็นโทษหนักหรือบาปใหญ่ จนท่านนบี ได้ตราโทษการทรยศต่อบิดามารดา เทียบชั้นการทำภาคีต่ออัลลอฮฺทีเดียว โดยท่านกล่าวความว่า
“โทษหนักหรือบาปใหญ่นั้น คือ การทำภาคีต่ออัลลอฮฺ การทรยศต่อบิดามารดา และการสาบานเท็จ”
(บันทึกหะดีษโดยบุคอรีและมุสลิม)
โดยข้อเท็จจริงตามหลักฐานทางประวัติของบุคคลสำคัญทางศาสนาที่เป็นคนดีมีศีลธรรม (ศอลิฮีน) นั้น พบว่าพวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนที่กตัญญูต่อบิดามารดาทั้งสิ้น และตามประวัติของทรชนนั้น พบว่าพวกเขาล้วนอกตัญญูต่อบิดามารดา ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ก้าวร้าวต่อพ่อแม่ และทำร้ายจิตใจและร่างกายต่อพ่อแม่ทั้งสิ้น
ดังนั้น การทำดีต่อบิดามารดาจะต้องทำและไม่ทำอย่างไร ศาสนาอิสลามได้กำหนดเป็นมารยาทเพื่อการปฏิบัติเป็นบางส่วนดังต่อไปนี้
1. ต้องสำนึกในเบื้องแรกว่า อัลลอฮฺทรงบัญชาให้ทำดีต่อบิดามารดา ให้ดูแลเอาใจใส่ท่านทั้งสองอย่างดี พระองค์ทรงให้เกียรติต่อการทำดีต่อท่านทั้งสองด้วยการให้ความสำคัญในการทำดีต่อบิดามารดาเป็นลำดับรองลงมาจากการภักดีต่อพระองค์ อีกทั้งพระศาสดามุฮัมมัด ยังกำชับให้บรรดาลูก ๆ เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของท่านทั้งสองอย่างเคร่งครัด และการทรยศต่อท่านทั้งสองนับเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลาม
2. เมื่อจะเข้าพบหรือลาจากบิดามารดา ควรให้สลามและจูบมือท่านทั้งสอง
3. ให้เกียรติ ยกย่องท่านทั้งสองในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิด และยืนให้เกียรติเมื่อท่านทั้งสองเข้ามาหา
4. ในการสนทนาปราศรัยกับท่านทั้งสอง ต้องพูดจาโดยสุภาพและต้องไม่ขึ้นเสียงดังกว่าท่านทั้งสอง
5. ต้องตอบรับการเรียกหาของท่านทั้งสองโดยทันที ต้องรีบดำเนินการธุระที่ท่านทั้งสองใช้ และปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำสั่งเสียที่ชอบด้วยศาสนาให้ลุล่วงโดยเร็ว และต้องไม่ปฏิเสธคำสั่งขอท่านทั้งสอง เพราะนั้นเป็นการทรยศต่อท่านทั้งสองอย่างหนึ่ง
6. สร้างความสุข ความดีใจให้ท่านทั้งสอง ด้วยการทำดี ให้ของขวัญในสิ่งที่ท่านทั้งสอบชอบและพอใจ
7. ต้องรักษาทรัพย์สมบัติของท่านทั้งสองไว้ โดยไม่หยิบฉวยหรือเอาไปนอกจากจะได้รับอนุญาตจากท่านเท่านั้น
8. ต้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี ชื่อเสียงของท่านทั้งสอง โดยไม่ทำการใด ๆ อันจะส่งผลให้ท่านทั้งสองเสียชื่อเสียงหรืออับอายขายหน้า
9. จัดหาสถานที่สงบให้ท่านทั้งสองพักผ่อนอย่างสงบ และต้องไม่รบกวนหรือส่งเสียงดังเมื่อท่านทั้งสองนอนพักผ่อน อีกทั้งต้องไม่เข้ายังห้องนอนของบิดามารดาก่อนได้รับอนุญาต
10. ต้องไม่โต้เถียง ไม่พูดตัดบท ไม่พูดขัดคอ ไม่ตำหนิ ไม่ล้อเลียน และไม่หัวเราะ ดูแคลนท่านทั้งสอง
11. ต้องไม่เริ่มรับประทานอาหารก่อนท่านทั้งสอง และไม่เลือกอาหารดีๆ ไว้แก่ตนเองโดยไม่เผื่อแผ่ท่านทั้งสอง
12. ต้องไม่เดินนำหน้าบิดาหรือมารดา หรือ เข้า-ออก และนั่งก่อนท่านทั้งสอง
13. ต้องไม่นอนหรือนั่งเหยียดเท้าสู่บิดามารดา และต้องไม่นั่งในที่ที่สูงกว่าท่านทั้งสอง
14. ควรปรึกษาหารือ รับข้อเสนอแนะ และเอาประโยชน์จากความคิดเห็นของบิดามารดา และน้อมรับคำสั่งสอนหรือคำตักเตือนของท่านทั้งสองโดยสุจริตใจ
15. ต้องหมั่นขอพรต่ออัลลอฮฺให้บิดามารดา เป็นการสนองคุณที่ท่านทั้งสองให้เราเกิดมา ดูแลเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ด้วยความลำบากและเหน็ดเหนื่อย
16. ต้องหมั่นเยี่ยมเยียนบิดามารดา แม้ท่านทั้งสองเสียชีวิตไปแล้วก็ต้องไปเยี่ยมที่สุสานถือเป็นการรำลึกถึงบุญคุณของท่านทั้งสองไม่เสื่อมคลาย
17. ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของท่านทั้งสอง เชื่อมความสัมพันธ์กับญาติของบิดามารดา และหาทางช่วยเหลือ รับใช้เพื่อหรือคนที่ท่านทั้งสองรักเท่ากำลังความสามารถ
18. ต้องห่างไกลการใด ๆ ที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งการทรยศต่อบิดามารดา เช่น
* แสดงความโกรธหรือเกรี้ยวกราดกับท่านทั้งสอง
* มองท่านทั้งสองด้วยความสมเพศและเบื่อหน่าย
* เบนหน้าหนีท่านทั้งสอง
* พูดหรือกระทำสิ่งที่ไม่สุภาพต่อท่านทั้งสอง
* ตะคอกหรือขึ้นเสียงต่อท่านทั้งสอง
* พูดจาทำนองทำให้ทั้งสองเสียใจหรือเป็นการดูหมิ่น
* แสดงตนหรือท่าทางเทียบเท่าหรือยิ่งใหญ่เหนือท่านทั้งสอง
* มีความอายที่จะเปิดเผยว่ามีบิดามารดายากจนหรือเป็นคนบ้านนอก เมื่อตนเองร่ำรวยหรือมีการศึกษาดี หรือมีตำแหน่งหน้าที่สูงทางสังคม
* ตระหนี่ถี่เหนียวต่อท่านทั้งสอง โดยลืมอดีตที่ท่านทั้งสองเคยอุปถัมภ์ อุ้มชูมา
* ยกย่องและทำดีต่อคนอื่นได้ แต่ไม่ยอมยกย่องและทำดีต่อบิดามารดาของตนเอง
* ทำตนเป็นต้นเหตุให้คนอื่นด่าทอหรือบริภาษบิดามารดา