ขอบเขตของสตรีในอิสลาม กับการเป็นผู้นำ
  จำนวนคนเข้าชม  16062

 

ขอบเขตของสตรีในอิสลาม กับการเป็นผู้นำ

 

แปลและเรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          อิสลามไม่เคยลิดรอนสิทธิของสตรีในการประกอบการต่างๆ แต่สำหรับการดำรงตำแหน่งสำคัญๆนั้น นักวิชาการมุสลิมมีความเห็นที่ต่างกัน บางท่านมีความเห็นว่ามีสิทธิ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามความเหมาะสมกับประสบการณ์ อุปนิสัย และคุณสมบัติของตน ขณะเดียวกันนักวิชาการส่วนมากมีความเห็นว่า สตรีไม่มีสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญๆดังกล่าวจึงแบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ ดังนี้


 

ทัศนะที่หนึ่ง

 

          ความเห็นของอุลามาอฺส่วนมากกล่าวว่า ไม่อนุญาตให้บรรดาสตรีเป็นผู้นำ หรือ ผู้ปกครอง หากนางเหล่านั้นเป็นผู้นำ ผู้พิพากษา การตัดสินของนั้นจะถือว่า โมฆะ เป็นทัศนะของ มาลิกีย์ ชาฟีอีย์ ฮัมบาลีย์ และบางส่วนจากฮานาฟีย์ จากหนังสือ บิดายะตุ้ลมุจตะฮิด, อัลมัจมัวอ์,อัลมุฆนีย์

 

โดยอิงหลักฐานดังต่อไปนี้

 

1. อัลลอฮฺตรัสว่า    ( الرِّجَالُ قَوَّامُونَ عَلَى النِّسَاءِ بِمَا فَضَّلَ اللَّهُ بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ وَبِمَا أَنْفَقُوا مِنْ أَمْوَالِهِمْ )    

 

“บรรดาชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺ ได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน

และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา” 
 

(อันนิสาอ์:34)

 

       อิบนุกะซีร กล่าวว่า จากอายะฮ์ข้างต้นบ่งชี้ชัดว่า บรรดาผู้ชายนั้นคือผู้นำของบรรดาสตรีในทุกๆกิจการงาน ไม่ว่าจะการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง การตัดสินใจ และยังห้ามบรรดาสตรีเป็นผู้นำด้วย ตรงความหมายที่ว่า “ได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน” หมายถึง บรรดาผู้ชายนั้น มีความสามารถทั้งด้านสติปัญญา และความคิด มากกว่าบรรดาสตรีในอีกหลายๆด้าน

 

อิมาม อัลบัควีย์ กล่าวว่า บรรดาผู้ชายนั้นจะต้องดูแลผู้หญิง อบรม เลี้ยงดู สั่งสอน เป็นผู้นำให้แก่สตรี

 

          บรรดาผู้ชายนั้นย่อมประเสริฐกว่าบรรดาสตรี ในด้านของการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง ด้วยสติปัญญาที่แน่วแน่ เด็ดขาด และบรรดานบีทั้งหมดเป็นผู้ชาย และ บรรดากษัตริย์ล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น


2. อัลลอฮฺตรัสว่า   ( وَلِلرِّجَالِ عَلَيْهِنَّ دَرَجَةٌ ) 
 

“และสำหรับบรรดาชายนั้นมีฐานะเหนือพวกนางขั้นหนึ่ง” 
 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ :228)

 

          ฉะนั้น เมื่ออัลลอฮฺให้บรรดาผู้ชายเหนือกว่าบรรดาสตรีขั้นหนึ่ง การที่บรรดาสตรีจะขึ้นเป็นผู้นำ ผู้ปกครองจึงขัดกับหลักคำสอนของอิสลามทั้งในกุรอานและซุนนะฮ์ของท่านนบี ﷺ

 

ท่านอิบนุ อับบาสกล่าวว่า จำเป็นแก่บรรดาสตรีจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของสามี หากว่าสิ่งนั้นไม่ขัดกับหลักสอนของศาสนา


 

3. เมื่อท่านนบี ﷺ ได้ทราบว่าราษฎรของเปอร์เซียได้เลือกพระธิดาของกษัตริย์กิสรอเป็นกษัตรีย์ ท่านกล่าวว่า  

( لَنْ يُفْلِحَ قَوْمٌ وَلَّوْا أَمْرَهُمْ امْرَأَةً )
 

“บรรดาผู้ซึ่งมอบการปกครองแก่สตรี พวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ” 
 

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

 

          จากหลักฐานของบรรดานักวิชาการ ที่ห้ามบรรดาสตรีเป็นผู้นำผู้ตัดสินนั้น บ่งบอกถึงความล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จ ในตัวบทหะดีษได้บอกถึงกิจการทั้งหมดนั้นห้ามผู้หญิงเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

 

       ท่านอิมาม เชากานีย์ ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียง บอกถึงความล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ถึงโทษและความหายนะของการให้สตรีเป็นผู้นำ หรือมาตัดสินฮุกุ่มของอัลลอฮฺอีกด้วย

 

          แต่ขณะเดียวกันก็ควรระลึกถึงคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์อันนัมลฺ ที่กล่าวสรรเสริญราชินีแห่งเมืองสะบะอฺ โดยยกย่องในความเฉลียวฉลาด และปฏิภาณไหวพริบชั้นเลิศของนาง คำชมเชยดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า อิสลามให้เกียรติและเคารพต่อสิทธิสตรีที่เป็นราชินีปกครองในแผ่นดิน
 

อัลลอฮฺตรัสว่า


وَقَرْنَ فِي بُيُوتِكُنَّ وَلا تَبَرَّجْنَ تَبَرُّجَ الْجَاهِلِيَّةِ الأُولَى

 

 “และจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอและอย่าได้โออวดความงาม(ของพวกเธอ) เช่น การอวดความงาม(ของพวกสตรี) แห่งสมัยงมงายในยุคก่อน” 
 

(อัลอะหฺซาบ:33)

พระองค์ได้ทรงกำหนดให้นางเป็นผู้ดูแล ผู้ใช้และผู้ห้ามภายในบ้านสามีของนาง และเป็นผู้นำสำหรับลูกๆของนาง

อิบนุกะซีร กล่าวว่า "นางจำเป็นต้องอยู่ภายในบ้านสามีของนาง ไม่ออกนอกบ้านหากไม่มีความจำเป็นอันใด"

ท่านนบีﷺ ได้กล่าวไว้ว่า...


والمرأة راعية على بيت بعلها وولده، وهي مسئولة عنهم


“สตรีนั้นเป็นผู้ดูแลภายในบ้านของสามีของนาง ลูกๆของนาง และเป็นผู้รับผิดชอบในผู้ที่อยู่ในความดูแลของนาง” 
 

(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

อิมามอัลกุรตุบีย์ กล่าวว่า ไม่อนุญาตสำหรับบรรดาสตรีในการเป็นผู้นำ

อิมามชังกีตีย์ กล่าวว่า เงื่อนไขของการเป็นอิมาม คือผู้ชาย จึงห้ามสตรีเป็นอิมาม โดยไม่มีข้อแย้งใดจากบรรดานักวิชาการ


ฟัตวาของศูนย์ชี้ขาดปัญหาศาสนาอัซฮัร กรุงไคโร

          ท่านนบี ﷺ ไม่ได้บอกเพียงว่า การให้สตรีขึ้นเป็นผู้นำจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังบ่งถึงว่าการเป็นผู้นำนั้น คือแบบฉบับของบรรดานบี หมายถึงเหมาะสมสำหรับผู้ชาย ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศาสนาอนุมัติ สิ่งนั้นย่อมนำพาไปสู่ความดีงามและผลสำเร็จ ส่วนสิ่งใดก็ตามที่ศาสนาบอกห้าม หมายถึงสิ่งนั้นจะนำไปสู่ ความเสื่อมเสีย หายนะ และความล้มเหลว ดังกล่าวนี้จึงเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจน การห้ามสตรีเป็นผู้นำในทุกยุค ทุกสมัย และทุกๆกิจการงานของอิสลาม

ฟัตวาศูนย์ชี้ขาดปัญหาศาสนา ประเทศซาอุดิอารเบีย

          จากคำพูดของท่านนบี ﷺ นั้น ไม่ได้หมายความว่า อิสลามลิดรอนสิทธิสตรีในการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ แต่ชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสม เพื่อปกป้องการเกิดปัญหาต่างๆมากมาย เนื่องจากบรรดาสตรีนั้น อ่อนแอ อ่อนไหวง่าย ความคิด การตัดสินใจที่อาจด้อยกว่า บรรดาผู้ชาย ทั้งนี้จึงไม่เป็นที่อนุญาตให้บรรดาสตรีนั้น เป็นผู้นำในกิจการงานของมุสลิม


4. โดยปกติ บรรดาสตรี ไม่มีสิทธิ์ในการเป็นผู้นำ หรือ ผู้ปกครอง ในกิจการต่างๆ


       5. ในบางประเทศมีการทดลองให้บรรดาสตรีเป็นผู้นำในการตัดสิน ทำการพิพากษา ผลที่ออกมาปรากฏว่า ล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังที่ท่านนบี  กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สภาพของสตรีที่เป็นผู้นำนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศอาหรับมีการทดลองในกระทรวงยุติธรรมเปิดสาขาของสตรีในการมีส่วนร่วมในการตัดสิน ใช้เวลาถึง 5 ปีด้วยกัน ผลที่ออกมา คือไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ทางการจึงยกเลิกศูนย์อบรมสาขาของสตรี เนื่องจากความล้มเหลวที่ได้รับ แต่ส่งเสริมให้บรรดาสตรีนั้น เรียนรู้ฮุกุ่มของศาสนาเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

ทัศนะที่สอง

 ทัศนะของนักปราชญ์อิสลามบางส่วนที่ได้รับการยอมรับ กล่าวว่า อนุญาตให้สตรีดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาได้

 อิมามอบูฮะนีฟะฮ์ อนุญาตให้สตรีดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาเกี่ยวกับคดีที่สตรีสามารถเป็นพยานได้เท่านั้น หรือเป็นพยานพร้อมกับผู้ชาย

       ♦ ท่านอิบนุหะญัร กล่าวว่า “การห้ามสตรีดำรงตำแหน่งการปกครองและพิพากษานั้น เป็นทัศนะคำกล่าวของปราชญ์ส่วนมาก แต่ทว่า ท่านอัฏฏ๊อบบีย์ มีทัศนะว่าอนุญาต และทัศนะนี้ก็มีรายงานจากท่านอิมามมาลิกเช่นกัน และทัศนะของอิมามอบูฮะนีฟะฮ์นั้น คือ สตรีสามารถดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาเกี่ยวกับคดีที่บรรดาสตรีเป็นพยานให้การได้

(จากหนังสือฟัตฮุลบารีย์)



สรุป

อิสลาม ห้ามกับการเป็นผู้นำสำหรับบรรดาสตรี ด้วยหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ และคำพูดของอุลามาอฺ วัลลอฮุอะลัม

        โอ้อัลลอฮฺ ขอต่อพระองค์ให้ เรานั้นรอดพ้นจากความวุ่นวายในสังคมปัจจุบัน ยืนหยัดบนกิตาบุลลอฮฺ และ ซุนนะฮฺ ตลอดจนแบบฉบับชาวสลัฟซอลิฮฺ อามีน

 


وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم.

 

 

ตรวจทาน โดย ดะลีลา ไวยศิลป์
 

บางส่วนจากหนังสือ    مرجع كتاب ولاية المرأة في الفقه الإٍسلامي" ( ص 217-250 ) رسالة ماجستير للباحث حافظ محمد أنور