มารยาทการพูด
  จำนวนคนเข้าชม  56519

 

มารยาทการพูด

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

         อัลลอฮฺ ทรงสร้างมนุษย์มาในรูปลักษณ์ที่สวยงาม และให้มีอวัยวะที่สามารถสัมผัสเพื่อการรับรู้สิ่งรอบตัวได้ เช่น ให้มีหู เพื่อการได้ยิน ให้มีตามเพื่อการมองเห็น ให้มีลิ้นเพื่อการเจรจาสื่อสารได้ และที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ ให้มีปัญญาสามารถคิดค้น และสั่งการทุกส่วนของร่างกายได้

 

อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอาน บทอัลมุลกฺ โองการที่ 23 ความว่า
 

“จงประกาศเถิดว่า พระองค์ (อัลลอฮฺ) ทรงให้พวกเจ้าบังเกิดมา แล้วทรงประทาน หู ตา และจิตใจ แก่พวกเจ้า (เพื่อได้ตริตรอง)

มีน้อยเหลือเกินที่พวกเจ้าจะกตัญญู” 
 

(67/23)

 

และทรงตรัสในบทอัลละลั๊ด โองการที่ 8-9 อีกความว่า
 

“เรามิได้สร้างสองดวงตาไว้แก่เขาดอกหรือ รวมทั้งลิ้นและสองริมฝีปากด้วย” 
 

(90/8-9)

 

          อัลลอฮฺ ให้มีการควบคุมการใช้งานของอวัยวะต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่พระองค์กำหนดหรือไม่ โดยเฉพาะปากหรือลิ้นที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะลิ้นนี้เองอาจนำร่างกายสู่สวรรค์หรือนรกได้
 

อัลลอฮฺ ตรัสให้มีการควบคุมคำพูดไว้ในอัลกุรอานบท ก๊อฟ โองการที่ 18 ความว่า
 

“ไม่ว่าถ้อยคำใดที่มนุษย์ได้พูดไปล้วนมีผู้บันทึกประจำเสมอ

ทางเบื้องขวามีทั้งร่อกี๊บ เป็นผู้บันทึกความดี และทางเบื้องซ้ายมีอะตี๊ด เป็นผู้บันทึกความชั่ว” 
 

(50/18)

 

การใช้คำพูด ย่อมมีความสำคัญมาก ๆ จนท่านศาสดา นำไปผูกพันกันเรื่องของการศรัทธา โดยท่านกล่าวความว่า
 

“ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรภพ (อาคิเราะฮฺ) จงพูดแต่สิ่งที่ดี หรือไม่ก็จงนิ่งเสีย”

(บันทึกหะดีษโดย บุคอรีและมุสลิม)

เพื่อให้การพูดจาได้อยู่ในกรอบที่อัลลอฮฺกำหนดไว้ จึงควรมีมารยาทในการใช้คำพูด ดังนี้

       1. เลือกสรรคำพูดที่ดีในการสนทนาเหมือนกับเลือกอาหารที่ดีในการรับประทานอาหาร และการตอบโต้ก็ต้องโต้ตอบด้วยเหตุผลและด้วยสุขุมรอบคอบ

2. พูดจาอย่างชัดถ้อยชัดคำ อย่าพูดเร็วจนฟังไม่เข้าใจในเนื้อความและเจตนา

3. พูดกับบุคคลตามพื้นฐานด้านความรู้ของผู้ฟัง โดยเลือกใช้ข้อความที่เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟัง

       4. ควรพูดให้น้อยแต่ฟังให้มาก ๆ นอกจากจำเป็นต้องตอบคำถาม หรือการตักเตือน หรือการใช้ให้ทำความดีและห้ามทำความชั่ว และหรือเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ

5. ห้ามมิให้แสดงความคิดเห็นหรือพูดจาในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ หรือไม่แน่ใจในความถูกต้องในข้อมูล เพราะเพียงการคาดคะเน อาจนำสู่การโกหกได้

6. ห้ามพูดในสิ่งไร้สาระหรือก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้รับฟัง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนา

7. ควรคิดก่อนพูด อย่าพูดก่อนคิด เพราะคำพูด เมื่อพูดไปแล้ว มิอาจเรียกกลับคืนได้ และจะต้องรับผิดชอบในคำพูดนั้น ๆ

8. ควรนิ่งฟังผู้ที่อาวุโสกว่า ผู้ที่มีเกียรติกว่า และผู้ที่มีความรู้ในประเด็นนั้น ๆ มากกว่า

9. ไม่ควรพูดแซงในขณะที่คนหนึ่งยังพูดไม่จบ เพราะในสถานที่ผู้เจริญแล้วนั้นจะไม่มีการพูดพร้อมกันสองคน

10. ต้องไม่พูดสวนหรือขัดคอ หรือตำหนิ และหรือล้อเลียนคำพูดของผู้อื่น

11. ควรพูดเสียงเบา ๆ ไม่ควรขึ้นเสียงเกินความจำเป็น

12. พร้อมกับการพูดควรมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และไม่แสดงกิริยาโอหังหรืออวดโต

13. ต้องไม่ใช้คำพูดเพื่อเชือดเฉือนหรือเป็นการทำร้ายคนอื่นทั้งทางใจและศักดิ์ศรี

14. ต้องไม่พล่อยในเรื่องการสาบาน นอกจากวาระจำเป็นเท่านั้น

15. ต้องไม่สาบานกับสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น เช่น สาบานกับศาสดา กับบัยตุลลอฮฺ กับ มลาอิกะฮฺ และกับสิ่งต่าง ๆ

16. ควรมีการกล่าวขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) อยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อพูดสิ่งต้องห้ามหรือเกิดความผิดพลาดในคำพูด

17. ต้องรักษาลิ้นด้วยการไม่พูดสิ่งต่อไปนี้

* พูดโกหดมดเท็จ เพราะถือเป็นโทษใหญ่

* พูดนินทาให้ร้ายป้ายสี ทำให้คนอื่นเกิดความเสียหายหรืออับอาย

* พูดยุแหย่ให้คนอื่นทะเลาะกัน

* พูดโต้เถียงในสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือพูดเรื่องทำนอง “เขาเล่าว่าข้าเล่าต่อ”

* พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นหรือพูดในทำนองยกตนข่มท่าน

* พูดหยาบคาย ด่าประจาน หรือจาบจ้วงคนอื่น

* พูดล้อเลียนคนอื่นโดยเฉพาะกับบุคคลที่ด้อยโอกาสทางสังคม

* พูดหยอกล้อเกินความพอดี หัวเราะทำนองเยาะเย้ยทำให้คนอื่นอับอาย

* พูดจาชมและยกย่องคนอื่นเกินเหตุ ทำให้ดูเหมือนขาดความจริงใจ