มารยาทการดื่ม
โดย : ประสาน (ซารีฟ) ศรีเจริญ
เครื่องดื่มก็เป็นปัจจัยยังชีพเช่นเดียวกับอาหาร และถือว่าสำคัญยิ่งกว่า เพราะมนุษย์นั้นอาจอดทนต่อความหิวอาหารได้ แต่ไม่อาจอดทนต่อความกระหายน้ำได้ อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอาน บทอัลอัมบิยาอฺ โองการที่ 30 ความว่า
“และเราได้บันดาลทุก ๆ สิ่งที่มีชีวิต มาจากน้ำ แล้วพวกเขาไม่ศรัทธากระนั้นหรือ ? ”
และอัลลอฮ์ ตรัสในอัลกุรอานในหลายโองการที่ว่าด้วยความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อบ่าวในการประทานน้ำฝนมาจากเบื้องฟ้า เช่น ในบทอัลวากิอะฮฺ โองการที่ 68-69 ความว่า
“แล้วพวกเจ้าสังเกตเห็นน้ำซึ่งพวกเจ้าดื่มไหม”
ผู้ศรัทธาที่ดื่มและรับประทานอาหารที่อัลลอฮฺ ประทานมานั้น นอกจากจะต้องขอบคุณต่อพระเมตตาของพระองค์แล้ว ควรจะรักษามารยาทการดื่มด้วย
มารยาทอิสลามบางส่วนในการดื่ม
1. ก่อนเริ่มดื่มให้กล่าวพระนามอัลลอฮฺด้วยการกล่าวว่า “บิสมิลลาฮิรเราะฮฺมานิรรอฮีม” และเมื่อดื่มเสร็จให้กล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” เป็นการขอบคุณอัลลอฮฺ
2. ควรดื่มขณะนั่ง ถือเป็นการรักษามารยาทและเป็นการถูกต้องตามหลักอนามัย
3. จับภาชนะและดื่มด้วยมือข้างขวา
4. ดื่มด้วยการจิบ (ค่อย ๆ ดื่ม) อย่าดื่มโดยรีบร้อนและด้วยการกรอกเข้าปาก
5. ดื่มสามครั้ง แต่ละครั้งให้เริ่มด้วยการกล่าว “บิสมิลลาฮฺฯ” ไม่ควรดื่มรวดเดียว และสุดท้ายด้วยการกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” เป็นการขอบคุณอัลลอฮฺ
6. ไม่ควรหายใจรดน้ำขณะดื่ม เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโรคลงในน้ำได้
7. ไม่ควรดื่มจากกา หรือภาชนะใหญ่ ๆ แต่ให้เทใส่แก้วแล้วดื่มจากแก้วนั้น
8. ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินความพอดี โดยเฉพาะขณะรับประทานอาหาร ทางที่ดีควรดื่มก่อนรับประทานอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และหลังเสร็จรับประทานอาหารประมาณหนึ่งชั่วโมง
9. ห้ามดื่มน้ำในภาชนะที่ทำจากเงินหรือทอง เพราะเป็นข้อห้ามทางศาสนาอิสลาม
10. ผู้บริการน้ำดื่มควรจับถาดด้วยมือซ้าย และส่งแก้วน้ำให้แขกด้วยมือขวา การเสริฟให้เสริฟแก่ผู้อาวุโสเป็นอันดับแรก ต่อมาก็ให้เสริฟคนที่อยู่ด้านขวาก่อน
11. ส่วนผู้บริการให้ดื่มได้เป็นหลังสุด