มารยาทละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  14306

 

มารยาทละหมาด

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

          การละหมาด เป็นศาสนกิจประจำวันของชาวมุสลิม เพื่อเข้าเฝ้าอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าห้าครั้งต่อวัน และการละหมาดนี้ถือเป็นหลักสำคัญของศาสนา ดังนั้น ผู้ใดดำรงการละหมาดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถูกต้อง และรักษามารยาทการละหมาดอย่างเคร่งครัด เท่ากับเขาได้รักษาศาสนาอิสลามไว้ ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใดละทิ้งการละหมาดหรือละหมาดไม่ถูกต้อง หรือไม่รักษามารยาทการละหมาด เท่ากับว่าเขาได้ทำลายศาสนาแล้ว

การละหมาด เป็นศาสนกิจแรกที่จะต้องมีการสอบสวนในวันแห่งการตัดสินความ (กิยามะฮฺ) ท่านนบี  กล่าวความว่า

 

“กิจการแรกที่มนุษย์ต้องถูกสอบสวนในวันปรภพ คือ การละหมาด

หากละหมาดสมบูรณ์ดี กิจการอื่นๆ ของเขาก็สมบูรณ์ดีด้วย

และหากละหมาดไม่ดีมีความเสียหาย กิจการอื่น ๆ ก็ไม่ดีและเสียหายด้วย”    
 

(บันทึกโดยฏอบรอนีย์)
 

          การละหมาดเป็นเส้นแบ่งแยกแยะระหว่างการศรัทธากับไร้ศรัทธา ท่านนบี  กล่าวในบันทึกของมุสลิมและอะหมัด ความว่า
 

“เส้นแบ่งระหว่างคนหนึ่งกับความไร้ศรัทธา คือ การละทิ้งละหมาด”

          การละหมาด เป็นอะมานะฮฺ (ภาระหน้าที่) อันยิ่งใหญ่ และมีผลทำให้ผู้ปฏิบัติห่างไกลจากการชั่วทั้งปวงได้ แต่ทั้งนี้ต้องรักษาระเบียบวินัยและมารยาทของการละหมาดให้เคร่งครัดและครบถ้วนด้วย และนี่คือ มารยาทบางส่วนของการละหมาดที่มุสลิมควรปฏิบัติ

 

     1. มุ่งสู่การละหมาดอย่างตั้งใจ กระตือรือร้น และด้วยความรักอย่างแท้จริง เพื่อเข้าเฝ้าอัลลอฮฺพระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลจักรวาล

 

     2. ก่อนเข้าพิธีละหมาด สำรวจความเรียบร้อยในการแต่งกาย โดยต้องแต่งกายให้เรียบร้อยเหมาะสม ถูกต้อง สะอาด และสวยงาม รวมทั้งควรแปรงฟัน และใส่ของหอมด้วย

 

     3. ปฏิบัติภารกิจจำเป็นให้แล้วเสร็จก่อนทำการละหมาด เพื่อขณะละหมาดจะได้ไม่มีใจพะวงกับสิ่งต่าง ๆ นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น

     4. ขณะเดินสู่การละหมาดอย่ารีบร้อน ลนลาน แต่ต้องเดินไปสำรวมและด้วยการสงบ

     5. เข้าสู่การละหมาดด้วยหัวใจมุ่งตรงยังอัลลอฮฺ ทุกส่วนของร่างกายต้องสงบเสงี่ยม และจิตต้องมีสมาธิ โดยทุกส่วนต้องสำรวมในการเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ

     6. ขณะดำรงละหมาด อย่าหันซ้ายแลขวา หัวร่อต่อกระซิก และใช้มือชี้นั่นชี้นี่หรือขยับเสื้อผ้า

     7. อย่ามองขึ้นฟ้า แต่ให้มอง ณ ที่สุญูด

     8. ต้องสนใจ และใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ได้กล่าวและอ่านในละหมาด อย่าลืมเลือนเสมือนใจไม่อยู่กับการละหมาด

     9. ต้องมีความนิ่ง สุขุม ไม่รีบร้อนและเร่งด่วนตลอดการเคลื่อนไหวอิริยาบถในทุกขั้นตอนของการละหมาด

     10. ไม่ควรไอ หาว จาม เรอ ขณะดำรงละหมาด หากไม่อาจอดกลั้นได้ ก็ต้องพยายามทำเสียงให้เบาที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

     11. รีบปฏิบัติละหมาดเมื่อเข้าเวลาอย่าล่าช้าโดยไม่มีเหตุจำเป็น

     12. เมื่อแล้วเสร็จจากการละหมาด ให้นั่งอยู่ที่เดิมเพื่อกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขอรับการอภัยโทษและขอพรต่อพระองค์ (อ่านวิริดหลังการละหมาด) อย่างน้อย ดังนี้

อัสตั๊ฆฟิรุ้ลลอฮัลอะซีม อัลละซีลาอิลาฮะ อิลลั้ลลอฮุวั้ลฮัยยุ้ลกอยยูม วะอะตูบุ อิลัยฮิ  (3 ครั้ง)

อัลลอฮุมมะ อันตัสสลาม วะมิงกัสสลาม ตะบาร๊อกตะ ยาซั้ลยะลาลิ วั้ลอิกรอม

ซุบฮานัลลอฮฺ (กล่าว 33 ครั้ง)

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ (กล่าว 33 ครั้ง)

อัลลอฮุอักบัร (กล่าว 33 ครั้ง)

ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮุ วะหฺดะฮู ลาซะรีกะละฮฺ ละฮุลมุลกฺ วะละฮุลฮัมดฺ วะฮุวะ อะลากุลลิซัยอิงกอดี๊ร

          อ่านดุอาอฺตามต้องการ โดยเริ่มด้วยสรรเสริญอัลลอฮฺว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” และศอละวาตนบีว่า “อัลลอฮุมมะศอลลิอะลามุฮัมมัด” ดุอาอฺที่ควรอ่านอย่างยิ่ง คือ “อัลลอฮุมะ อะอินนี อะลาซิกริกะ วะซุ๊กริกะ วะฮุสนิอิบาดะติ๊ก”

     13. หลังละหมาดควรรอเพื่อละหมาดในเวลาต่อไป เช่น หลังละหมาดมัฆริบแล้วรอละหมาดอิซาอฺ ในช่วงที่รอนั้นควรซิกรุลลอฮฺ หรืออ่านอัลกุรอาน หรือรับฟังการอบรม เป็นต้น

     14. ควรละหมาดสุนัตขนาบฟัรดู (รอวาติบ) ไม่ควรละเลยเป็นอันขาด เพราะจะเพิ่มกุศลให้แก่ผู้ปฏิบัติ และยังอาจเสริมส่วนฟัรดูที่บกพร่องได้ด้วย

     15. ควรอย่างยิ่งที่จะละหมาดฟัรดูรวมกันที่มัสยิดใกล้บ้าน เพราะการละหมาดรวมกันนั้นจะได้กุศลเป็นทวีคูณมากกว่าละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า

     16. ผลแห่งการละหมาดต้องทำให้ผู้ปฏิบัติระลึกถึงอัลลอฮฺ อย่างถาวร และทำให้พ้นจากการทำบาปอีกด้วย