การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  จำนวนคนเข้าชม  7733

การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

อาจารย์ วินัย สะมาอูน

 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่รักทั้งหลาย  จงยำเกรงอัลลอฮฺ  และหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของเราเถิด

 

           พวกเราทุกคนได้อาศัยอยู่ในท้องถิ่นของเรามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเป็นเวลาช้านานมาแล้ว สิ่งต่างๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในสังคมของเราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นอันมีค่าที่สุด บรรพบุรุษของเราได้หมั่นสร้างสรรค์ เฝ้าทะนุถนอม ดูแลรักษากันมาด้วยความขยันหมั่นเพียรและเหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิตของพวกท่าน โดยท่านมิได้ย่อท้อหรือแสดงความอ่อนแอหรือความเฉยเมยละเลยต่อภารกิจดังกล่าวเลย ท้องถิ่นของเราจึงเขียวชอุ่มด้วยต้นไม้ใบหญ้าหลากหลายชนิด แม้ในฤดูแล้งก็ยังคงรักษาความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ได้ บรรพบุรุษของเราก็ไม่เคยแสดงความเหน็ดเหนื่อยหรือเกียจคร้าน จนเราต้องกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ 

 

         ตรงกันข้ามกับพวกเราในปัจจุบันซึ่งต่างได้รับและเสพความสมบูรณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่พวกท่านได้สร้างไว้ให้แก่พวกเราอย่างไม่มีข้อบกพร่องเลย และบางท้องถิ่นมีแหล่งน้ำใช้ภายในที่ไม่ต้องเหนื่อยยากต่อการต้องขนย้ายน้ำมาจากแหล่งน้ำไกลๆ

 

          แผ่นดินที่เราได้อาศัยอยู่นี้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กน้อยที่เราครอบครองโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของเราและของเอกชนทั่วไป หรือเป็นพื้นที่สาธารณะสุดกว้างไกลในทวีปต่างๆ รวมทั้งแผ่นดินที่มีมหาสมุทร ภูเขาและเทือกเขาห้อมล้อมอยู่โดยรอบ ลักษณะแตกต่างดังกล่าวของบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ อากาศ หรือพืชชนิดต่างๆ รวมทั้งมนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สุดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ย่อมอยู่ในความหมายแห่งแผ่นดินที่อัลลอฮฺ ทรงบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน ซึ่งผู้ศรัทธาเองก็มีความเชื่อมั่นว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น หาใช่เกิดขึ้นมาเองด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ดังที่นักวิทยาศาสตร์บางคนได้แสดงความคิดเห็นไว้ ความสลับซับซ้อนแห่งองค์ประกอบของสรรพสิ่งต่างๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึง พลานุภาพและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติไว้ใน อัลกุรอานหลายต่อหลายอายะฮฺ เช่น

 

“อัลลอฮฺ (พระเจ้า) ได้สร้างแผ่นดินให้มีพื้นที่ราบสำหรับพวกเจ้า และสร้างผืนฟ้าให้เป็นหลังคาสำหรับพวกเจ้า

และให้น้ำฝนตกลงมาจากฟ้า แล้วทำให้มีผลผลิตพืชพันุ์ธัญญาหารงอกเงยออกมาเพื่อเป็นปัจจัยชีพของพวกเจ้า”

(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 22)

          เนื้อหาจากอัลกุรอานอายะฮฺนี้เพียงอายะฮฺเดียวก็สามารถทำให้เราเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งในความประณีตแห่งการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายของอัลลอฮฺ สรรพสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของเราสามารถวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุมีผล และสรรพสิ่งเหล่านั้นต่างมีความสัมพันธ์กัน จนก่อให้เกิดคุณค่ามหาศาล โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนเข้ามาช่วยแต่ประการใด

         อัลกุรอานอายะฮฺนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ มีแผ่นดิน มีท้องฟ้า มีน้ำฝนตกลงมาจากฟากฟ้า ที่จะมาสร้างความชุ่มฉ่ำให้กับพื้นดิน แล้วจึงมีพืชงอกเงยออกมาหลากหลายชนิดทั่วแผ่นดิน มีผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ ข้าว เพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ได้บริโภค และสร้างความเจริญเติบโตแก่ร่างกาย ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่มีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี ยกเว้นว่าเราจะบริโภคกันอย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ และไม่ตรวจสอบคุณภาพของสิ่งที่ตนรับประทาน เรียกว่า"กินกันไม่เลือก"

          อัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะความอยู่รอดของมนุษย์เท่านั้น แต่ปัจจัยแห่งการยังชีพเหล่านี้ยังมีความจำเป็นของการอยู่รอดของสรรพสิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืช หรือสรรพสิ่งต่างๆ แม้แต่นกที่บินอยู่ในอากาศก็ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ทั้งหมด

           พื้นแผ่นดินจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร และน้ำซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหาร ในลำน้ำไม่ว่าจะเป็นลำคลองจนถึงมหาสมุทรก็มีปลาแหวกว่ายอาศัยอยู่ ซึ่งปลาเหล่านี้ก็สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีแพลงก์ตอนมหาศาลที่อยู่ในน้ำ ต้นข้าวจะยืนอยู่บนลำต้นของมันได้ก็มิใช่อาศัยพื้นดินเท่านั้น แต่ต้องอาศัยน้ำด้วย มิฉะนั้น มันก็จะแห้งแล้งเฉาตายไม่สามารถงอกเงยออกมาเป็นอาหารให้มนุษย์ได้ แม้แต่พืชที่ออกผลให้มนุษย์ได้รับประทาน ถึงลำต้นจะยืนอยู่บนพื้นดินมิใช่ในท้องนา แต่ถ้าขาดน้ำพืชมันก็ตายเช่นเดียวกัน

          อัลกุรอานได้เตือนให้มนุษย์ได้พิจารณาถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของแผ่นดิน น้ำ และฟ้า เพื่อมนุษย์จะได้มีสติตรึกตรอง ใคร่ครวญ ถึงประโยชน์ของมัน ที่มีต่อมนุษย์เอง เพื่อเราจะได้พยายามรักษาปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ ดิน น้ำ และฟ้า(อากาศ) นี้ให้มีสภาพที่ดีตลอดไป เพื่อความอยู่รอด เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความสุขของมนุษย์เอง

          การดูแลรักษาคุณภาพของดิน น้ำ ฟ้า(อากาศ) มีความจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์เอง หากมนุษย์ปล่อยให้ศัตรูมารุกรานหรือบ่อนทำลาย อย่างเช่น ก่อมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางดิน มลพิษทางน้ำ หรือมลพิษทางอากาศ (ท้องฟ้า บรรยากาศ) ดังที่อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวเตือนไว้ในอัลกุรอาน

“พวกท่านจงอย่าก่อความเสียหายในแผ่นดิน”

(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 11)

          เราทุกคนจะต้องเรียนรู้จากผู้รู้ในด้านการบำรุงรักษาดิน น้ำ และอากาศให้มีสภาพดังเดิมตามที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงสร้างมา อย่าทำลายสภาพที่ดีเหล่านั้นด้วยการสร้างหรือก่อมลพิษต่างๆ เพราะอัลลอฮฺ  ได้ทรงสร้างให้เราแล้วอย่างสมบูรณ์ และหลังจากที่เราได้ทราบถึงประโยชน์มหาศาลของมันแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าเราเองไม่มีอำนาจและความสามารถที่จะสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะผู้ทรงอำนาจในการสร้างมีเพียงอัลลอฮฺ  เพียงองค์เดียวเท่านั้น

          หน้าที่ของเรามีแค่พยายามใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างทะนุถนอม ใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างประหยัด และต้องดูแลบำรุงรักษามันอย่างดี ตลอดชั่วอายุขัยของเรา เราจะต้องพากเพียรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าละเลยต่อหน้าที่อันสำคัญนี้เป็นอันขาด มิฉะนั้นความเสียหายและความหายนะจะเกิดขึ้นแก่เรา และแก่โลกของเราโดยส่วนรวม



 

ที่มา : เอกสารเผยแพร่ คุตบะฮฺ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม