มัสยิดกับการพัฒนาชุมชน
  จำนวนคนเข้าชม  31608

 

 

 


บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข*

บทนำ

         มัสยิดเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่งในอิสลาม เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์และพัฒนามุสลิมให้เป็นมุอ์มินที่สมบูรณ์ มัสยิดตั่งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนมุสลิม และเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง และความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างดี การให้ความสำคัญกับมัสยิดในฐานะองค์กรพัฒนาชุมชน นับเป็นประเด็นร่วมสมัย และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง บทความนี้จึงขอมีส่วนร่วมในการให้ความกระจ่างต่อประเด็นดังกล่าว เพียงหวังว่า ชุมชนมุสลิมในปัจจุบันจะได้หันมาให้ความสำคัญกับองค์กรมัสยิดไม่ใช่ในฐานะแค่เพียงเป็นสถานที่ละหมาดเท่านั้น แต่ในฐานะขององค์กรที่จะต้องมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆตามศาสนบัญญัติอีกด้วย

 

นิยามมัสยิดในอิสลาม

 

ก. นิยามตามหลักภาษา

         คำว่ามัสยิด  مَسْجِد     เป็นภาษาอาหรับ มาจากคำว่า    سُجُود   ที่แปลว่าการก้มกราบ คำว่ามัสยิดเป็น      اسْم مَكاَن    ชื่อสถานที่ แปลว่าสถานที่ก้มกราบ หรือสถานที่สุญูด   ตามหลักภาษาอาหรับ อนุญาตให้อ่าน สระฟัตฮะฮ์ที่อักษรญีมได้ คืออ่านว่า   مَسْجَد     มัสยัด    แต่ไม่ค่อยได้ยินการอ่านในลักษณะดังกล่าว   คำพหูพจน์ของคำนี้คือ  مَساَجِد      มะซายิด  ( ดูพจนานุกรม مُخْتاَرُ الصِّحاَح    )

 

ข.นิยามตามหลักศาสนา

     มัสยิดตามหลักศาสนามี 2 ความหมาย 

1.) ความหมายทั่วไป คือสถานที่สำหรับก้มกราบอัลลอฮ์

           มัสยิดในความหมายนี้ครอบคลุมทุกสถานที่ที่ศาสนาอนุญาตให้ทำการก้มกราบอัลลอฮ์ ดังปรากฏในฮาดีษที่ว่า

" ... وَجُعِلَتْ لِي الأَرْضُ مَسْجِداً وَ طَهُوْراً، فَأَيُّماَ رَجُلٍ مِنْ أُمَّتِيْ أَدْرَكَتْهُ الصَّلاَةُ فَلْيُصَلِّ "

          "และ(อัลลอฮ์) ได้ให้แผ่นดินเป็นมัสยิดและเป็นที่สะอาดแก่ฉัน(มุฮัมมัด) ดังนั้นใครก็ตาม จากอุมมะฮฺของฉันทันละหมาด(ณ ที่ใด) ก็ให้เขาละหมาด(ณ ที่นั้น)"

(รายงานโดยบุคคอรีย์ หมายเลข  438)

          จากฮะดีษบทนี้ชี้ว่าทุกสถานที่สามารถเป็นมัสยิดได้ หมายถึงใช้สำหรับเป็นที่ละหมาดได้ ยกเว้นบางสถานที่ที่ระบุไว้ในบางฮะดีษ เช่นฮะดีษที่กล่าวว่า:

" الأَرْضُ كُلُّهاَ مَسْجِدٌ إلاّ الْمَقْبَرَة وَالْحَماَّم "

 "แผ่นดินทั้งหมดนั้นเป็นมัสยิด ยกเว้นสถานที่ฝังศพ (กุโบร) และห้องน้ำ"

(รายงานโดยอะบูดาวูด หมายเลข 492 และอัตติรมีซีย์ หมายเลข317)

2 .)  ความหมายเฉพาะ คือ สถานที่ที่จัดใว้สำหรับการละหมาด และกิจกรรมอื่นๆ

        มัสยิดในความหมายนี้จำกัดเฉพาะสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการละหมาดและการประกอบศาสนกิจอื่นๆ ด้วย เรียกมัสยิดในความหมายนี้ว่าเป็นบ้านของอัลลอฮ์ก็ได้


ค. นิยามตามหลักกฎหมาย

          มัสยิดตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา4 มีดังนี้:   มัสยิด หมายความว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม

   มัสยิดตามความหมายนี้มีสาระสำคัญอยู่2 ประการ คือ

1.) เป็นสถานที่ที่มีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ ซึ่งหมายความว่าเป็นมัสยิดที่อยู่ในชุมชน มีสัปปุรุษจำนวนมากพอสมควรสังกัด

2.) เป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายความว่าเป็นมัสยิดที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามให้กับปวงสัปปุรุษ

  มัสยิดในความหมายดังกล่าวคือมัสยิดในสังคมมุสลิมไทยที่ผู้เขียนหมายถึงในบทความนี้ เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะหลายประการเช่น:

1.)   เป็นองค์กรสาธารณะ

2.)   มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา13)

3.)   มีคณะกรรมการประจำมัสยิด ได้รับการคัดเลือกจากปวงสัปปุรุษประจำมัสยิด (มาตรา30วรรค2)

4.) มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน 12 ข้อ (มาตรา35)

          สำหรับมัสยิดในความหมายที่กว้างออกไปเช่น ศาลาละหมาด  บาไลเซาะฮฺ  หรือมุศ่อลลา หรือศูนย์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป อาจจะมีข้อจำกัดบางประการในแง่ของกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถแสดงบทบาทของมัสยิดได้อย่างเด่นชัด

 

มัสยิดในอัลกุรอาน

          คำว่ามัสยิด         مَسْجِد     มีปรากฏในอัลกุรอานทั้งหมด 28  ครั้ง ปรากฏในรูปเอกพจน์   22 ครั้ง  และในรูปพหูพจน์    6   ครั้ง  ในจำนวนนี้มีคำว่า อัลมัสยิดอัลฮะรอม  (الْمَسْجِد الْحَراَم)   15 ครั้ง  และมีคำว่า อัลมัสยิดอัลอักซอ المَسْجِد الأَقْصَى)   1 ) ครั้ง  นอกนั้นเป็นการระบุถึงมัสยิดโดยทั่วไป ซึ่งบางครั้งหมายถึงมัสยิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น  มัสยิดกุบาอ์(مَسْجِد قُباَء)ในอายะฮ์ที่ 108 ของซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ       (لَمَسْجِدُ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى)    และมัสยิดฎิรอร์(مَسْجِد ضِراَر)ของพวกมุนาฟิกีน ในอายะฮฺที่ 107 ของซูเราะฮฺเดียวกัน(وَالَّذِيْنَ اتَّخَذُوْا مَسْجِداً ضِراَراً)

         สำหรับสาระสำคัญที่อัลกุรอานได้นำเสนอเกี่ยวกับมัสยิดนั้นพอสรุปได้เป็น 3 หัวข้อหลัก คือ:

1.) หลักการและเหตุผล

          อัลกุรอานได้เสนอว่ามัสยิดนั้นจะต้องสถาปนาบนรากฐานของการตักวาเท่านั้น ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า:

{لَّمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ أَحَقُّ أَن تَقُومَ فِيهِ فِيهِ  }

“ แน่นอนมัสยิดที่ถูกก่อสร้างขึ้นบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้า (มุฮัมมัด) จะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น” 

(อัตเตาบะฮฺ 108)

     ดังนั้นการก่อสร้างมัสยิดบนรากฐานอื่นจากการตักวา จึงถือว่าผิดหลักการและเหตุผล


2.)   วัตถุประสงค์

       อัลกุรอานได้นำเสนอว่าจุดประสงค์ของมัสยิดนั้นคือการให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ในการเคารพภักดี และปฏิเสธการตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์ ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า:

{ وَأَنَّ الْمَسَاجِدَ لِلَّهِ فَلَا تَدْعُوا مَعَ اللَّهِ أَحَدًا }

“และแท้จริงบรรดามัสยิดนั้นเป็นของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าอย่าวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่อัลลอฮ์” 

(อิลญิน  18)

คำว่า: เป็นของอัลลอฮ์ หมายถึง การให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ (เตาฮีต) และคำว่า อย่าวิงวอน หมายถึง การปฏิเสธการตั้งภาคี (ชิรก์)


         
3.)    การดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ 

     อัลกุรอานได้นำเสนอว่าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และการพัฒนา      عِماَرَة     ทั้งด้านกายภาพ และจิตภาพ ซึ่งอัลกุรอานได้ระบุคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวไว้ในพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า:

 } إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ مَنْ آمَنَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاَةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلاَّ اللّهَ فَعَسَى أُوْلَئِكَ أَن يَكُونُواْ مِنَ الْمُهْتَدِينَ {

“แท้จริงผู้ที่จะพัฒนาบรรดามัสยิดของอัลลอฮนั้นคือ:

1.) ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮฺ

2.) และได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

3.) และได้ชำระซะกาต

4.) และเขาไม่ยำเกรงผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น

ดังนั้นจึงหวังได้ว่าชนเหล่านี้จะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ

(อัตเตาบะฮฺ 18)


มัสยิดในประวัติศาสตร์อิสลาม

          หากย้อนไปดูมัสยิดในประวัติศาสตร์ของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของท่านร่อซูลุลลอฮ์ และบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็จะพบว่า มัสยิดในสมัยดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทเฉพาะ เป็นเพียงสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น แต่มัสยิดยังถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมและปรึกษาหารือในกิจการต่างๆ สถานที่ตัดสินคดีความ สถานที่พักคนเดินทาง สถานพยาบาลผู้บาดเจ็บจากสงคราม สถานที่ประกอบพิธีสมรส สถานที่พบปะสังสรรค์ระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย สถานที่บัญชาการรบ และสถานที่ศึกษา มัสยิดจึงเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติศาสนกิจ ศูนย์กลางของการเรียนการสอน และศูนย์กลางของการบริหารและการปกครองในขณะเดียวกัน บทบาทของมัสยิดดังกล่าวได้มีอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4  และยุคสมัยต่อๆมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในด้านการศึกษา มัสยิดหลายแห่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ในอิยิปต์  มหาวิทยาลัย อัซซัยตูนะฮฺ ในตูนิเซีย และมหาวิทยาลัยอัลเกาะรอวียีน ในโมร็อกโก เป็นต้น
 
 
บทบาทของมัสยิดในปัจจุบันต่อการพัฒนาชุมชน

          เมื่อหันมาดูบทบาทของมัสยิดในปัจจุบัน พบว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการที่สามารถทำให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนได้ เช่น ปัจจัยทางด้านกฎหมายที่กำหนดให้มัสยิดเป็นนิติบุคคล ปัจจัยทางด้านบุคลากรในชุมชน และคณะกรรมการมัสยิด ที่มีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น ปัจจัยด้านข้อมูลข่าวสารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมัสยิดที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้:

 

บทบาทในการส่งเสริมการศึกษา

           มัสยิดต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาศาสนาทั้ง 2 ภาค คือภาคฟัรฏูอัยน์ และภาคฟัรฏูกิฟายะฮฺ ในส่วนของภาคฟัรฏูอัยน์นั้น ควรมุ่งเน้นการศึกษาภาษาอัลกุรอาน โดยเฉพาะในด้านการอ่านและการท่องจำ มัสยิดควรกำหนดมาตรฐานของเด็กมุสลิมในชุมชน เกี่ยวกับการอ่านและการท่องจำซูเราะฮฺต่างๆของอัลกุรอาน ว่าควรจะมีมาตรฐานแค่ไหน อย่างไร เช่นเดียวกับความรู้ศาสนาในภาคฟัรฏูอัยน์ ก็ควรจะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าควรจะต้องเรียนจบแค่ไหน อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีเอกภาพทางด้านการศึกษาศาสนา   ในส่วนของภาคฟัรฏูกิฟายะฮฺนั้น มัสยิดควรมีแผนในการส่งเสริมเยาว์ชนในชุมชนให้ได้เรียนศาสนาในระดับสูงขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งให้โอกาสเยาว์ชนเหล่านั้น ในการแสดงความสามารถในรูปของการอ่านคุตบะฮฺ  การเป็นอิหม่ามนำละหมาด และการบรรยายศาสนธรรม เป็นต้น

           สำหรับการศึกษาภาคสามัญและวิชาชีพนั้น แม้ว่าคำนิยามมัสยิดใน พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 จะไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ของมัสยิดที่จะต้องเข้าไปดูแลส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีโอกาสศึกษาวิชาชีพ และวิชาสามัญเกินภาคบังคับ และควรเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามัสยิดให้มากขึ้นนอกเหนือจากการส่งเสริมการศึกษาดังกล่าวซึ่งเป็นการศึกษาในระบบแล้ว มัสยิดจะต้องส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอีกด้วย ซึ่งการศึกษาทั้งสองระบบนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชุมชนมุสลิมในปัจจุบัน เนื่องจากสัปปุรุษส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในวัยและสถานภาพที่จะศึกษาในระบบได้  ดังนั้นมัสยิดจึงต้องส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน การอบรมในวาระต่างๆ ตามความเหมาะสม อาทิเช่น  การอบรมศาสนาประจำเดือน การอบรมเยาว์ชนประจำปี (ค่ายอบรมเยาว์ชนภาคฤดูร้อน) การอบรมมุอัลลัฟ(มุสลิมใหม่) การอบรมกลุ่มมุสลิมะฮฺแม่บ้าน    การอบรมกอรี    และการอบรมวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

           สื่อที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมัสยิดที่จะต้องมีบทบาทในเรื่องนี้คือ สื่อคุตบะฮ์ โดยเฉพาะ คุตบะฮ์ที่จะต้องอ่านทุกวันศุกร์ เป็นหน้าที่ของมัสยิดที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงคุตบะฮฺวันศุกร์ให้เป็นคุตบะฮ์ที่มีคุณภาพ และมีชีวิตชีวา สามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคมในชุมชนให้เป็นสังคมที่ดีได้

           สำหรับสถาบันหรือส่วนงานย่อยที่ชุมชนมัสยิดทุกชุมชนควรมี เพื่อภารกิจในการส่งเสริมการศึกษาของชุมชน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด โรงเรียนสอนศาสนาภาคฟัรฏูอัยน์ ห้องสมุดประจำมัสยิด และลานกีฬา   ส่วนทั้งหมดนี้น่าจะเป็นมาตรฐานที่น่าพอใจสำหรับชุมชนทุกชุมชนที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง
บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น

           มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีการประสานงานในเชิงรุกกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อ.บ.ต.องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อ.บ.จ. สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอ  สภาจังหวัด  และกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขอรับการสนับสนุนในกิจการต่างๆ ด้านส่งเสริมการศึกษา และนันทนาการ เช่นโครงการค่ายอบรมเยาว์ชนภาคฤดูร้อน โครงการอบรมแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการลานกีฬา และเพื่อสนับสนุนในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น    ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำ และโทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น มัสยิดควรจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของรัฐในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเริ่มต้นที่มัสยิดเป็นตัวอย่าง ทำให้บริเวณมัสยิดมีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สะอาด และเจริญหูเจริญตา  เป็นบริเวณปลอดบุหรี่ ปลอดอบายมุขและสิ่งมึนเมา และปลอดจากสิ่งต้องห้ามทั้งปวงตามศาสนบัญญัติ

          นอกเหนือจากการประสานงานและการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆแล้ว มัสยิดจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง นักการปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการชุมชน และกรรมการการศึกษาในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อมัสยิดจะได้รับความร่วมมือจากบุคคลดังกล่าวในภารกิจต่างๆ ของการพัฒนาชุมชนต่อไป


บทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชน

 ปัญหาของชุมชนมัสยิดอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.) ปัญหาอาชญากรรม

2.) ปัญหายาเสพติด และอบายมุขอื่นๆ

3.) ปัญหาความแตกแยก และการทะเลาะวิวาท

         ปัญหาเหล่านี้มัสยิดจะต้องมีบทบาทโดยตรงในการป้องกันและในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้กระบวนการที่สำคัญดังนี้

1)   การให้การศึกษาและอบรมสั่งสอน

         มัสยิดจะต้องให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนแก่ปวงสัปปุรุษอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงบุคคลได้ง่าย สื่อที่สำคัญคือ

ก.    คุตบะฮฺวันศุกร์
          ควรเป็นคุตบะฮฺที่นำเสนอปัญหาของชุมชนมัสยิด และควรให้สัปปุรุษทุกคนได้ตระหนักถึงการรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน เนื่องจากการลงโทษของอัลลอฮ์ในโลกดุนยาแก่คนที่ไม่ดีนั้นจะครอบคลุมคนดีด้วย มัสยิดควรแบ่งเขตชุมชนและมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่สอดส่องดูแลในเขตที่รับผิดชอบ

ข. เสียงตามสาย
           มัสยิดควรมีเสียงตามสายเพื่ออะซานบอกเวลาละหมาด และเพื่อประชาสัมพันธ์กิจการต่างๆของมัสยิด นอกเหนือจากนั้นแล้ว มัสยิดควรใช้เสียงตามสายให้เกิดประโยชน์ในด้านการอบรมสั่งสอน การแนะนำและการตักเตือน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน การใช้เสียงตามสายควรคำนึงถึงความเหมาะสมในหลายๆด้าน เช่น  ช่วงระยะเวลาของการใช้ และความหลากหลายของชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาแตกต่างกัน เป็นต้น

ค. การเยี่ยมเยียนเป็นรายบุคคล
          การเยี่ยมเยียนสัปปุรุษที่มีปัญหาเป็นรายบุคคล หรือเรียกมาพูดคุยที่มัสยิด หรือที่บ้าน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้อมปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ ดังนั้นอีหม่าม และคณะกรรมการมัสยิดจึงควรมีเวลาสำหรับภารกิจนี้

 

2)  การทำสัตยาบันร่วมกัน(บัยอะฮ์)

          มัสยิดควรให้มีสัตยาบันร่วมกันระหว่างสัปปุรุษในชุมชนทั้งโดยวาจา และลายลักษณ์อักษร เรียกในภาษาอาหรับว่าการทำบัยอะฮฺ    (بَيْعَة)  รูปแบบของบัยอะฮฺนี้ก็คือการร่างคำบัยอะฮฺเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สัปปุรุษทุกคนในชุมชนได้ลงลายมือ และกล่าวเป็นวาจาพร้อมๆกัน โดยมีอีหม่ามเป็นผู้นำกล่าว สำหรับหัวข้อของบัยอะฮฺควรประกอบด้วย สามส่วนคือ 1. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติ 2. เรื่องที่จะต้องออกห่างและต่อต้าน    และ 3. บทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดบัยอะฮฺ   ทั้ง 3 หัวข้อนี้จะต้องครอบคลุมส่วนเฉพาะบุคคล และส่วนรวม   การทำบัยอะฮฺนี้มัสยิดจะต้องให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในแง่ของการลงโทษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชน

           สำหรับปัญหาความแตกแยกและการทะเลาะวิวาทนั้น มัสยิดควรใช้วิธีการไกล่เกี่ลย และประนีประนอม แต่หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนา มัสยิดควรจะต้องมีจุดยืนที่แน่นอน และไม่ควรสนับสนุนให้มีการถกเถียงกันในปัญหาคิลาฟียะฮฺ อันจะนำไปสู่ความแตกแยกและความร้าวฉานในชุมชนได้

 

3)  การประสานงานกับหน่วยงานรัฐ

          ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น สถานีตำรวจนครบาล  สถานีตำรวจภูธร  เพื่อให้มาสอดส่องดูแล และจับกุมผู้กระทำความผิด ไปลงโทษตามกฎหมาย ผู้เขียนเชื่อว่าหากได้มีการประสานงานอย่างดีระหว่างมัสยิดกับสถานีตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ ปัญหาต่างๆของชุมชนมัสยิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรมก็จะลดลงได้


บทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน

            มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีบทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน โดยการจัดตั้งกองทุนอย่างน้อย 2 กองทุน คือ

1.) กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้       

2.) กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชน

           กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้นั้นเป็นกองทุนจากการบริจาคทั่วๆไป ของผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในชุมชน เช่น ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย อัคคีภัย และภัยอื่นๆ   ผู้พิการและทุพลภาพ  เด็กกำพร้าและแม่หม้ายที่ขาดผู้ดูแลและช่วยเหลือ  หรือสงเคราะห์ในการจัดการศพที่ไร้ญาติและขาดแคลนทรัพย์เป็นต้น

          สำหรับกองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการสังคมนั้น เป็นกองทุนที่ได้จากการจ่ายซะกาตของสัปปุรุษในชุมชนและที่อื่นๆ   กองทุนทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือเป็นตัวแทนเพื่อนำซะกาตไปมอบให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตตามศาสนบัญญัติที่อยู่ในชุมชน


          อย่างไรก็ตามหากมัสยิดสามารถระดมเงินซะกาตจากผู้มีฐานะในชุมชนหรือที่อื่นๆได้ มัสยิดก็จะสามารถหยิบยื่นสวัสดิการให้กับชุมชนได้ ตัวอย่างเช่น สวัสดิการการศึกษา ซึ่งเป็นสวัสดิการที่สำคัญในปัจจุบัน มัสยิดสามารถที่จะมอบเงินซะกาตให้กับลูกหลานของสัปปุรุษในชุมชนที่เรียนดีแต่ขลาดแคลนให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นชุมชนก็จะมีนักเรียนทั้งภาคศาสนาและภาคสามัญได้เรียนต่อด้วยทุนซะกาตของมัสยิด บุคคลเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาก็จะมีความรู้สึกผูกพันกับมัสยิด เขาจะรู้สึกว่ามัสยิดสร้างเขา  เขาก็จะต้องสร้างมัสยิดเพื่อเป็นการตอบแทน ระบบนี้ก็จะทำให้มัสยิดมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยอนุมัติจากอัลลอฮ์

 

บทส่งท้าย
  
       
  มัสยิดในยุคปัจจุบันคงจะมิใช่เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นสถานที่เอนกประสงค์ที่กิจกรรมทุกอย่างมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮ์ เพื่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ และเพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮ์   บทบาทของมัสยิดที่พึงประสงค์เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการมัสยิด ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และพระประสงค์อันยิ่งใหญ่แห่งเอกองค์อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขออัลลอฮ์ได้ทรงประทานทางนำและความสำเร็จแก่ผู้บริหารมัสยิดและแก่พี่น้องมุสลิมทุกคน อามีน


 

 

 


 

* อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการอิสลามกรุงเทพมหานครฯ และอิหม่ามมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์ เขตคลองสามวา