ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซิกรุ้ลลอฮ์และการดุอาอ์หลังละหมาด
อ.อิสฮาก พงษ์มณี
"การอ่านอัลกุรอ่าน"
เท่าที่พบตัวบททั้งที่ผู้เขียนอ้างถึงและไม่ได้อ้างถึง เป็นการระบุถึงบางอายะห์และบางซูเราะห์ เท่านั้น ดังนั้นการใช้ ถ้อยคำว่า "อัลกุรอ่าน" จึงเป็นการตีคลุมเกินกว่าตัวบทที่อ้าง และเท่าที่พบตัวบทนั้นมีดังนี้
๑. อายะห์กุรซี่
มีรายงานจากอะบูอุมามะห์ (อัลบาฮิลี่) กล่าวว่า ท่านร่อลุ้ลลอฮ์ กล่าวว่า
"ผู้ใดอ่านอายะห์กุรซี่ในท้ายละหมาดมักตูบะห์ (ละหมาดฟัรฎู) ไม่มีอะไรห้ามเขาเข้าสวรรค์ยกเว้นการตาย"
(อันนะซาอี่ ในสุนันกุบรอ เล่ม ๖ หน้า ๓๐ ลำดับฮะดีษที่ ๙๙๒๘)
ฮะดีษข้างต้นนี้ ยังได้รับการรายงานจากศ่อฮาบะห์ท่านอื่นๆ อีกหลายท่านเช่น ท่านอาลี อิบนุ อิบีฏอลิบ ท่านอับดุล ลอฮ์ อิบนุ อุมัร ท่านมุฆีเราห์ อิบนุ ชั๊วอ์บะห์ ท่านญาบิร อิบนุ อับดุลลอฮ์ และท่านอะนัส อิบนุ มาลิก แต่สายรายงานทุกสาย ต่างมีปัญหา ท่านอิบนุกอยยิมกล่าวว่า ทุกสายรายงานที่มีมาล้วน ฎ่ออีฟ (อ่อนหลักฐาน) ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีรายงานดังกล่าวไม่ก็12 ถึงขั้น เมาฎั๊วอ์ นักฮะดีษบางท่านก็รับรองว่าบางกระแสอยู่ใน ฐานะ ฮะซัน 13 การอ่านอายะห์กุรซี่หลังละหมาดฟัรฎู ไม่ถือว่าเป็นเอกฉันท์ เพราะนักวิชาการฮะดีษยังโต้แย้งกันถึงฐานะของฮะดีษ ข้างต้น ดังนั้นการพูดว่านักวิชาการเห็นพ้องกันนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้อง และตัวบทนี้ก็ระบุแต่เพียงอายะห์กุรซี่ ดังนั้นการกล่าวโดยกว้างๆ ว่า "การอ่านกุรอ่านหลังละหมาด" เป็นคำพูดที่กว้างกว่าตัวบทที่อ้าง
๒. อ่านฟาติฮะห์ อัลอิคลาศ อัลฟะลัก และอันนาส หลัง ละหมาดวันศุกร์
ผู้เขียนไม่ได้อ้างถึงศ่อฮาบะห์ที่รายงานฮะดีษดังกล่าว บอกแต่เพียงว่าเป็นบันทึกของอิบนุซซุนนี่ อิบนุซซุนนี่บันทึกไว้ใน "อะมะลุเยาม์ วะลัยละห์" จาก รายงานของอาอิชะห์ ส่วนคำยืนยันของผู้เขียนที่ว่า "ฮะดีษถูกต้อง" ไม่ทราบว่ามีความหมายใด หมายถึงการคัดมาถูกต้อง หรือแปลได้ถูกต้อง แต่ถ้าจะหมายถึงศ่อเฮี๊ยะห์ตามหลักวิชาการฮะดีษนั้นคงยอมรับไม่ได้ เพราะท่านได้ตัดสินผิดไปถนัด ท่านฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัร อัลอัสก่อลานี่ กล่าววิจารณ์ว่า ฮะดีษดังกล่าวว่ามีสายรายงานอ่อนมากๆ ในสายรายงานมีบุคคล หนึ่งชื่อ อัลฮุเซน อิบนุ ดาวูด อัลบัลคี่ ท่านฮาเก่ม กล่าวว่า เขาเป็นนักรายงานที่มีมะนากีรมากมาย ( คือมีรายงานที่มิอาจยอมรับได้) เขามักอ้างถึงผู้อื่นที่ตนมิได้ยินฮะดีษใดๆ จากผู้นั้น ท่านค่อฏีบกล่าวว่า รายงานที่เขาอ้างถึง ยะซีด อิบนุฮารูน ส่วนใหญ่เป็นเมาฎั๊วอ์ (เป็นเท็จ) และรายงานข้างต้นก็เป็นรายงานที่เขาอ้างถึง ยะซีด อิบนุ อารูน
"การออกเสียงดัง"
การออกเสียงทั้งในการซิกรุ้ลลอฮ์และขอดุอาอ์ ได้กล่าวถึงแล้วโดยละเอียด ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้อีก แต่สิ่งที่จะกล่าวในที่นี้คือ ผู้เขียนเอกสาร "การซิกรุ้ลลอฮ์และการดุ อาอ์หลังละหมาด" หากประสงค์จะสร้างความเข้าใจแก่ผู้ไม่รู้ทั้งหลายและเป็นการให้ความรู้อย่างแท้จริงแล้ว ก็ควรจะนำเสนอ หลักฐานในเรื่องนี้ให้ครบถ้วน ไม่ใช่กล่าวถึงบางส่วน และเว้นบางส่วน การกระทำในลักษณะนี้ไม่อาจสร้างความเข้าใจใดๆ แก่ผู้ไม่รู้ได้ หากแต่จะสร้างความสับสนมากกว่า
การยึดถือหลักฐานนั้นต้องยึดถือให้ครบถ้วน และหากในเรื่องนั้นๆ ดูเหมือนขัดแย้งกันก็ต้องอธิบายให้กระจ่าง จะด้วยวิธีการประสานตัวบท ยกเลิกตัวบทด้วยตัวบท หรือเลือกตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนกว่า ก็สุดแท้แต่ละสถานการณ์ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการปกปิดบางส่วนและนำเสนอบางส่วน และหากท่านจะดึงดันว่าฉันจะถือตามฮะดีษ ของอิบนุอับบาสที่บอกว่าในยุคร่อซู้ล มีการซิกรุ้ลลอฮ์ด้วยเสียงดังหลังละหมาด แล้วท่านจะอธิบายอย่างไรกับ อัลกุรอ่านในซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ ๕๕-๕๖ ตลอดจนฮะดีษที่รายงาน โดยท่านบุคอรีย์และมุสลิมที่บอกว่า
"แท้จริงพวกท่านมิได้วิงวอนขอต่อผู้ที่หูหนวกหรืออยู่ลับหลัง แท้จริงพระองค์ทรงอยู่ กับพวกท่าน
พระองค์ทรงได้ยินและอยู่ใกล้ ผู้ทรงมีพระนามอันจำเริญและสูงส่งยิ่ง"
(ศ่อเฮี๊ยะห์อัลบุคอรี เล่ม ๓ หน้า ๑๐๙๑ ลำดับฮะดีษที่ ๒๘๓๐)
“จะทำลักษณะเป็นหมู่คณะ หรือเพียงลำพังก็ได้"
การสรุปดังกล่าวยังดูคลุมเครืออยู่เพราะได้กล่าวแล้วว่า "กรณีของศ่อฮาบะห์ที่รวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮ์ในมัสยิด ตามที่ผู้เขียนได้ยกตัวบทจากการบันทึกของอิหม่ามมุสลิมมาอ้างอิงนั้น หาได้มีข้อความใดระบุว่าเป็นการกระทำหลังละหมาด และตัวบทที่อ้างถึงนั้นก็มิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการกล่าวซิกรุ้ลลอฮ์พร้อมๆ กัน ความหมายของฮะดีษดังกล่าวอาจเป็นไปได้ ทั้งสองทางคือรวมตัวกันซิกรุ้ลลอฮ์โดยกล่าวคำหนึ่งคำใดพร้อมๆ กัน หรือมีการรวมตัวกันจริงในมัสยิด แต่เป็นลักษณะต่างคน ต่างซิกรุ้ลลอฮ์ของตนไป"
ฉะนั้นการจะชี้ว่ารายงานดังกล่าวมีความหมายไปในทางใดนั้น ต้องอาศัยแนวปฏิบัติจริงของศ่อฮาบะห์มาอธิบาย เพราะท่านเหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดร่อซู้ล ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รู้ ได้เห็นและเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ของศาสนา
ท่านอิบนุมัสอู๊ด และท่านอะบูมูซา ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ทั้งคู่เป็นศ่อฮาบะห์ อาวุโส และไม่เห็นชอบให้กล่าวซิกรุ้ลลอฮ์พร้อมๆ กัน ดังนั้น คำว่ารวมตัวกันเพื่อซิกรุ้ลลอฮ์ กับคำว่ากล่าวซิกรุ้ลลอฮ์พร้อมๆ กัน จึงเป็นคนละความหมายกัน และหากเราปฏิเสธการอธิบายเช่นว่านี้ เราจะทำอย่างไรกับรายงานที่มีจากอิบนุมัสอู๊ดและอะบูมูซา ที่กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบิดอะห์ที่อธรรม เราจะกล้าพูดว่าศ่อฮาบะห์เช่นอิบนุมัสอู๊ด ไม่เข้าใจฮะดีษของร่อซู้ล กระนั้นหรือ หรือเราเองที่ไม่เข้าใจกันแน่
รายงานจากอิบนุมัสอู๊ดนั้น ปรากฏในบันทึกของนักบันทึกหลายท่าน เช่น อับดุรรอซซาก เล่มที่ ๓ หน้า ๒๒๑ หมายเลขฮะดีษที่ ๕๔๐๘, ในมั๊วอ์ญัม อัลกะบีร ของท่านฏอนรอ นี่ เล่ม ๙ หน้า ๑๒๕ หมายเลขฮะดีษที่ ๘๖๒๘-๘๖๒๙-๘๖๓๐, ในกิตาบุ้ลซุฮ์ดฺ ของท่านอิบนุ อะบีอาศิม เล่ม ๑ หน้า ๓๕๘ ด้วย สายรายงานที่หลากหลาย ผู้ที่กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบิดอะห์ หาใช่คนในยุคเราไม่ แต่เป็นคนในยุคร่อซู้ล ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่างหาก