วะสะฏียะฮฺ ด้านความปานลางและความสมดุล
  จำนวนคนเข้าชม  6329

 

วะสะฏียะฮฺ ด้านความปานลางและความสมดุล

อ.อุษมาน ยูโซะ

ความหมายของ “วะสะฏียะฮฺ” ด้านความปานลางและความสมดุล 

       ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ผู้ถูกขนานนามว่า “อะมีรุล มุฟัสสิรีน” หมายถึงราชาแห่งเหล่านักอธิบายอัลกุรอาน ได้อธิบายความหมายเพิ่มเติมต่อความหมายของ “วะสะฏอ” หมายถึง “ความปานกลางระหว่างสองขั้วความเลยเถิด นั่นคือมากหรือสูงเกินไป และน้อยหรือต่ำเกินไปจากขอบเขตที่แท้จริง” 

(อัฏเกาะบะรีย์, ญามิอฺ อัลบะยาน เล่ม 2 หน้า 338) 

        ท่านกล่าวอีกว่า  “ฉันเห็นว่าการที่อัลลอฮฺทรงเรียกขานประชาชาติท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมด้วย "วะสัฏ” นั้น เนื่องจากความปานกลางของพวกเขาในด้านการนับถือศาสนา

       ♦ พวกเขาไม่เลยเถิดจนเกินขนาดดั่งความเลยเถิดของชาวคริสต์ที่ได้ปฏิบัติเกินเลยในด้านการอิบาดะฮฺ และคำพูดของพวกเขาต่อนบีอีซาจนกระทั่งยกย่องท่านเป็นพระเจ้า มหาบริสุทธิ์อัลลอฮฺ 

        ♦ และประชาชาตินบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ไม่บกพร่อง ดั่งความบกพร่องของชาวยิวที่ได้เปลี่ยนแปลงคัมภีร์เตารอตของอัลลอฮฺ สังหารบรรดานบีของพวกเขา โกหกพระเจ้า และไม่ศรัทธาต่อพระองค์ 

         ♦ แต่ประชาชาติของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม คือประชาชาติที่เป็นกลาง และมีความสมดุลด้านการนับถือศาสนา (อาทิ พวกเขาถือว่านบีอีซาบุตรมัรยัมเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่ถูกเลือกเป็นเราะสูล เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงกล่าวถึงคุณลักษณะของพวกเขาว่าเป็น “อุมมะตัน วะสะฏอ” เนื่องจากว่าการงานที่อัลลอฮฺทรงชอบที่สุดคือความปานกลางและความพอดี”

(อัฏเกาะบะรีย์, ญามิอฺ อัลบะยาน เล่ม 2 หน้า 626)


“วะสะฏอ” หมายถึง ความปานกลางและความสมดุลด้านอะกีดะฮฺและชะรีอะฮฺ 

       “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือประชาชาติที่หลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) และบทบัญญัติ (ชะรีอะฮฺ) ของพวกเขามีความโดดเด่นด้านความปานกลางระหว่างสองขั้วลบของความเลยเถิด โดยลักษณะของพวกเขาจะมีความปานกลางระหว่างสองขั้วความเลยเถิดหรือความจอมปลอมที่มีในคำสอนอื่นจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และมีความสมดุลระหว่างสองขั้วความต้องการสำหรับความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์

       (ความปานกลางและความสมดุลเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่ทรงเกียรติยิ่ง และเป็นการยากมากที่จะกำหนดต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชาติใดประชาชาติหนึ่งและ นี่คือคำยืนยันจากเหล่านักคิดที่เป็นที่รู้จัก ในจำนวนนั้นได้แก่ อริสโตเติล ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า MORALITY “ศีลธรรม”)

        “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือประชาชาติที่เป็นกลางและมีความสมดุลในด้านคำสอนเดิมของอิสลามบนพื้นฐานแห่งอัลกุรอาน (อัดดีน) และด้านการนับถือศาสนาอิสลามหรือการปฏิบัติศาสนกิจบนพื้นฐานแห่งสุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม และสุนนะฮฺเหล่าเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุม (อัตตะดัยยุน) กล่าวคือ มีความเป็นกลางระหว่างสองความหายนะและมีความสมดุลระหว่างสองความต้องการ นั่นคือ

          (1) ความเป็นกลางระหว่างของความเลยเถิด โดยศาสนาอิสลามที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งอัลกุรอานและการปฏิบัติศานกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งสุนนะฮฺคือความเป็นกลางระหว่างสองความหายนะหรือความเลยเถิดดังต่อไปนี้

1.1 ระหว่างความเลยเถิดของชาวยิวที่ถูกกริ้วและความเลยเถิดของชาวคริสต์ที่หลงทาง

1.2 ระหว่างอิฟรอฏ (การปฏิบัติที่เกินเลยจากขอบเขตที่แท้จริง) กับตัฟรีฏ (การปฏิบัติที่น้อยและต่ำกว่าขอบเขตที่แท้จริง)

1.3 ระหว่างอัลอิสรอฟ (การจับจ่ายใช้สอยที่ฟุ่มเฟือย) และอัลอิกตาร (การจับจ่ายใช้สอยที่ตระหนี่ถี่เหนียว)

1.4 ระหว่างอัลฆอลีย์ (การเชิดชูยกย่องที่สูงและเกินเลย กับอัลญาฟีย์ (การเชิดชูยกย่องที่ต่ำและน้อยเกินไป)

       1.5 ระหว่างอัตตัมษีล (การเทียบเคียงคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับคุณลักษณะของสิ่งที่ถูกสร้าง) กับอัตตะอฺฏีล (การปฏิเสธคุณลักษณะต่างๆของอัลลอฮฺที่พระองค์และศาสนทูตของพระองคืได้ยินยันไว้)

       1.6 ระหว่างชีอะฮฺหรือรอฟิเฎาะฮฺในความเลยเถิดของพวกเขาด้านวะลาอ์ (การมอบความรักและความจงรักภักดี) ต่อเคาะลีฟะฮฺอาลี บิน อบีฏอลิบจนกระทั่งบูชาท่านและปฏิเสธเคาะลีฟะฮฺท่านอื่นๆ กับเคาะวาริจญ์ในด้านบะรออ์ (การปลีกตัวออกจากการเชื่อฟังเคาะลีฟะฮฺอาลี) จนกระทั่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับท่าน

          (2) ความสมดุลระหว่างสองความต้องการ โดยศาสนาอิสลามที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งอัลกุรอานและการปฏิบัติศานกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งสุนนะฮฺคือความสมดุลระหว่างสองความต้องการสำหรับความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตบนโลกนี้ อาทิ

2.1 ระหว่างความต้องการของจิตวิญญาณกับความต้องการของร่างกาย

2.2 ระหว่างความต้องการของชีวิตบนโลกกับความต้องการของชีวิตในวันอาคิเราะฮฺ

2.3 ระหว่างความต้องการของปัจเจกบุคคลกับความต้องการของกลุ่มชน หรือองค์กร

2.4 ระหว่างความต้องการของบุรุษเพศกับควาต้องการของสตรีเพศ

2.5 ระหว่างความต้องการเฉพัากับความต้องการทั่วไป

2.6 ระหว่างความต้องการของรัฐกับความต้องการของประชาชน


 บทสรุป 

          1. “วะสะฏอ” คือ ความปานกลาง และความสมดุลที่วางอยู่บนพื้นฐานขงความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและถูกคัดเลือกในฐานะสิ่งที่ดีที่สุดที่อยู่บนสุดยอดของความสูง

         2. ไม่มีคำใดที่สามารถให้ความหมายของ “วะสะฏอ” ได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคำในภาษาใดก็ตาม หรือไม่มีคำใดที่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดของ “วะสะฏอ” ตามความหมายที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอัลกุรอาน

          3. ประชาชาตินบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือ “อุมมะตัน วะสะฏอ” ที่ประกอบด้วยทุกความหมายของ “วะสัฏ” ด้านวิถีการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่สัจธรรมและความสมบูรณ์ของศาสนาอิสลามอันเป็นศูนย์กลางแห่งดุลยภาพระหว่างทุกศาสนาและฝ่ายต่างๆ 

       - ในด้านอะกีดะฮฺ (หลักการศรัทธา) อิบาดะฮฺ (การเคารพภักดี) ชะรีอะฮฺ (บทบัญญัติ) มุอามะลาต (การปฏิสัมพันธ์) และอัคลาก (จริยธรรม) หรือการนำหลักคำสอนของศาสนา ไปปฏิบัติ และ

- ในด้านความยุติธรรมในการตัดสินความและการแสดงจุดยืน 

- ด้านความยิ่งใหญ่และการถูกคัดเลือกจากมวลมนุษยชาติ 

       - ด้านความสมดุลระหว่างความต้องการต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างความต้องการของจิตวิญญาณกับความจำเป็นทางวัตถุ รวมทั้งความต้องการทางโลกอาคิเราะฮฺอันเป็นที่พำนักชั่วนิรันดร์กาลกับความจำเป็นทางโลกอันเป็นที่พำนักชั่วคราว 

- ด้านความปานกลางระหว่างความเลยเถิดต่างๆที่เป็นอันตรายและชั่วร้าย 

       - ด้านความพอดีในจุดยืนที่มีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านสถานภาพของศูนย์กลางศาสนา (บัยตุลลอฮฺ) ที่ตั้งอยู่ตรงใจกลางระหว่างซีกโลกตะวันออกกับซีกโลกตะวันตก และระหว่างซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้

          4. ความหมายที่ดีต่างๆของ “วะสะฏอ” จะนำพา “อุมมะตัน วะสะฏอ” ที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งความยุติธรรมสู่ความหนึ่งเดียวของประชาชาติ “อุมมะตัน วาฮิดะฮฺ” ที่มีพลังและเกียรติในการให้บริการต่อผลประโยชน์ของมวลมนุษย์ในฐานะประชาชาติที่ดีเลิศ “ค็อยรุ อุมมะฮฺ” บนโลกนี้ และเป็นพยานต่อมวลมนุษยชาติในวันอาคิเราะฮฺต่อไปในอนาคต วัลฮัมดุลิลลาฮฺ