การทำสงคราม (ญิฮาด) ในอิสลาม : นิยาม และเงื่อนไข
  จำนวนคนเข้าชม  31070

การทำสงคราม (ญิฮาด) ในอิสลาม : นิยาม และเงื่อนไข


ผู้ช่วยศาสราจารย์ ดร. อับดุลเลาะ หน่มสุข
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

د.عبدالله نومسوك

บทนำ


          มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมที่ประเสริฐที่สุด เนื่องจากพระเจ้าได้สร้างมนุษย์ให้เป็นผู้มีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวมนุษย์จึงมีสัญชาตญาณใฝ่สันติมากกว่าความรุนแรง สัญชาตญาณนี้ได้เกื้อหนุนให้มนุษย์แสวงหาความเป็นมิตรมากกว่าความเป็นศัตรู แสวงหาความสามัคคีปรองดองมากกว่าความแตกแยก และแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าการประทุษร้าย และเข่นฆ่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงมีช่วงระยะเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากกว่าช่วงระยะเวลาของการสู้รบ และการนองเลือด สัญชาตญาณใฝ่สันติของมนุษย์ดังกล่าวเป็นสัญชาตญาณเดิมอันบริสุทธิ์ที่องค์พระผู้อภิบาลได้เนรมิต และสร้างสรรค์ไว้ในตัวของมนุษย์ทุกคน

        อย่างไรก็ตามสังคมมนุษย์ย่อมจะมีกลุ่มคนอันหลากหลาย ด้วยอารมณ์ ความเชื่อ ความรู้สึก และความต้องการ การขัดแย้งกันในบางครั้งจึงนำไปสู่การทำสงครามระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จากความเป็นจริงดังกล่าวอิสลามจึงได้บัญญัติเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามไว้อย่างละเอียดจนอาจกล่าวได้ว่า อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะคำนึงถึงหลักความจริงในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ บทความนี้จึงขอมีส่วนร่วมในการให้ความกระจ่างต่อประเด็นต่างๆทีสำคัญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้น
 

ประเด็นที่หนึ่ง  : นิยาม และความหมายของคำว่า “ญิฮาด”
 
         คำว่าญิฮาด جِهاَدْ         เป็นคำภาษาอาหรับ ในด้านภาษา คำนี้มาจากคำว่า    جَهْدٌ ซึ่งหมายถึงการทำอย่างยากลำบาก การปฏิบัติอย่างเต็มที่ ด้วยความเหนื่อยล้า หรือมาจากคำว่าجُهْدٌ  ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ

         คำว่ามุญาฮิด    مُجاَهِدْ   หรือมุญาฮิดีน مُجاَهِدِيْن      ก็คือ ผู้ที่ดิ้นรนต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า และทุ่มเทความพยายามที่จะทำให้เขาต้องเหนื่อยล้าเพื่อการนั้น ส่วนในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการทุ่มเทสรรพกำลังและความพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดปราน และการยับยั้งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธ (อับดุลการีม ซีดาน 1987 : 272) การญิฮาดในความหมายข้างต้น ครอบคลุมถึงการปฏิบัติ ภารกิจต่างๆ ของมุสลิมที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ความพยายาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮฺ ด้วยเหตุดังกล่าวคำว่าญิฮาด จึงมักเอ่ยควบคู่กับคำว่า ฟีสะบีลิ้ลลาฮฺ فِيْ سَبِيْلِ الله     แปลว่าในหนทางของอัลลอฮฺเสมอ (อ้างแล้ว)
 
          ดังนั้นการญิฮาดจึงหมายถึงการต่อสู้ทุกอย่างในวิถีทางของอัลลอฮฺ อาทิเช่นการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย การต่อสู้กับภัยพิบัติ การต่อสู้กับความยากจน การต่อสู้กับความโง่เขลา การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม และการต่อสู้กับพลังความชั่วร้ายในโลกทั้งหมด การดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ถือเป็นญิฮาดทั้งสิ้น และการทำสงครามในวิถีทางของอัลลอฮฺ ก็เป็นส่วนหนึ่งจากญิฮาด ดังจะกล่าวต่อไป
 

ประเด็นที่สอง : ระดับ และประเภท

 นักวิชาการมุสลิม แบ่งการญิฮาดออกเป็น 2  ประเภทใหญ่ๆ คือ:

1.) ญิฮาดเล็ก     جِهاَدْ أَصْغَر   คือการต่อสู้กับศัตรู

2.) ญิฮาดใหญ่   جِهاَدْ أَكْبَرْ     คือการต่อสู้กับตนเองด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ

          มีนักวิชาการบางท่าน แบ่งการญิฮาดออกเป็นหลายประเภทตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ญิฮาดด้านทรัพย์สิน ญิฮาดด้านการเผยแพร่อิสลาม ญิฮาดด้านการอบรมเลี้ยงดู ญิฮาดด้านการศึกษา ญิฮาดด้านการเมือง ญิฮาดกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ และเหล่ามารร้าย และญิฮาดด้านการสงครามเป็นต้น( ดู มัสลัน มาหะมะ. ญิฮาดในอิสลาม.วารสารคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย.ปีที่ 7 ฉบับที่1  มกราคม-กุมภาพันธ์ 2550  หน้า 34-39)

          สำหรับท่านอิมามอิบนุล ก๊อยยิม (751 ฮศ.) ท่านได้แบ่งการญิฮาดออกเป็นประเภท และระดับต่างๆ และให้รายละเอียดอย่างน่าสนใจ พอสรุปได้ดังนี้ คือ:
 
การญิฮาดแบ่งออกเป็น 5  ประเภท คือ:

1.)  การญิฮาดกับอารมณ์ของตนเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการญิฮาดในประเภทอื่นๆทั้งหมด มี 4 ระดับคือ :

ก. ญิฮาดเพื่อการศึกษา และเรียนรู้

ข. ญิฮาดเพื่อการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้

ค. ญิฮาดเพื่อการเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้ยังผู้อื่น

ง. ญิฮาดเพื่อการอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ในหนทางดังกล่าว


2.)   การญิฮาดกับมารร้าย ชัยฎอน มี 2  ระดับ คือ :

ก. ญิฮาดเพื่อป้องกันข้อเคลือบแคลงสงสัยที่ทำให้การศรัทธา (อีหม่าน)บกพร่อง

ข. ญิฮาดเพื่อป้องกันกิเลส และเจตนารมณ์ที่เสียหาย

3.)  การญิฮาดกับผู้ปฏิเสธ     ( كُفَّارْ)

   
4.)  การญิฮาดกับพวกสับปลับ    ( مُناَفِقِيْن)   

 การญิฮาดใน 2 ประเภทนี้ มี 4 ระดับ คือ:


                     ก. ญิฮาดด้วยหัวใจ

                     ข. ญิฮาดด้วยวาจา

                     ค.ญิฮาดด้วยทรัพย์สิน

                    ง. ญิฮาดด้วยชีวิต

5) การญิฮาดกับมุสลิมที่อธรรม และละเมิดบัญญัติศาสนา มี 3 ระดับคือ:

                  ก. ญิฮาดด้วยมือ (กำลัง) หากสามารถ

                  ข. ญิฮาดด้วยวาจา หากไม่สามารถทำได้ในข้อ ก.

                  ค. ญิฮาดด้วยหัวใจ หากไม่สามารถทำในข้อ ก. และข. (อิบนุล ก็อยยิม 1997 : 3/5-10 )

           ในกรณีการญิฮาดกับผู้ปฏิเสธนั้นสามารถทำได้ ในหลายระดับ และหลายวิธี เช่น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม การตอบโต้ และชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน การเชิญชวนสู่อิสลามด้วยวิทยปัญญา และการทำสงครามต่อสู้ กับการถูกกดขี่ข่มเหงเป็นต้น


 ประเด็นที่สาม : ญิฮาดกับการทำสงคราม

          จากคำอธิบายใน 2 ประเด็นที่ผ่านมาทำให้ได้ทราบว่า การทำสงครามนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในหลายรูปแบบของการญิฮาด ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งศาสนาแห่งอัลลอฮ์ และการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวอาจสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการทำศึกสงครามแต่อย่างใด คำว่าญิฮาดจึงมีความหมายกว้างกว่าสงครามมาก ญิฮาดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสงคราม และสงครามก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นญิฮาด เพราะสงครามในอิสลามต้องอยู่ภายใต้จุดประสงค์ กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และจรรยาบรรณอันสูงส่ง อันจะกล่าวในประเด็นต่อไป อย่างไรก็ตามคำว่า ญิฮาดเมื่อเอ่ยขึ้นมาเฉยๆ มักจะหมายถึงการทำสงคราม ซึ่งในอัลกุรอานจะใช้คำว่า قِتاَلْ ซึ่งหมายถึงการสู้รบ และคำว่า    جِهاَد باِ لنَّفْسِซึ่งหมายถึงการญิฮาดด้วยชีวิต (ดูตัวอย่างในอัลบะเกาะเราะฮฺ 190,244 และ อัตเตาบะฮฺ 20,41,88)
 

ประเด็นที่สี่ : การบัญญัติเรื่องการทำสงคราม
 
         ท่านนะบี (ศล.) ได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนสู่อิสลามตลอดระยะเวลา 13 ปีที่นครมักกะฮฺด้วยสันติวิธี ท่านไม่เคยตอบโต้ และไม่เคยใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น ครั้นเมื่อท่านอพยพมายังนครมะดีนะฮฺการทำสงครามจึงได้ถูกบัญญัติขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยมีเหตุ และปัจจัยมากมาย ในขณะนั้น การบัญญัติเรื่องสงครามมีลำดับ และขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้  คือ


1.)   ทำสงครามเพื่อป้องกันการรุกราน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

{أُذِنَ لِلَّذِينَ يُقَاتَلُونَ بِأَنَّهُمْ ظُلِمُوا }

“สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้น ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง ” (อัลฮัจย 39 )

และอีกโองการหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่า: 
                 
{وَقَاتِلُواْ فِي سَبِيلِ اللّهِ الَّذِينَ يُقَاتِلُونَكُمْ وَلاَ تَعْتَدُواْ إِنَّ اللّهَ لاَ يُحِبِّ الْمُعْتَدِينَ}

“จงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ กับบรรดาผู้ที่ต่อสู้เจ้าและจงอย่ารุกราน เพราะอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน” (อัลบะเกาะเราะฮ 190)


2.) ทำสงครามกับศัตรูผู้รุกรานได้ทุกเมื่อ ยกเว้นเดือนที่ต้องห้าม (ฮะรอม)   ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

{{فَإِذَا انسَلَخَ الأَشْهُرُ الْحُرُمُ فَاقْتُلُواْ الْمُشْرِكِينَ حَيْثُ وَجَدتُّمُوهُمْ

“ครั้นเมื่อบรรดาเดือนที่ต้องห้ามเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็จงทำสงครามกับผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) เหล่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบเขา ” (อัตเตาบะฮฺ 5)


3.)   ทำสงครามกับศัตรูผู้รุกรานโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{{وَاقْتُلُوهُمْ حَيْثُ ثَقِفْتُمُوهُمْ وَأَخْرِجُوهُم مِّنْ حَيْثُ أَخْرَجُوكُمْ وَالْفِتْنَةُ أَشَدُّ مِنَ الْقَتْلِ

“และจงประหัต ประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออก และการก่อความวุ่นวาย(ฟิตนะฮฺ)นั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 191)
 

         จากการสำรวจโองการต่างๆในอัลกุรอานพบว่า มีการระบุเรื่องราวที่เกี่ยวกับการทำญิฮาด ใน 41 โองการ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับการทำศึกสงครามโดยตรงประมาณ 70 โองการ การศึกษาข้อบัญญัติต่างๆในเรื่องนี้ไม่ควรยึดถือ เพียงคำเแปลจากตัวบทเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นจะต้องศึกษาในรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้อง หาไม่แล้วบทสรุปก็ยังคงเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนอันนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ยากต่อการแก้ไข

ติดตามต่อตอนที่ 2>>>>