คำสั่งเสียของท่านนบี คำสั่งเสียที่ 1
โดย... อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ อัลฮาจญ์
ซอลิหฺ บิน อับดุรเราะหฺมาน อัลหุซอยน์
ฮุก่มของการละหมาด
อิบนุรุชด์ อัลมาลิกีย์ กล่าวว่า “การละหมาดเป็นวาญิบอย่างชัดเจน ระบุในอัลกุรอาน อัซซุนนะฮฺ และมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รับรู้กันทั่วไป ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมาย”
เวลาของการละหมาด
“....แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลาไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธา”
(อันนิซาอฺ 4 : 103)
อัชเชากานีย์ กล่าวถึง ตัฟซีรอายะฮฺนี้ว่า “คือ มันถูกกำหนดขอบเขตอย่างเจาะจง กล่าวกันว่า ได้ถูกกำหนดเวลาไว้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเวลาไว้ และได้ถูกกำหนดเวลาไว้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่มีกำหนดเวลา อัลลอฮฺ ได้ทรงบัญญัติการละหมาดเป็นฟัรฎูแก่ปวงบ่าว และได้ทรงกำหนดเวลาเฉพาะเจาะจงในแต่ละฟัรฎู ไม่อนุญาตให้ผู้ใดละหมาดฟัรฎูนอกเหนือเวลาเหล่านั้น นอกจากมีข้ออนุโลมผ่อนผันทางบัญญัติศาสนาเท่านั้น”
สิ่งที่บ่งชี้ว่า การละหมาดมีเวลาเจาะจงแน่นอน และจำเป็นจะต้องละหมาดในเวลาของมันโดยไม่ล่าช้าและไม่ทำก่อนเวลา คือ การที่วาญิบของการละหมาดในเวลาจะไม่ตกไป แม้ในเวลาหวาดกลัวก็ตาม แท้จริงอัลลอฮฺ ได้ทรงบัญญัติให้มุสลิมละหมาดในเวลาของมัน แม้ในยามหวาดกลัวหรือเผชิญหน้าศัตรูในสงคราม พระองค์ตรัสว่า
“พวกเจ้าจงรักษาการละหมาดทั้งหลายไว้ และละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง (ละหมาดอัศรฺ) และจงยืนละหมาดเพื่ออัลลอฮฺอย่างนอบน้อม
** หากพวกเจ้าหวาดกลัว ก็จงละหมาดพลางเดินหรือขี่พาหนะ...”
(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 238-239)
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ก็ได้สั่งใช้ให้ละหมาดในเวลาที่ถูกกำหนดไว้ ท่านกล่าวไว้ในฮะดีษที่รายงานจากอบีซัร ว่า
“จงทำละหมาดในเวลาของมัน”
(บันทึกโดย มุสลิม)
ดังนั้น จำเป็นสำหรับมุสลิมที่ต้องละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ในเวลาที่ถูกกำหนดไว้ และการละหมาดล่าช้าจนกระทั่งเลยเวลา โดยไม่มีอุปสรรคที่ได้รับการอนุโลมผ่อนผันทางศาสนา ถือเป็นบาปใหญ่ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางท่านให้ฮุก่มว่าเป็นการละทิ้งละหมาด ดังนั้น ผู้ละหมาดเลยเวลาก็คือผู้ละทิ้งละหมาด
พึงระวัง การละหมาดล่าช้าเลยเวลา อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“ดังนั้น ความวิบัติจงมีแด่บรรดาผู้ที่ละหมาด ** ผู้ซึ่งพวกเขาละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา”
(อัลมาอูน 107 : 4-5)
อัลกุรฏุบีย์กล่าวในตัฟซีรว่า อิบนุอับบาสกล่าวว่า “คือบรรดาผู้ที่ละหมาดล่าช้าจากเวลาของมัน”
มารยาทในการละหมาด
1. บริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และผู้ที่โอ้อวดในการละหมาดนั้นเป็นลักษณะของมุนาฟิก อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“...พวกเขาทำให้ผู้คนเห็น และพวกเขาไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
(อันนิซาอฺ 4 : 142)
2. กระชับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ปิติยินดี มีความสุขในการละหมาด แท้จริงการขี้เกียจ เกียจคร้าน ในการละหมาด เป็นลักษณะของมุนาฟิก อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“...และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้าน...”
(อันนิซาอฺ 4 : 142)
3. เตรียมพร้อม เตรียมตัวในการละหมาด เช่น ใส่เสื้อผ้าที่ดี สะอาด, ละหมาดซุนนะฮฺก่อนฟัรฎู (ถ้ามี), ออกห่างจากสิ่งที่ทำให้ขาดสมาธิหรือไขว้เขว เช่น ขณะที่อาหารถูกยกมาเพื่อรับประทาน ร้อนจัด หนาวจัด
4. ละหมาดญะมาอะฮฺสำหรับผู้ชาย เพราะการละหมาดญะมาอะฮฺสำหรับผู้ชายนั้นเป็นวาญิบ และจากหลักฐานที่บ่งถึงการเป็นวาญิบ คือ เรื่องของชายตาบอดผู้หนึ่งที่ขอผ่อนผันจากท่านนบี เรื่องการละหมาดญะมาอะฮฺ เนื่องจากบ้านของเขาอยู่ไกล และไม่มีใคราเขามาละหมาด
เมื่อท่านนบี ถามเขาว่า "ท่านได้ยินเสียงเรียก (อะซาน) ไหม ? "
เขาตอบว่า “ได้ยินครับ”
ท่านนบี จึงบอกเขาว่า “ดังนั้นมันเป็นวาญิบ”
(บันทึกโดย มุสลิม)
จากฮะดีษความตั้งใจของท่านนบี ที่จะนำฟืนไฟไปเผาบ้านของบรรดาผู้ไม่มาละหมาด ญะมาอะฮฺ แต่ท่านมิได้ทำสิ่งนั้น เนื่องจากเป็นการปกปักรักษาสตรีและเด็กของพวกเขา (การที่ท่านนบี มีความตั้งใจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ ได้กระทำในสิ่งที่เป็นบาปใหญ่)
และสิ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการละหมาดญะมาอะฮฺ คือ การเป็นวาญิบของละหมาดญะมาอะฮฺจะไม่ตกไป ไม่ว่าสถานการณ์ใด หรือกรณีใดทั้งสิ้น แม้ในยามหวาดกลัว หรือในยามสู้รบสงคราม การละหมาดญะมาอะฮฺก็ยังเป็นวาญิบเสมอ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“และเมื่อเจ้าอยู่ในหมู่พวกเขา แล้วเจ้าได้ให้มีกากรปฏิบัติละหมาดขึ้นแก่พวกเขา ดังนั้น กลุ่มหนึ่งจากพวกเจ้า ก็จงยืนละหมาดร่วมกับเจ้า และถืออาวุธของพวกเขาไว้ด้วย ครั้นเมื่อพวกเขาสุญูดแล้ว พวกเขาก็จงถอยไปอยู่เบื้องหลังของพวกเจ้า และอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมิได้ละหมาดก็จงมา และจงละหมาดร่วมกับเจ้า
และให้พวกเขาระมัดระวัง และจับอาวุธของพวกเขา บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น หากว่าพวกเจ้าละเลยอาวุธของพวกเจ้าและสัมภาระของพวกเจ้าแล้ว พวกเขาก็จะจู่โจมพวกเจ้าอย่างรวดเร็ว และไม่มีบาปใด ๆ แก่พวกเจ้าหากว่าพวกเจ้ามีความเดือดร้อน เนื่องจากฝนตกหรือพวกเจ้าป่วย ในการที่พวกเจ้าจะวางอาวุธของพวกเจ้าและพวกเจ้าพึงระมัดระวังเถิด แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงเตรียมการลงโทษอันน่าอัปยศแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”
(อันนิซาอฺ 4 : 102)
คำบัญชานี้ฝังรากอยู่ในจิตสำนึกของเหล่าศอฮาบะฮฺ กระทั่งพวกเขาถือว่า ผู้ที่ไม่ละหมาด ญะมาอะฮฺนั้นเป็นมุนาฟิก บางคนในพวกเขาพยายามมาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺถึงแม้จะเจ็บป่วยก็ตาม ดังมีฮะดีษรายงานจากอิบนุมัสอูด ว่า ท่านนบี กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ปรารถนาจะพบอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺในสภาพที่เป็นมุสลิม เขาต้องรักษาละหมาดเหล่านี้ (ละหมาดฟัรฎูร่วมกัน) เมื่อเสียงเรียกไปยังละหมาดได้ถูกประกาศขึ้น แท้จริงอัลลอฮฺได้บัญญัติทางนำแก่นบี ของพวกท่าน และการละหมาดญะมาอะฮฺ ก็เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางนั้น ซึ่งหากพวกท่านละหมาดกันในบ้านเรือนของพวกท่านกันหมดเหมือนกับชายผู้ไม่มาละหมาดผู้นี้ ก็เท่ากับว่าพวกท่านได้ละทิ้งแนวทางของนบีไปแล้ว
ผู้ใดก็ตามที่อาบน้ำละหมาดอย่างดี แล้วมุ่งหน้าไปยังมัสยิด อัลลอฮฺจะให้ผลบุญแก่เขาในทุกย่างก้าวที่เขาย่ำไป และจะยกระดับเกียรติของเขารวมถึงจะลบล้างความผิดแก่เขาอีกด้วย พวกเราจะเห็นว่าผู้ที่ไม่มาละหมาดญะมาอะฮฺ คือ มุนาฟิกอย่างเห็นได้ชัด แท้จริงในสมัยของเรา ผู้ชายคนหนึ่งถึงแม้ว่าเขาจะป่วย ก็ยังมีผู้ช่วยพยุงเขามาจนถึงแถวละหมาดเลย”
(บันทึกโดย มุสลิม)
5. ปฏิบัติตามซุนนะฮฺ แนวทางของท่านนบี ในการทำละหมาดทั้งถ้อยคำและการกระทำ จนกระทั่งได้ชื่อว่าปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี อย่างครบครัน ดังคำกล่าวของท่านนบี ว่า
“พวกท่านจงละหมาด เสมือนดังที่เห็นฉันละหมาด”
(บันทึกโดย อัลบุคอรี)
6. มีคุชัวะอฺ (นอบน้อมสงบนิ่ง) และมีใจจดจ่อต่อการละหมาด นี่คือมารยาทอันใหญ่ยิ่ง และแท้จริงสิ่งนี้คือหัวใจ และวิญญาณของการละหมาด ที่ซึ่งทำให้การละหมาดบรรลุวัตถุประสงค์ โดยการมีตักวา มีมารยาทที่ดีงาม ออกห่างจากมารยาททรามและทุก ๆ ความชั่ว ความผิด การฝ่าฝืน และผลบุญของการละหมาดนั้นจะได้เท่า ๆ กับการมีคุชัวะอฺ และการใจจดจ่อที่มีในละหมาด อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว ** บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา”
(อัลมุอฺมินูน 23 : 1-2)
ฮะดีษที่รายงานจากอัมมาร บิน ยาซิร ว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“บุคคลหนึ่งได้เสร็จสิ้นจากการละหมาดของเขาในขณะที่เขาไม่ได้ถูกบันทึกความดีงาม นอกจากเพียงหนึ่งส่วนสิบของการละหมาด
หรือหนึ่งส่วนเก้า หนึ่งส่วนแปด หนึ่งส่วนเจ็ด หนึ่งส่วนหก หนึ่งส่วนห้า หนึ่งส่วนสี่ หนึ่งส่วนสาม หรือครึ่งหนึ่งของมันเท่านั้น”
(บันทึกโดยอบูดาวุด อัฏเฏาะบะรอนีย์ และอัฏเฏาะฮาวีย์)
และคุชัวะอฺนั้นเป็นสิ่งแรกที่จะสูญหายไปจากศาสนา ดังมีรายงานจากอบูดัรดาอฺ ว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“ประการแรกที่ถูกยกออกไปจากประชาชาตินี้ คือ การคุชัวะอฺ จนกระทั่งท่านจะไม่พบผู้ที่คุชัวะอฺในหมู่พวกเขา”
(อัลฮัยษะมีย์กล่าวในมัจญฺมัวะอฺ อัลฟะวาอิด ว่า สายรายงานฮะซัน)
อุบาดะฮฺ บิน อัศซอมิต กล่าวไว้ความว่า
“ใกล้เหลือเกินแล้ว ที่ท่านจะเข้าไปในมัสยิด แล้วท่านจะไม่พบผู้ใดมีคุชัวะอฺเลย”
การคุชัวะอฺที่แท้จริงนั้น ต้องมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ
1. ส่วนแรกจากภายนอก (ร่างกาย) คือ การสงบนิ่งของอวัยวะร่างกาย การนอบน้อมมีสมาธิ และการไม่สอดส่ายสายตา ไม่เลิ่กลั่กหลุกหลิก
2. ส่วนที่สองจากภายใน (หัวใจ) คือ การมีจิตใจจดจ่ออยู่กับการละหมาด โดยระลึกและใคร่ครวญในทุก ๆ คำพูดและการกระทำในละหมาด เพื่อให้ละหมาดยังประโยชน์แก่เขาทั้งดุนยาและ อาคิเราะฮฺ
สาเหตุและสิ่งเกื้อหนุนให้มีคุชัวะอฺในละหมาด
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในหนทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางของเราให้แก่พวกเขา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้กระทำความดี”
(อัลอังกะบูต 29 : 69)
1. เตรียมตัวอย่างดีที่สุด เตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยการอาบน้ำละหมาดอย่างดี สวมเสื้อผ้าที่ดี สะอาดและเลือกสถานที่ที่เหมาะสม
2. ตระหนักอยู่เสมอว่า ยืนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของอัลลอฮฺ และกำลังวิงวอนขอต่อพระองค์อยู่
3. พยายามมีใจจดจ่ออยู่กับการละหมาดตลอดเวลา
4. ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากชัยฏอนมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง
5. พิจารณาและใคร่ครวญในถ้อยคำที่อ่านจากอัลกุรอานและซิกรฺ
6. คิดและจดจ่อยอู่กับอิริยาบถของการละหมาด อิริยาบถเหล่านี้แสดงออกถึงการนอบน้อมถ่อมตน ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ
7. อ่านอัลกุรอ่านอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ ชัดถ้อยชัดคำ และอ่านด้วยเสียงไพเราะ น่าฟัง
ที่มา วารสารอัลอิศลาห์ สมาคม