คำสั่งเสียในเรื่องการละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  4979

คำสั่งเสียของท่านนบี คำสั่งเสียที่ 1 

 

โดย... อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ อัลฮาจญ์ 
 

 ซอลิหฺ บิน อับดุรเราะหฺมาน อัลหุซอยน์


 

คำสั่งเสียในเรื่องการละหมาด

 

     1. ฮะดีษที่บันทึกโดยอิมามอะหฺมัดในมุสนัดของท่าน จากรายงานของอุมมุซะละมะฮฺ และบันทึกโดยอัลฮากิมและอิบนุฮิบบาน จากรายงานของอะนัส กล่าวว่า คำสั่งเสียสุดท้ายของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นลม ว่า
 

“จง (ดำรง) ละหมาด จง (ดำรง) ละหมาด และจงยำเกรงอัลลอฮฺ ในสิ่งที่พวกท่านครองครอง”

 

     2. ฮะดีษที่บันทึกโดย อบูดาวุด อะหฺมัด และอิบนุมาญะฮฺ จากรายงานของท่านอะลี กล่าวว่า คำพูดสุดท้ายของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  คือ

“จง (ดำรง) ละหมาด จง (ดำรง) ละหมาด และ (ดูแล) สิ่งที่พวกท่านครองครอง”

     3. ฮะดีษบันทึกโดย อะหฺมัด อัตติรมีซีย์ อัลฮากิม และอิบนุฮิบบาน จากรายงานของอบูอุมามะฮฺ อัลบาฮิลีย์ กล่าวว่า ฉันได้ยิน ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวในวันฮัจญ์อำลา ว่า

“จงเคารพภักดีพระเจ้าของพวกท่าน จงละหมาด 5 เวลาของพวกท่าน จงถือศีลอดในเดือนของ พวกท่าน (รอมฏอน)

จงชำระซะกาตทรัพย์สินของพวกท่าน และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำของพวกท่าน แล้วพวกท่านจะได้เข้าสวรรค์ของพระเจ้าของพวกท่าน”


สถานะของการละหมาด

            การละหมาด คือ เสาหลักของศาสนา เป็นรุก่นหรือองค์ประกอบที่ 2 ของอัลอิสลามรองจากการกล่าวกะลิมะฮฺชะฮาดะฮฺ ซึ่งถือเป็นรุก่นอิสลาม ในด้านการปฏิบัติที่สำคัญที่สุด และยังเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมอันชัดเจนของศาสนาอิสลามอีกด้วย

อิมามอัสซะรอคซีย์ อัลฮะนะฟีย์ กล่าวว่า “เพราะว่าการละหมาดนั้นเป็นรุก่นที่ใหญ่หลวงที่สุดรองจากการอีมานต่ออัลลอฮฺ

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“แล้วหากพวกเขาสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด....” 

(อัตเตาบะฮฺ 9 : 11)

และท่านนบี  กล่าวว่า

“การละหมาด คือ เสาหลักของศาสนา”

        ดังนั้น ผู้ใดที่ต้องการสร้างเต็นท์ เขาก็จะเริ่มต้นสร้างจากเสาก่อนและการละหมาดนั้นเป็นเครื่องหมายของศาสนาที่สูงส่งยิ่ง "ไม่มีชะรีอะฮฺใดของบรรดาร่อซูลุลลอฮฺ  ปราศจากการละหมาด” และท่านก็ได้กล่าวต่อไปว่า “ฉันได้ยินเชคของเรา อิมามาอัลฮะละวานีย์กล่าวตัฟซีรอายะฮฺ ฏอฮา 20 : 11

“...และจงละหมาดเพื่อรำลึกถึงข้า” 

หมายความว่า “เพราะว่าข้าได้กล่าวถึงมันไว้ในทุก ๆ คัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาบนลิ้นของนบีที่ ถูกส่งมาทุกท่าน”

         และสิ่งที่บ่งชี้ว่า การละหมาดมีสถานะสูงส่งยิ่งใหญ่ในอิสลาม ก็คือวาญิบของการละหมาดจะไม่ตกไปจากมุสลิมคนใดทั้งสิ้น ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นอกจากว่ามุสลิมผู้นั้นไม่อยู่ในภาคบังคับทางบัญญัติศาสนาด้วยการเสียสติสัมปชัญญะ หรือมีประจำเดือน หรือเลือดหลังคลอดบุตร เป็นต้น อีกทั้งการละหมาดยังเป็นวายิบสำหรับผู้เจ็บป่วยตามสภาพของแต่ละคน ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวแก่ อิมรอน บิน ฮุซอยน์ ว่า

“จงละหมาดในท่ายืน หากท่านไม่สามารถ ก็จงละหมาดในท่านั่ง หากท่านไม่สามารถ ก็จงละหมาดในท่านอนคะแคง” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรี)


ดังที่การละหมาดนั้น เป็นวาญิบต่อผู้ปลอดภัยและผู้หวาดกลัว อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“หากพวกเจ้าหวาดกลัว ก็จงละหมาดพลางเดิน หรือขี่พาหนะ....” 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 239)

         คือ จงละหมาดในสภาพที่พวกท่านสามารถทำได้ แม้นขณะต่อสู้หรือโจมตีในสมรภูมิรบ วาญิบของการละหมาดในเวลาก็มิอาจตกไป ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องละหมาดในเวลา แม้ว่าสถานการณ์ทำให้ต้องเดิน หรือเคลื่อนไหว หรือขว้างอาวุธใส่ศัตรูก็ตาม และในการละหมาดนั้น เป็นความปิติยินดีของผู้เป็นที่รัก เป็นการผ่อนคลายของปวงบ่าวของ อัลลอฮฺ ผู้มีความบริสุทธิ์ใจเป็นการช่วยเหลือต่อบรรดามิตรสหายของอัลลอฮฺ บรรดาผู้ยำเกรงพระองค์

“และจงขอความช่วยเหลือ ด้วยการอดทนและการละหมาด แน่นอนการละหมาดนั้นเป็นภาระหนักหน่วง เว้นแต่สำหรับบรรดาผู้นอบน้อมถ่อมตน” 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 45)

          แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ในปัจจุบันนี้ประชาชาติอิสลามมีความบกพร่องในเรื่องการละหมาดอย่างเห็นได้ชัด ถ้ามองอย่างมีใจเป็นธรรม ก็จะรู้สึกโศกเศร้าเสียใจต่อสภาพที่ประสบกับอิบาดะฮฺสำคัญยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งก็มีบางคนทิ้งละหมาดไปเลย หรือบางคนก็ละเลยเพิกเฉยที่จะทำละหมาดเป็นกิจวัตร  ละหมาดบ้างไม่ละหมาดบ้าง บางคนบกพร่องในเงื่อนไขของการละหมาด ละหมาดแบบไม่สมบูรณ์ขาดคุชัวะอฺ หรือละหมาดล่าช้าจนล่วงเลยเวลาไปก็มีให้เป็นเป็นจำนวนมาก

          ถ้าหากว่า บรรดามุสลิมปฏิบัติละหมาดอย่างสุดความสามารถ และลุกขึ้นละหมาดในสภาพอย่างดีที่สุดแล้วละก็ เมื่อนั้นการละหมาดก็จะเป็นสิ่งขัดเกลาแก้ไขสภาพของพวกเขา และจะทำให้มีความประพฤติเที่ยงตรงอยู่ในขอบเขตศาสนา ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“และจงดำรงการละหมาด แน่นอน การละหมาดจะยับยั้งจากเรื่องเสื่อมเสียและสิ่งชั่วช้า

และการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นยิ่งใหญ่ที่สุด และอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” 

(อัลอังกะบูต 29 : 45)

 

         จะเห็นว่าในความเป็นจริง มีผู้ทำละหมาด แต่ทว่าการละหมาดนั้นไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความประพฤติของเขาเลย อันเนื่องมาจากเขาทำละหมาดแต่เพียงภายนอก เพียงแค่เคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น โดยปราศจากความจริงใจภายใน ขาดคุชัวะอฺ ดังนั้น การละหมาดสำหรับเขา จึงไม่เป็นสิ่งช่วยชำระร่างกายจิตใจให้บริสุทธิ์ และแก้ไขขัดเกลามารยาท พฤติกรรมและความประพฤติของเขา


         เนื่องด้วยความสำคัญของการละหมาดเช่นนี้ ท่านนบี  จึงกำชับในเรื่องนี้อย่างมาก ถึงขั้นสั่งเสียไว้ในวาระสุดท้ายของชีวิตท่านก่อนที่ท่านจะหมดลมหายใจ

 

ที่มา วารสารอัลอิศลาห์ สมาคม