“ผู้รู้” จริง? หรือ ลวง ?
โดย…. อ.อินยาส วารี
คำถาม :
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า ผู้รู้ หรือ อาจารย์ ของเรา เป็น “ผู้รู้จริง” หรือ “ผู้รู้ลวง”?
คำตอบ :
ประเด็นนี้สำคัญมาก เนื่องจาก การจะเรียนรู้ “วิธีการดำเนินชีวิตในฐานะมุสลิมเพื่อให้อัลลอฮ์ พอใจ” โดยเริ่มจาก “ศูนย์” นั้น เป็นไปไม่ได้ ที่เราจะเรียนรู้โดยไม่ผ่านการชี้แนะที่ถูกต้องเป็นเหตุเป็นผลจากอาจารย์ เปรียบเสมือนจะผ่าตัดหัวใจ หากจะลองผิดลองถูกเอง คนไข้คงตายไปหลายร้อยราย
เช่นเดียวกับการที่จะเข้าใจ อัลกุรอาน และอัลฮะดิษ ต้องผ่านมาตามที่นบี และศอฮาบะฮฺเข้าใจ ท่านนบี ได้รับการสอนสั่งจากอัลลอฮฺ บรรดาศอฮาบะฮฺได้รับการสอนสั่งจากท่านนบี และตาบิอฺ (รุ่นที่ตามศอฮาบะฮฺมา) ได้รับการสอนสั่งจากศอฮาบะฮฺ เป็นเช่นนี้ต่อมาเรื่อยๆ
แต่เมื่อมีคนรัก ย่อมมีคนชัง คนที่เกลียดอิสลามก็มีมาก คนที่อยากหาผลประโยชน์จากศาสนาก็มีมาก (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะพบเจอได้แทบจะทุกศาสานา) และคนที่อยากให้ศาสนามีรูปแบบเป็นตามความต้องการของกลุ่มตนก็หาได้ไม่ยาก เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีทั้ง ผู้รู้ที่สอนสั่งสัจธรรมเพื่ออัลลอฮฺ และ ผู้รู้จอมปลอมที่สอนสั่งเพื่อพวกพ้อง และตนเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรจาก ชาวคัมภีร์ก่อนหน้า ที่อัลลอฮ์ ดำรัสไว้ความว่า
وَمَا تَفَرَّقَ الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ إِلَّا مِن بَعْدِ مَا جَاءتْهُمُ الْبَيِّنَةُ
“และบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ (อะฮฺลุลกิตาบ) มิได้แตกแยกกัน
เว้นแต่หลังจากที่ได้มีหลักฐานอันชัดแจ้งมายังพวกเขาแล้ว”
หมายความว่า การแตกแยกของกลุ่มชาวคัมภีร์ เกิดภายหลังจากที่พวกเขาได้รับความจริงแล้วซึ่งก่อนที่สัจธรรมจะมา ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมด ไม่รู้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก สิ่งที่ทำไปจึงทำไปโดยที่ไม่รู้เหมือนๆ กัน แต่เมื่อความถูกต้องมาถึง จึงเริ่มเกิดการแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มที่ยอมรับและปฏิบัติตามสัจจะธรรมความเป็นจริง และกลุ่มที่ตะแบงไม่ยอมรับสัจจะธรรมความจริง และกลุ่มที่หลอกลวงด้วยความเท็จและพยายามบิดเบือนสัจจะธรรมความจริง มนุษย์นั้น “ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะยอมรับสัจธรรม ถึงแม้เขาจะเชื่อว่ามันถูกต้องก็ตาม”
อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า
ومنهم من يستمع اليك وجعلنا على قلوبهم أكنة أن يفقهوه وفي أذانهم وقرا وان يروا كل اية لا يؤمنوا بها حتى اذا جاؤوك يجادلونك يقول الذين كفروا إن هذا الا اساطير الاولين الأنعام 25
"และในหมู่พวกเขานั้น มีผู้ที่สดับฟังเจ้าอยู่บ้าง แต่เราได้ให้มีสิ่งปิดกั้นหัวใจของพวกเขา
ไม่ให้พวกเขาเข้าใจอัลกุรอาน และได้ให้ในหูของพวกเขามีความหนวกอยู่ด้วย
และหากพวกเขาเห็นสัญญาณทุกอย่าง พวกเขาก็จะไม่ศรัทธา
ต่อให้พวกเขามาหาเจ้า พวกเขาก็จะยังคงโต้เถียงกับเจ้า
บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นจะกล่าวว่า
นี่ มิใช่อะไรอื่น นอกจากบรรดาสิ่งขีดเขียนอันไร้สาระของคนรุ่นก่อน ๆ(นิยายโบราณ)"
สารพัดเหตุผลที่จะนำมาอ้างในการไม่ยอมรับสัจธรรม ตัวอย่างเช่น
ด้วยความยะโสโอหัง และคำว่า “ฉันดีกว่า” จึงทำให้ อิบลีส ไม่ยอมรับสัจธรรม ทั้งที่รู้ดีกว่าใคร !?
"อบูฏอลิบ" ลุงของท่านนบี ไม่ยอมรับอิสลาม จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายมาถึง
“หากที่ฉันทำมันผิด เท่ากับพ่อแม่ฉันผิด แล้วท่านต้องลงนรกเหรอ?”
“ฉันทำของฉันมาตั้งนาน ทำไมต้องเปลี่ยน” “เรื่องอะไรจะให้เด็กมาถอนหงอก” “เมื่อผู้รู้ของฉันไม่ยอมรับ ฉันก็ไม่ยอม”
หากอยากสังเกต ว่าใครรู้จริง ใครหลอกลวง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เท่าที่คิดว่าพอจะสังเกตได้ ลองใช้วิธีเดียวกับที่เราตรวจสอบคนลวงโลกทั้งหลายดู หนึ่งในนั้นให้ลองสังเกตุดูว่า เวลาที่ใครจะโกงเรา เขาจะสร้างความน่าเชื่อถือ จะมาในรูปลักษณ์ที่ดูดีที่สุด จะชอบสร้างภาพ ชอบเน้นจิตวิทยาหมู่ และจะเน้นในเรื่องของการปลุกเร้า “อารมณ์” ปลุกอารมณ์เศร้า ปลุกอารมณ์โกรธ ปลุกอารมณ์หลง หลักฐานจะถูกใช้เพื่อให้ดูดี แต่เมื่อถึงเวลา “เขาจะใช้ความคิดมาหักล้างความถูกต้องที่ชัดเจน” และที่สำคัญเขาจะเน้นให้ยึดติดที่ตัวบุคคล หากเขาไม่พูดตรงๆ เขาก็จะเห็นชอบกับการยึดติดที่ตัวบุคคล มากกว่า “ตัวบทที่มาจากอัลลอฮฺ และร่อซูล ” และจะพยายามไม่ให้ใช้ความคิดกว้างๆ จะให้ใช้แค่ในมุมที่เขาต้องการ และจะมอมเมาไม่ให้ใช้ความคิดในด้านที่จะขัดกับเขา และใช้การสร้างอารมณ์เพื่อไม่ให้แปลตามตัวบทที่ชัดเจน
ฉะนั้น การจำแนก ความจริง กับ ความลวง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก สรุปคือ “ต้องมีสติ”เพราะการหลอกลวงมีเต็มไปหมดรอบตัวเรา และคนเป็นจำนวนไม่น้อยก็ถูกหลอกลวงโดยไม่รู้ตัว การเป็นมุสลิมจึงต้องระวังเรื่อง การใช้อารมณ์ กับ ความถูกต้อง
และมีผู้สอนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งใจจะหลอกลวง เพียงแต่ผู้สอนคนนั้น หรือกลุ่มนั้นเข้าใจผิดว่า สิ่งที่เขายึดมั่นมันถูกต้องแล้ว โดยไม่มีความรู้ หรือและแม้แต่ในกลุ่มผู้รู้แห่งสัจธรรม ก็ใช่ว่าทุกคนจะถูกต้องทุกเรื่องเช่นกัน
อัลลอฮ์ เท่านั้นที่รู้ดีที่สุด